‘AMATA’ รุกให้เช่า ปรับโมเดลโฟกัสนิคมฯ ชลบุรี

09 มิ.ย. 2561 | 08:12 น.
AMATA ปรับแพลตฟอร์มธุรกิจ เน้นให้เช่าที่มากขึ้น โฟกัสนิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี 6-7 พันไร่ ยันนโยบายความเป็นแลนด์ลอดจ์ มุ่งสร้างรายได้จาก recurring income เป้าโตปีละ 10% มั่นใจกฎหมายอีอีซี ดันมาร์จินยอดขายในครึ่งปีหลัง

การประกาศใช้พ.ร.บ. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม  2561 ทำให้ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น หรือ AMATA ได้ประโยชน์เต็มๆ จากแลนด์แบงก์ที่มีมากถึง 13,634 ไร่ โดยหุ้น AMATA ปิดราคาที่  20.80 บาท เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561  ก่อนจะปรับขึ้นปิดราคา  23.10 บาท เพิ่ม 2.30 บาทหรือเพิ่ม 11.06%  เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561

[caption id="attachment_285639" align="aligncenter" width="313"] viboonA (2) วิบูลย์ กรมดิษฐ์[/caption]

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์  กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประกาศกฎหมายอีอีซี ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่า มูลค่าลงทุน 1.5 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลประกาศไว้มาแน่ และจะทยอยออกมา แต่สิ่งที่นักลงทุนยังต้องรอดูความชัดเจน คือมาตรการจูงใจ (incentive) ที่เลขาธิการอีอีซีอนุมัติจะเป็นไปตามที่รัฐเคยพูดไว้หรือไม่

“ไฮไลต์ ที่นักลงทุนต่างชาติอยากเห็นก็คือเรื่องไฮสปีดเทรน ประมาณเดือนนี้น่าจะมีคำตอบแล้วว่าทีโออาร์จะออกมาอย่างไร หากเป็นไปตามสเต็ปของรัฐบาล จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายและภาคผลิตที่จะเกิดขึ้นในนิคมอุตสาห กรรม ซึ่งมีผลมากต่อนิคมฯอมตะซิตี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ช่วย boost up ยอดขายที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง ราคาที่ดินที่นิคมฯ อมตะซิตี้ระยองและนิคมฯ อมตะซิตี้ไทย-ไชนิส หลังปรับราคาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 3.8 ล้านบาท,นิคมฯ อมตะซิตี้ชลบุรีไร่ละ 8-9 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นที่นิคมฯอมตะซิตี้ระยองอยู่ที่ 50-55%  นิคมที่ชลบุรีและเวียดนาม อยู่ที่ 70%”

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ในนิคมอุตสาหกรรมปีนี้ 925 ไร่ (ตารางประกอบ) มียอดขายในไตรมาสแรก 107 ไร่  มูลค่า 525 ล้านบาท ซึ่งยอดขายที่ส่วนใหญ่จะเข้ามาในครึ่งปีหลัง และได้ตั้งงบลงทุนปีนี้ 5 พันล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อที่ดินที่อมตะซิตี้ระยองและชลบุรี 1 พันล้าน
บาท, งบก่อสร้าง 1 พันล้านบาท, งบลงทุนเพิ่มในโรงไฟฟ้าอมตะบีกริม เพาเวอร์ ระยอง  1 พันล้านบาทและอีก 2 พันล้านบาท เป็นการลงทุนซื้อที่เวียดนาม โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ใบอนุุญาตขยายเฟสที่เบียนหัวซึ่งได้จัดสรรพื้นที่แล้ว ส่วนที่ Long Thanh 7,940 ไร่ จะเริ่มทยอยขายพื้นที่ได้ในไตรมาส4 ปีนี้ MP17-3370-A

นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า แพลตฟอร์มธุรกิจบริษัทจากนี้จะมุ่งเน้นการให้เช่าที่ดินมากขึ้น โดยแลนด์แบงก์ที่เรามีกว่า 1.1 หมื่นไร่ อยู่ในนิคมฯ อมตะซิตี้ชลบุรีกว่า 7 พันไร่ เฟสใหม่โซน บีทั้งหมด จะเป็นการให้เช่าที่ ส่วนนิคมฯอมตะซิตี้ที่ระยองยังเป็นการขายที่ดิน นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะซื้อที่ดินเพิ่ม (ตามนโยบายของนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร ระบุแผนซื้อที่ดินในประเทศเพิ่ม 6 หมื่นไร่ ยังไม่รวมที่ดินในกลุ่มประเทศ CIMV)

“นโยบายของบริษัทภาพหนึ่ง  เราอยากเป็นแลนด์ลอดจ์  เราไม่อยากเป็นโบรกเกอร์ แต่จะทำได้ขนาดไหนต้องดูสภาวะของตลาดว่าจะเปิดให้เราได้มากน้อยขนาดไหน การที่กฎหมาย Leasehold (ทรัพย์อิงสิทธิ์) มีผลบังคับใช้ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อนิคมอุตสาหกรรมอมตะมากๆ ที่ดินสามารถปล่อยเช่าได้สูงสุดถึง 99 ปี (50 ปีบวก49 ปี)  และเป็นการปลดล็อกช่วยผู้ประกอบการประหยัดงบลงทุน ได้ถึง 2 ใน 3 เทียบงบลงทุนในการซื้อที่”  เขากล่าว

อย่างไรก็ดีแพลตฟอร์มธุรกิจ ที่เน้นการให้เช่าที่มากขึ้น ทำให้แนวโน้มรายได้ของบริษัท ในอนาคต จะเติบโตจากธุรกิจขายสาธารณูปโภค และให้เช่าโรงงานสำเร็จรูป (Recurring  Income) มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 50-60% ของรายได้   ตั้งเป้ารายได้ส่วนนี้เติบโตต่อปีไม่ตํ่ากว่า 10%  ซึ่งเป็นเป้าหมายของเราเพราะเป็นแหล่งรายได้ที่มีความมั่นคง และยังสามารถรักษาแลนด์แบงก์   ขณะที่สัดส่วนรายได้จากการขายที่ดินอาจไม่ถึง 40% ของรายได้

บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ จำกัด คาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน ปีนี้จะมีกำไรสุทธิ 1,919 ล้านบาท  เติบโต 36% จากสิ้นปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 1,409 ล้านบาท  โดยไตรมาส 1/2561 บริษัทมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 413 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน   แยกเป็นรายได้จากการขายที่ 525 ล้านบาท คิดเป็น 47% ของรายได้รวม และที่เหลือ 53% จาก Recurring Income อีก 602 ล้านบาท

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. 2561