สคบ. ตื่น! ดูแลผู้ใช้มือถือ โดดสอบทรูฯ "SMS ดูดเงิน"

29 พ.ค. 2561 | 14:53 น.
290561-2136 apptruemove

สคบ. พร้อมตรวจสอบ! เรียกค่าเสียหายให้ผู้ใช้บริการ 'ทรูมูฟ เอช' ที่โดน SMS ดูดเงิน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ใช้บริการ ด้าน กสทช. แนะร้องเรียนมาที่สำนักงาน หรือ ค่ายมือถือ หากตรวจสอบไม่พบต้องคืนเงิน เผย 4 เดือน ยอดร้องเรียนพุ่งกว่า 300 ราย คาดทั้งปีทะลุพันราย

แม้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ตั้งโต๊ะแถลงข่าวขอความร่วมมือกับค่ายมือถือให้ส่ง SMS (ข้อความสั้น) ขอบคุณที่ใช้บริการ ถ้าต้องการยกเลิกให้กด *137 และโทรออก แต่สุดท้ายยังมีผู้ร้องเรียนอีก


sms-marketing(1)

ล่าสุด มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของ 'ทรูมูฟ เอช' ใช้นามว่า 'Prasart Nirundornprasert' ได้แชร์ข้อมูลบนเฟซบุ๊ก โดนเรียกเก็บเงินเพิ่มจากที่ใช้ค่าบริการรายเดือน 600 บาท และได้เปลี่ยนไปใช้โปรโมชันใหม่ค่าบริการอยู่ที่ 399 บาท ใช้อินเตอร์เน็ตแต่เพียงอย่างเดียว และไม่เคยใช้โทรศัพท์ ปรากฏว่า ค่าบริการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,619 บาท 65 สตางค์ แบ่งเป็น ค่าวาไรตี เพนต์เฮาส์ และดาวน์โหลดต่าง ๆ เป็นจำนวนเงิน 1,021 บาท นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้บริการรายอื่นได้แชร์ SMS ดูดเงิน ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช้บริการ


GP-3369_180529_0011

นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า กรณีนี้เป็นภารกิจหลักของ กสทช. ซึ่ง สคบ. มีบทบาทแค่ปลายเหตุ หากมาตรการของ กสทช. ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ก็สามารถใช้อำนาจ สคบ. เรื่องเรียกร้องค่าเสียหาย และมาตรการดำเนินการข้อสัญญา และข้อตกลงต่าง ๆ

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา รักษาการกรรมการ กสทช. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ผู้ใช้บริการที่ถูกเรียกเก็บเงินในส่วนต่าง สามารถนำหลักฐานมาร้องเรียนที่สำนักงาน กสทช. หรือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หลังจากนั้นจะเริ่มตรวจสอบ โดยใช้เวลา 30-60 วัน และถ้าตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า ผู้ใช้บริการไม่ได้สมัครใช้งานผู้ให้บริการมือถือต้องคืนเงินในส่วนที่เกินกับลูกค้า


P1-info-3351

ทั้งนี้ พ.ร.บ.คลื่นความถี่ ปี 2553 กฎหมายให้อำนาจ กสทช. ไว้แล้ว โดยระบุชัดว่า ผู้ประกอบการที่ค้ากำไรเกินควร หรือ ก่อความเดือดร้อนรำคาญโดยอาศัยโครงข่าย หรือ การโฆษณาตรง ส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ แม้ไม่ได้คิดเงินก็ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคและ กสทช. เอง ก็มีประกาศออกมาว่า ถ้ายังไม่หยุดการกระทำลักษณะนี้ให้ปรับวันละไม่เกิน 1 แสนบาท

"ตามหลักกฎหมายสัญญาจะมีผล ต้องมีการเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน การคิดค่าบริการโดยอ้างว่า ส่ง SMS ไปถึงผู้บริโภคแล้ว หากผู้บริโภคไม่เคยสมัครบริการ ก็คิดค่าบริการไม่ได้ ส่วนเงินที่หักเงินไปแล้ว ต้องคืนผู้บริโภคทั้งหมด ถึงแม้ผู้บริโภคจะเผลอสมัครโดยไม่ตั้งใจ ก็สามารถยกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้"


sm

สำหรับการร้องเรียนปัญหา SMS ในปีนี้ ถือเป็นเรื่องร้องเรียนอันดับที่ 1 ของปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียน เรื่องการให้บริการของผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากเดิมในปี 2560 จากสถิติของ กสทช. พบว่า ยอดการร้องเรียนปัญหา SMS ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค. - เม.ย.) มีจำนวน 317 เรื่อง จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 852 เรื่อง

ด้าน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัทในเครือให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายใต้ชื่อ 'ทรูมูฟ เอช' กล่าวว่า หากผู้ใช้บริการถูกเรียบเก็บเงิน นอกเหนือจากการให้บริการสามารถส่งเรื่องมาที่ช็อปทรูเพื่อทำการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ คือ บริการด้านคอนเทนต์ ซึ่งทางทรูต้องตรวจสอบการใช้เงินของลูกค้าในระบบ หากไม่มีการสมัครใช้งานหรือเผลอกดเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ บริษัทจะเจรจากับคอนเทนต์โพรไวรเดอร์ในส่วนที่เก็บเงินเกินจริง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,369 วันที่ 27-30 พ.ค. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กสทช. เรียกโอเปอเรเตอร์ แจง SMS ดูดเงินผู้ใช้บริการ
พม.ผนึกกสทช.ป้องกันค้ามนุษย์แจ้งเหตุผ่านSMSและเบอร์เดียวทั่วโลก


e-book-1-503x62