ต้อนลีสซิ่งคุมดอกโหด! คลังเร่งคลอด ก.ม.คุมนายทุนโขกค่าธรรมเนียม-เบี้ยปรับ

28 พ.ค. 2561 | 06:43 น.
280561-1329 apptp14-3184-b

คลังเดินหน้าออกกฎหมาย ตั้งหน่วยงานใหม่คุมดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ สินเชื่อเช่าซื้อ บริษัทลีสซิ่งค่ายรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ยัน! เงินกู้เสาไฟฟ้า ตั้งเป้าบังคับใช้ต้นปีหน้า ... ดีลเลอร์ค่ายรถค้านดึงเข้าระบบ หวั่นกระทบยอดขาย

ผลพวงจากการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. 2561 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รับมอบหมายให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหน่วยงานและแนวทางในการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่ยังไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานใด ๆ และเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น และคาดว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้ราวต้นปี 2562


app6725294627_ffff46337b_b

คุมดอกเบี้ย-ค่าปรับ
แหล่งข่าวจาก สศค. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ประเด็นหลักที่ต้องดึงผู้ให้บริการทางการเงินที่ยังไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ว่าจะเป็น บริษัทเช่าซื้อที่เป็นบริษัทลูก หรือ บริษัทในเครือของค่ายรถยนต์ หรือ ร้านค้าห้องแถว หรือ ไฟแนนซ์ห้องแถว และร้านขายมอเตอร์ไซค์ทุกจังหวัด ต้องอยู่ภายใต้กำกับดูแลของหน่วยงานกำกับแห่งใหม่ในสังกัดกระทรวงการคลัง


มาตรฐานเดียวนอนแบงก์
นายรุ่งโรจน์ จรัสวิจิตรกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายสินเชื่อรายย่อย ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องการควบคุมใน 3 เรื่อง คือ การคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าบริการ สำหรับผู้ให้บริการกู้ยืมที่ไม่ได้อยู่ในกำกับของ ธปท. ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนกำหนดรายละเอียดและกระบวนการปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการทางการเงิน หรือ นอนแบงก์ ตั้งแต่รายเล็กจนถึงรายใหญ่


n_main_logo

"ร่าง พ.ร.บ.นี้ จะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาคุมรายย่อย เพื่อจัดระเบียบเรื่องอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าบริการ ซึ่งหน่วยงานผู้คุมกฎแห่งใหม่จะมีผู้ว่าการ ธปท. เป็นกรรมการในบอร์ดชุดนี้ด้วย ซึ่งผู้ว่าการ ธปท. จะเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจภายใต้กำกับและนอนแบงก์ เพื่อมิให้ความลักลั่นในกระบวนการและวิธีปฏิบัติ เพื่ออยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ส่วนเช่าซื้อในกลุ่มแบงก์ ตอนนี้ก็ยึดกฎของ ธปท. และ สคบ. ในทางปฏิบัติอยู่แล้ว หากจะมีผู้คุ้มกฎเพิ่มอีกหน่วยงาน ก็ไม่น่าจะมีอะไรแตกต่างจากเดิมนัก"


ปิดช่องเอาเปรียบลูกค้า
นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ ประธานบริหารกลุ่มการเงิน บริษัท Thai RentaCar กล่าวว่า ร่างกฎหมายใหม่เป็นพัฒนาการของการสร้างกติกาในการกำกับในกระบวนการปล่อยสินเชื่อ หรือ ธุรกิจเช่าซื้อ เพื่อไม่ให้ประชาชน หรือ ลูกค้า เสียเปรียบ ทั้งจากการคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับในการผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกับบริษัทเช่าซื้อ ซึ่งอยู่ภายใต้กำกับของ ธปท.


apptp14-3125-a

"ที่ผ่านมา เป็นที่รับรู้ว่า ลูกค้ารายย่อยมักถูกเอาเปรียบจากเจ้าหนี้ โดยเฉพาะประเด็นการทวงถามหนี้ ที่มีการทำร้าย จนนำไปสู่การยึดรถ จึงเป็นเรื่องดีสำหรับการสร้างกติกาสังคมให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ให้กู้ไม่เคยอยู่ในกำกับของหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐคุมเรื่องอัตราดอกเบี้ยหรือเรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าได้น้อยลง ในส่วนของภาคธุรกิจในระบบจำเป็นต้องหันมาบริหารและควบคุมต้นทุนให้ดี เพื่อที่จะลดผลกระทบจากรายได้หรือกำไรที่ปรับลดลง"


ค้านดึงลีสซิ่งเข้าระบบ
นายสุวิชา มุละสิวะ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มทู มอเตอร์สปอร์ต ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของจักรยานยนต์ไทรอัมพ์, เคทีเอ็ม, ลี่ฟาน, สตาเลียน, เอทีวีแพนเทอร์, เอ็มวี ออกุสตา, จงเซินริวก้า, โมโต กุซซี่, อาพริเลีย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เปิดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยลักษณะของการดำเนินธุรกิจมีหน่วยเช่าซื้อ หรือ ลีสซิ่ง ของตัวเอง และมีสถาบันการเงิน อาทิ กรุงศรีออโต้ มาเป็นอีกทางเลือกให้กับลูกค้า ซึ่งการเลือกใช้บริการก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าต้องการแบบไหน ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่คิดนั้นก็เท่ากัน


32939077_1659814754067083_819825354620272640_o

"สัดส่วนของลูกค้าที่ใช้ของเรา 30% ส่วนของลีสซิ่งธนาคารต่าง ๆ อีก 70% ซึ่งเงื่อนไขนอกจากความต้องการของลูกค้าแล้ว ส่วนหนึ่งเวลาเราจะปล่อยสินเชื่อ เราก็จะดูว่า ลูกค้าดาวน์เท่าไร หากดาวน์สูง เราก็จะแนะนำให้เขาเลือกลีสซิ่งของเรา เพราะเราประเมินแล้วว่า ความเสี่ยงในการเกิดหนี้ต่ำ ประกอบกับปัจจุบัน ลูกค้าต้องการออกรถง่าย ออกรถไว แต่ความรับผิดชอบค่อนข้างต่ำ อันนี้เราก็ต้องมีความระมัดระวังในการปล่อย"


หวั่นกระทบยอดขาย
นายสุวิชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีที่ภาครัฐฯ จะออกกฎหมายกำกับดูแลผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐนั้น หากถามว่าจะเกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการไหม ก็ต้องบอกว่า กระทบ แต่หากมีผลบังคับใช้ในแง่ของผู้ประกอบการก็ต้องทำตามเงื่อนไขนั้น ๆ


apptp14-3132-b

แหล่งข่าวจากตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์อีก 1 ราย กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการรายย่อยไม่เห็นด้วยแน่นอนกับกรณีที่จะออกมากำกับดูแลผู้ให้บริการสินเชื่อให้เข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ และอีกประการ คือ ตัวแทนจำหน่ายตามต่างจังหวัด บางแห่งลีสซิ่ง หรือ ไฟแนนซ์ ต่าง ๆ เข้าไปไม่ถึง เช่น 3 จังหวัดภาคใต้ ทำให้ตัวแทนจำหน่ายส่วนใหญ่ก็จะปล่อยสินเชื่อเอง หากมีการตีกรอบหรือวางเงื่อนไขออกมา อาจจะส่งผลกระทบไปยังตัวแทนจำหน่ายที่ขายรถไม่ได้ เพราะหาบริษัทที่มาปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อให้ลูกค้าไม่ได้ และตัวลูกค้าเองก็ไม่มีเงินที่ซื้อรถ ก็จะส่งผลกระทบกันเป็นลูกโซ่


GP-3369_180528_0015

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,369 วันที่ 27-30 พ.ค. 2561 หน้า 01+02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ศก.รากหญ้าฟื้น ซัมมิทลุยลีสซิ่ง
มารยาตลาดหุ้น : จาก ‘เปรมชัย’  ถึง ‘ชูชาติ’  ‘เมืองไทยลีสซิ่ง’ ความมั่งคั่งบนคราบนํ้าตา?


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว