ดิจิตอลเขย่าสาขาแบงก์! 1 ปี ปิดแล้ว 301 สาขา

01 มิ.ย. 2561 | 09:14 น.
010661-1545 bank_1084815

ธนาคารพาณิชย์ยังปิดสาขาต่อเนื่อง ปรับสาขาตามพฤติกรรมลูกค้า ... 'กสิกรไทย' ยืนยัน เห็นสาขาต่ำกว่า 1 พันแห่ง ชี้! ทยอยลดตามการใช้บริการของผู้บริโภค ส่วน 'ธนชาต-กรุงศรีฯ' ชี้! แนวโน้มหันไปช่องทางออนไลน์มากขึ้น


Screen Shot 2561-06-01 at 15.49.22

กระแสดิจิตอลยังเขย่าแบงก์ต่อเนื่อง "ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจกระแสการปิดสาขาลดพนักงานของธนาคารพาณิชย์ พบว่า ช่วง 1 ปี 3 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารปิดสาขารวม 301 แห่ง เฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ จำนวนสาขาลดลงถึง 193 สาขา โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานสิ้นเดือน เม.ย. 2561 พบว่า ธนาคารทยอยปิดสาขาอีก 193 แห่ง นำโดย ค่ายไทยพาณิชย์ปิดไป 73 สาขา , กสิกรไทย 50 สาขา , ธนชาต 42 สาขา แต่ค่ายน้องเล็กกลับสวนกระแส อย่าง ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย เพิ่ม 65 สาขา , ทิสโก้ 4 สาขา และไอซีบีซี 1 สาขา


MP24-3370-A


นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวโน้มสาขาของธนาคารปีนี้จะปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบพฤติกรรมของลูกค้าและผู้บริโภค เช่นเดียวกับการจ่ายบิลชำระค่าสินค้า หากปริมาณการทำธุรกรรมบนสาขามีน้อยลง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกการให้บริการ แต่สิ่งเหล่านี้ พฤติกรรมลูกค้าจะเป็นผู้กำหนด เช่น สาขา หากเปิดไว้และไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการก็ต้องปิดลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม ปีนี้คาดว่าจะเห็นสาขาปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 1,000 สาขา จากปัจจุบัน ที่มีจำนวนสาขาสูงกว่า 1,000 สาขาเล็กน้อย

 

[caption id="attachment_285702" align="aligncenter" width="336"] Teeranuch ธีรนุช ขุมทรัพย์[/caption]

นางธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจลูกค้ารายย่อย บมจ.ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่า เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากสาขา Physical ไปสู่สาขาดิจิตอลในรูปแบบโมบายแบงกิ้ง ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านจะยังคงให้ความสำคัญกับช่องทางการให้บริการทั้ง 2 ช่องทาง เนื่องจากยังคงมีลูกค้าบางกลุ่มที่ยังคุ้นเคยการเดินเข้าสาขาปกติ และก็มีบางส่วนที่ทำธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้ง ทำให้ภายในปีนี้ น่าจะเห็นการปรับลดสาขาของธนาคารไม่ถึง 10 สาขา แต่จะเน้นการปรับเปลี่ยนหรือโยกย้ายพื้นที่แทน เพราะธนาคารได้ปรับลดสาขาค่อนข้างมากแล้วในปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมองว่า สาขาในระดับปัจจุบันเป็นระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าแล้ว

ขณะที่ การทำธุรกรรมการเงิน ธนาคารยังคงมีช่องทางให้ลูกค้าสามารถเลือกทำได้ ทั้งในส่วนของสาขาธนาคาร หรือ Physical และช่องทาง Digital โดยลูกค้าสามารถทำธุรกรรมผ่านทุกช่องทางที่มี อย่างไรก็ดี แนวโน้มการทำธุรกรรมผ่านสาขาธนาคารเริ่มลดลงและไปทำธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้ง โดยภายในสิ้นปี คาดว่าจะมีลูกค้าโมบายแบงกิ้งเพิ่มเป็น 1 ล้านราย จากปัจจุบัน อยู่ที่ 8 แสนราย


MP24-3347-2A-1

"เรายังคงให้บริการลูกค้าทั้ง 2 แบบ เพราะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่อยากมาสาขาอยู่และลูกค้าส่วนหนึ่งที่ชอบทำบนมือถือ เราก็ยังจำเป็นต้องมีทั้งสาขาและออนไลน์ทั้ง 2 รูปแบบ ให้ลูกค้าค่อย ๆ ปรับตัว แต่ก็ยอมรับว่า การทำธุรกรรมที่สาขาปรับลดลงบ้าง แต่จำนวนสาขา เรามองว่า อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว เพราะปีก่อน เราลดลงมาค่อนข้างเยอะแล้ว ปีนี้จะเห็นการย้ายโลเกชันหรือพื้นที่ตั้งเท่านั้น"

 

[caption id="attachment_286377" align="aligncenter" width="378"] พงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา พงษ์อนันต์ ธณัติไตร
ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา[/caption]

ด้าน นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยายังมีนโยบายเปิดสาขาในปีนี้ทั้งปี มีจำนวน 670 สาขา จากปัจจุบันอยู่ที่ 664 สาขา ซึ่งเดือนนี้เพิ่งเปิดสาขายใน บิ๊กซี สัตหีบ ซึ่งทั้งปียังทยอยเปิดสาขาอีก 22 แห่ง โดยเฉพาะสาขาบนห้างสรรพสินค้า และย้ำว่า การลดพนักงานไม่ใช่เป้าหมายของธนาคารกรุงศรีอยุธยา

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มทั้งพฤติกรรมของลูกค้า พัฒนาการก้าวหน้าของเทคโนโลยี ประกอบกับ ธปท. ที่มีนโยบายสนับสนุนให้ธนาคารมีทางเลือกสำหรับเปิดให้บริการช่องทางใหม่ เช่น ตัวแทนสาขาของธนาคาร หรือ แบงกิ้ง เอเยนต์ โดยธนาคารกำลังพิจารณาช่องทางดังกล่าวเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่ยังคงมี บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เพียงรายเดียวเป็นแบงกิ้งเอเยนต์


download

สำหรับทิศทางอนาคตทุกธนาคารจะมีการเสนอบริการบนออนไลน์มากขึ้น ซึ่งผลตอบรับจากแอพพลิเคชัน 'กรุงศรี ไอฟิน' มีลูกค้าสมัครสินเชื่อเอง ต่อไปธนาคารจะเสนอบริการด้านกองทุนมากขึ้น น่าจะเห็นภายในปีนี้ รวมถึงบริการด้านอื่น ๆ นอกจากนี้ เม่ือระบบ e-KYC สามารถให้บริการได้ จะเห็นผู้บริโภคหรือลูกค้าหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ ดิจิตอลแบงก์ มากขึ้น แต่ยอมรับว่า ในส่วนของสาขาธนาคารยังมีให้บริการ เพื่อสนับสนุนช่องทางให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินและเข้าถึงบริการของธนาคารได้


……………….
เซกชัน : การเงิน โดย ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,370 วันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. 2561 หน้า 24+23

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เวิลด์แบงก์แนะไทย ‘วิ่งมาราธอน’ยกระดับขีดแข่งขัน
‘เวิลด์แบงก์’ประเมินผลคดีล้มละลาย



e-book-1-503x62-7