เชื่อมรูต 'สนามบินรอง' อาเซียน! ขับเคลื่อนน่านฟ้าเสรี 10 ประเทศ

27 พ.ค. 2561 | 06:45 น.
270561-1332

… การเปิดน่านฟ้าเสรีอาเซียน เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งแม้ 10 ประเทศสมาชิก จะทำข้อตกลงร่วมกันในเรื่องนี้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังมีประเด็นในอีกหลายเรื่องที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนตลาดร่วมการบินภูมิภาคอาเซียน


2 ข้อ ถกคมนาคมอาเซียน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีคมนาคมอาเซียนในช่วงปลายปีนี้ ผมจะหยิบยก 2 ประเด็น เข้ามาร่วมหารือร่วมกัน ประเด็นแรก คือ การส่งเสริมให้เกิดการบินเชื่อมโยงระหว่างสนามบินรองด้วยกันเองในอาเซียน

 

[caption id="attachment_284870" align="aligncenter" width="503"] อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม[/caption]

ดังนั้น หากทำให้เกิดการเชื่อมโยงการบินระหว่างเมืองรองทางด้านการบินระหว่างไทยและเมืองอื่น ๆ ในอาเซียนได้ ก็จะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ไทยมีความร่วมมือในลักษณะนี้กับอินโดนีเซียและมาเลเซียแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะมีการหารือร่วมกันในกรอบอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนสนามบินรองของไทยให้เติบโต เช่น ขอนแก่น อุดรธานี กระบี่ สมุย ระนอง ชุมพร ลำปาง แม่สอด เพื่อให้สอดคล้องรับกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล

ประเด็นที่ 2 จะหารือเรื่องการตรวจผู้โดยสาร ที่เมื่อผู้โดยสารเดินทางจากจุดที่ 1 จุดที่ 2 ในอาเซียน แล้วต่อไปยังยุโรป ก็ให้สามารถเช็กอินผู้โดยสารเพียงครั้งเดียว แต่จะดำเนินการได้ สนามบินนั้น ๆ ต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)


TP11-3280-AB

นายปรีดา ยังสุขสถาพร รองผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เผยว่า การเปิดน่านฟ้าเสรี ทำให้การบินระหว่างในอาเซียนไม่มีข้อจำกัด แต่การบินจากอาเซียนออกไปยังนอกอาเซียน ยังไม่มีใครเปิดในเรื่องนี้ ซึ่งหากอาเซียนจะเป็นตลาดการบินเดียวได้ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องของนักบินและโรงเรียนการบิน ที่ยังไม่มีการเปิดเสรีในเรื่องนี้ ซึ่งก็ต้องมีการหารือร่วมกันต่อไป

"การเติบโตด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน ประเทศต่าง ๆ ต้องจัดระบบการจราจรทางอากาศให้ดี ซึ่งในส่วนของไทยก็มีแผนลงทุนอีกร่วม 1.4 หมื่นล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อขยายการรองรับเที่ยวบินจาก 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี เป็น 1.5-2 ล้านเที่ยวบินต่อปี ในอีก 7-10 ปีข้างหน้านี้ ประกอบกับการจัดการห้วงอวกาศระหว่างทหารและพลเรือนที่จะยืดหยุ่นมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจราจรทางอากาศได้ดีขึ้น และคาดว่าในอีก 15-20 ปี ไทยจะมีเที่ยวบินเพิ่มเป็น 3 ล้านเที่ยวบินต่อปี ซึ่งการจะรองรับการเติบโตที่เกิดขึ้น อยู่ระหว่างการศึกษาของ NATS UK ที่เราจ้างศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการขยายตัวที่เกิดขึ้น" นางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) กล่าว


MP24-3262-A

จี้รัฐพัฒนาสนามบินรอง
ไม่เพียงการผลักดันเรื่องของน่านฟ้าเสรีของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ในส่วนของธุรกิจการบิน ต้องยอมรับว่า สายการบินที่มีเครือข่ายเส้นทางบินครอบคลุมอาเซียนมากที่สุด คือ สายการบินในกลุ่มแอร์เอเชีย ซึ่งมีรูตบินในอาเซียนมากถึง 179 เส้นทาง ด้วยความถี่ 3,622 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งหากนับเฉพาะไทยแอร์เอเชีย มีบินอยู่ 18 เส้นทางบินในอาเซียน ความถี่ 252 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากเที่ยวบินทั้งหมดที่ไทยแอร์เอเชียทำการบินอยู่ 1,400 เที่ยวบินต่อสัปดาห์


GP-3354_180527_0016

'ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย สะท้อนมุมมองถึงการขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นผู้นำตลาดร่วมการบินภูมิภาคอาเซียน ว่า ไทยแอร์เอเชียมองว่า การขยายตัวของนักท่องเที่ยวมีสูงมาก ส่งผลให้สนามบินหลักของไทยรองรับไม่ทัน ทำให้สนามบินแออัด การขยายสนามบินก็ต้องใช้เวลา การมองการพัฒนาสนามบินเมืองรอง เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งหากอาเซียนขับเคลื่อนนโยบาย "อาเซียน ซิงเกิ้ล วีซ่า" ได้ในอีก 2-3 ปีนี้ จากนั้น นักท่องเที่ยวจากนอกภูมิภาคอาเซียนจะเดินทางมาเที่ยวอาเซียนมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวโตเพิ่มอีก 3-4 เท่า

 

[caption id="attachment_284868" align="aligncenter" width="311"] ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย[/caption]

ดังนั้น รัฐบาลต้องมองถึงการพัฒนาสนามบินเมืองรอง เพื่อรองรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศที่จะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้ ไทยแอร์เอเชียได้หารือกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แล้ว หาก ทย. พัฒนาสนามบินเมืองรองให้รองรับเครื่องบินของสายการบินได้ เราก็พร้อมที่จะเข้าไปเปิดบิน โดยหารือกันไว้ว่า น่าจะดำเนินการพัฒนาได้ปีละ 2-3 สนามบิน อย่าง พะเยา แม่สอด


แอร์เอเชียเปิด Wallet
นอกจากการขยายเส้นทางบินไปยังเมืองรองต่าง ๆ ของไทยแอร์เอเชียแล้ว ในขณะนี้ แอร์เอเชียอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มเรื่องของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet) โดยจะเปิดให้สมาชิกที่สะสมไมล์ของสายการบินและพันธมิตรธุรกิจ ที่เรียกว่า BIG CARD สามารถนำคะแนนมาใช้แลกซื้อสินค้าบนเครื่องบิน ซื้อน้ำหนักกระเป๋า ช็อปปิ้ง โดยไม่ต้องใช้เงินสด คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งจะแตกต่างจากโปรแกรมสะสมไมล์ของสายการบินอื่น ๆ ที่ให้สะสมไมล์แลกที่นั่งบนเครื่องบินอย่างเดียว โดยวันนี้ มีคนบินกับไทยแอร์เอเชียกว่า 20 ล้านคน หากโปรแกรมนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ เชื่อว่าจะทำให้ผู้โดยสารเติบโตแบบก้าวกระโดด และใน 2 ปี จะทำให้มีสมาชิก BIG CARD เพิ่มเป็นอีกเท่าตัว และโครงการนี้เราทำทั้งเครือแอร์เอเชีย ดังนั้น ต่อไปก็จะสามารถนำ Wallet นี้ ไปใช้ได้ทั่วอาเซียน


……………….
รายงานพิเศษ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 22

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ขยายสนามบินกระบี่ ทุ่มงบ 4 ปี 6.6 พันล้าน
ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3สนามบินจ่อประกาศชวนเอกชนร่วมลงทุนปลายพ.ค.


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว