'ประยุทธ์' ระบุ การลงทุนประเทศ เหมือนปลูกต้นไม้ "ต้องทำทุกด้านให้ดีขึ้น"

27 พ.ค. 2561 | 04:16 น.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า "ผมอยากเรียนให้ทราบว่า เราเริ่มได้เห็นสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านเศรษฐกิจของประเทศ จากตัวเลขที่ออกมาล่าสุด ใน 3 เดือนแรกของปี 2561 นี้ ประเทศไทยเติบโตจากช่วงเดียวกัน หรือ 3 เดือนแรกของปีก่อน ถึงร้อยละ 4.8 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ดีที่สุดใน 20 ไตรมาสที่ผ่านมา

ถ้าดูจากฝั่งการใช้จ่าย ปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 เนื่องมาจากประเทศคู่ค้าที่มีรายได้และกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนการใช้จ่ายในประเทศ การบริโภคก็ขยายตัวได้ดี ที่ร้อยละ 3.6 การลงทุนของภาคเอกชนก็ยังขยายตัวดีต่อเนื่องเช่นกัน ไตรมาสนี้ มีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 3.1  การใช้จ่ายของเอกชนที่เติบโตได้ดีขึ้นนี้ แสดงว่าเอกชนมีความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐได้เร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของประเทศ อีกทั้งมาตรการสนับสนุนการลงทุนของ BOI


003-2

ใน 3 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนโครงการที่ขอรับการสนับสนุน 366 โครงการ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 โดยมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 60,000 ล้านบาท เมื่อไตรมาสแรกของปี 2560 เป็น 200,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความสนใจที่จะลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และอยู่ในพื้นที่ EEC มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วในไตรมาส 1 ปีนี้ 259 โครงการ

การลงทุนในส่วนนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ดีขึ้น ณ วันนี้เท่านั้น แต่เมื่อแล้วเสร็จ ดำเนินการได้ ก็จะผลิดอกออกผลให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย โดยคำนวณได้ว่าในโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้วนั้น จะสามารถสร้างงานให้คนไทย 15,000 ตำแหน่ง จะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ 51,508 ล้านบาทต่อปี และจะสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศไทยได้ถึง 70,000 ล้านบาทต่อปี


app-TP4-3054-A

ซึ่งจะกลายไปเป็นรายได้ให้พี่น้องประชาชน ตลอดห่วงโซคุณค่า ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ได้ในที่สุด ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม เพียงแต่ต้องแสวงโอกาส การมีส่วนร่วม ในวงจรเศรษฐกิจนี้ เราต้องปรับตัว ต้องพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศด้วย

หากดูการเติบโตในฝั่งการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวถึงร้อยละ 12.8 ในไตรมาสแรกนี้ ก็เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้สูงเช่นกัน คือร้อยละ 15.4 นอกจากนี้ การขนส่งและการค้าก็ขยายตัวได้ที่ประมาณร้อยละ 7 ในส่วนภาคเกษตร ผลผลิตเกษตรขยายตัวดี แต่ราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น ทำให้รายได้ของพี่น้องเกษตรกรยังไม่ได้ดีขึ้นตามภาพรวมของเศรษฐกิจเท่าที่ควร


07-3354

ที่ผ่านมา รัฐบาลรับทราบปัญหาว่า ประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เราคุยกันว่าดีขึ้นต่อเนื่องนั้น แต่ก็ยังไม่กระจายลงไปในพื้นที่ชุมชน และยังไม่ไปถึงพี่น้องประชาชนเท่าที่ควร หลายคนก็พูด อาจจะบ่นว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจึงหรือ? ทำไมรายได้ยังไม่เพิ่มขึ้น? ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลและ คสช. ไม่ได้นิ่งดูดายนะครับ เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้อย่างยั่งยืน

ผมขอเรียนว่า ปัญหาการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึงนี้ มีหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งความเหลื่อมล้ำที่สะสมมานาน โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ที่เห็นชัดเจนก็คือหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าเกษตรก็ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรหรือการหาทางในการเพิ่มมูลค่าในสินค้าต่าง ๆ ก็ยังไม่ทันการณ์ รวมถึงเราอาจจะยังไม่ได้ปรับตัวรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างเต็มที่ด้วย


appEastAsia1

การลงทุน ก็เหมือน "การปลูกต้นไม้" ที่ต้องมีระยะเวลาในการให้ผลผลิตแตกต่างกันไป แต่ในระหว่างนั้น เราก็ต้องรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย แก้ปัญหาศัตรูพืชอยู่อย่างสม่ำเสมอ สำหรับแนวทางรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในช่วงแรกของ "การปฏิรูปเศรษฐกิจ" ของประเทศนั้น รัฐบาลและ คสช.ได้ดำเนินการทั้งมาตรการระยะสั้น ที่จะเร่งช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ตั้งแต่ "ต้นทาง" คือ การปรับปรุงการผลิตสินค้าและบริการ เพิ่มมูลค่า หาตลาด ไปจนถึงการสนับสนุนด้านการเงินเร่งด่วน ทั้งด้านสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ ไปจนถึง "ปลายทาง" ที่สำคัญก็คือ การแก้ปัญหาหนี้สิน และสวัสดิการ

ส่วนมาตรการระยะยาว ที่จะเน้นการวางรากฐานสำคัญอาทิ (1) ด้านกายภาพ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยกระจายความเจริญและสร้างหนทางการนำรายได้กระจายไปสู่ท้องถิ่น (2) ด้านทักษะ คือ มาตรการสนับสนุนการศึกษาในทุกระดับ เพื่อให้ปรับตัวต่อเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้ และ (3) ด้านกรอบความยั่งยืน ผมหมายถึงการจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนปฏิรูปประเทศ ก็เพื่อจะกำหนดทิศทางในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้อง และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและประชาชนในระยะยาวด้วย


App19148602_l

ผมขอยกตัวอย่าง แผนงาน และผลงาน ของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการ เพื่อจะเชื่อมโยงส่วนกลางกับชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเร่งกระบวนการกระจายรายได้และความเจริญลงไปได้ทั่วถึงมากขึ้น อาทิ ด้านคมนาคมขนส่ง เราได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และคาดว่าจะเห็นผลในปี 2565 ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกัน ระหว่าง 1. ทางถนน โดยจะเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญไปยังพื้นที่ต่างๆ และเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะมีทั้งการเพิ่มทางหลวง 4 ช่องทางจราจรขึ้นไปอีกราว 600 กิโลเมตร ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกว่า 500 กิโลเมตร มีทางพิเศษอีก 2 เส้นทางคิดเป็นระยะทาง 240 กิโลเมตร พัฒนาทางหลวงชนบทเพื่อแก้ปัญหาจราจรจาก 270 กิโลเมตร เป็น 615 กิโลเมตร เพิ่มสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่อีก 6 แห่ง และเพิ่มสะพานข้ามหรือลอดอุโมงค์ทางรถไฟจาก 104 แห่ง เป็น 211 แห่ง

2. โครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง โดยเพิ่มทางรถไฟทางคู่ จากเดิม 360 กิโลเมตร เป็น 3,500 กิโลเมตร พัฒนาขนาดรางมาตรฐาน 4 เส้นทาง 1,000 กิโลเมตร และเพิ่มรถไฟฟ้าเป็น 11 เส้นทาง ระยะทาง 440 กิโลเมตร รวมถึง การสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบินนานาชาติของประเทศ ได้แก่ สนามบินดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา อีกด้วย 3. โครงข่ายขนส่งทางน้ำ โดยจะเพิ่มท่าเรือน้ำลึกอีก 6 แห่ง และพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มการเดินเรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล เชื่อมพัทยา – หัวหิน อีกด้วย 4. การให้บริการขนส่งทางอากาศ โดยจะเพิ่มท่าอากาศยานเบตง เพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานทั่วประเทศ ให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้อีก 320,00 เที่ยว และรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นกว่า 70 ล้านคนต่อปี เป็นต้น


AppMP33-3096-A

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เท่านั้น รัฐบาลยังสร้างความประสานสอดคล้องกับอีก 3 กิจกรรมหลัก อันได้แก่ (1) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคมอาทิ โครงการ "เน็ตประชารัฐ" ทุกหมู่บ้าน และโครงการระบบเคเบิลใต้น้ำ ระยะทาง 25,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระบบเคเบิล ใต้น้ำ "เส้นแรก" เสมือนเป็น land bridge ทางด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่จะทำให้ประเทศไทยมีวงจรเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สำคัญของโลกไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป รวม 17 ประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยส่งเสริมศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียน ตามนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ของรัฐบาล

(2) การออกกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการกว่า 600 ฉบับ เข้าสู่(กระบวนการนิติบัญญัติแล้ว 400 กว่าฉบับ  (3) การพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Big data) สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลมิติต่างๆ จากทุกกระทรวง อาทิ บัญชีผู้มีรายได้น้อย11 ล้านคน, แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ 1.3 ล้านคน, เกษตรกร, ผู้สูงอายุ – ผู้พิการ – ผู้ป่วยติดเตียง, บัญชีนวัตกรรม –OTOP และนักวิจัย เป็นต้น  ซึ่งทั้ง 3 กิจกรรมดังกล่าว ก็จะช่วยให้เกิดความเชื่อมโยง เป็นเครือข่าย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอีกด้วย"


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รัฐฯ แจงใช้งบประมาณขาดดุล ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นผลดีระยะยาว
ผุดคอร์สคริปโตแอสเซทฯ สมาคมฟินเทคร่วมไอโคราเสริมเขี้ยวลงทุนเงินดิจิตอล


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว