ทางออกนอกตำรา : คนจนทำอะไรก็เกะกะ รัฐปล่อยนายทุนเงินกู้รวยระเบิด

25 พ.ค. 2561 | 13:23 น.
5968548 ผมเขียนเรื่องปัญหาดอกเบี้ยโหดมาหลายครา จนบรรดาเจ้าของธุรกิจปล่อยกู้หลายราย โดยเฉพาะที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น เป็น “บริษัทจำกัดมหาชน” ตั้งคำถามกลับมาตัวโตๆว่า ผมมีปัญหาอะไรกับเขา

เปล่าครับ เปล่าเลย ผมไม่มีปัญหาใดๆ กับใคร ขอยืนยัน

แต่ผมมีรากเหง้ามาจากคนตัวเล็ก ผมเข้าใจหัวอกคนจนที่ไร้ทางออก ต้องหาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว แต่เมื่อไม่มีทางออกเขาต้องหาเงินกู้มาใช้ พวกท่านทั้งหลายเป็น “ผู้มีพระคุณ” ทำให้พวกเขาหายใจคล่องคอ

ผมทนไม่ได้ ที่รัฐบาล ข้าราชการไทย ไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับบรรดาลูกหนี้ แต่กลับละเลยในการบังคับใช้กฎหมายจนทำให้ “นายทุนเงินกู้ผู้มีพระคุณ” รวยล้นฟ้าโดยเหยียบอยู่บนบ่าคนหาเช้ากินค่ำอยู่ร่ำไป
w644 ถามทุกท่านด้วยใจเป็นธรรมว่า กฎหมายจัดการดอกเบี้ยโหด นายทุนโหด ในเมืองนี้มีไว้จัดการกับชาวบ้าน คนปล่อยกู้ทั่วไปใช่มั้ย แต่คนใส่สูทที่ปล่อยกู้ผิดฎหมาย ทั้ง “กฎหมายแพ่ง” และ “กฎหมายห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดคือ 15% เปิดตัวโต้งๆ ยืนเด่นเป็นสง่าเชิดหน้าชูตาในสังคมอย่างนั้นหรือครับ!”

ผมเห็นใจรัฐบาลลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อุตส่าห์ออกกฎหมายสารพัดมา 3 ฉบับคุมดอกเบี้ยโหด คุมการคิดดอกเบี้ยเกินกำหนด 15% แถมแถมกำลังทำคลอด พรบ.กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อดูแลสินเชื่อหลากรูปแบบทั้งสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อมีหลักประกัน สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อรถแลกเงิน ที่ผุดกันเป็นดอกเห็ด

แต่ผมต้องโทษท่าน ด่าท่านในฐานะ “ผู้นำ” ที่มีอำนาจเต็มที่ และประกาศแก้ปัญหากับความยากจนของคน รวมถึงการปล่อยกู้เรียกดอกเบี้ยโหดอย่างจริงจังตลอด 4 ปี แต่กลับไม่มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับอย่างจริงจัง ปล่อยให้ชาวบ้านเดือดร้อนกันตามยถากรรม
20170524015536_l ชาวบ้านไปร้องศูนย์ดำรงธรรม ว่าธุรกิจรับจำนำทะเบียนรถที่ทำได้ง่ายเป็นที่พึ่งยามยากยิ่งกว่าโรงรับ จะเงินติดล้อ เสี่ยสั่งได้ เงินกู้ทันใจเมีย แค่เอาทะเบียนมาทิ้งไว้รับเงินสดไวทันใจ แต่กลับต้องผ่อนดอกเบี้ยกันไป 0.89% 1.25%-1.75% ซึ่งถ้าเทียบดอกเบี้ยก็จริงก็เกิน 15% ทั้งหมด บางรายคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 1.85% ต่อเดือน เท่ากับว่า 22-23% ต่อปี

ที่เจ็บกระดองใจกว่านั้นคือ บริษัทจำกัดมหาชน ในตลาดหุ้น ที่ทำธุรกิจรับจำนำทะเบียนรถบางรายที่ชื่อก้องหู ผู้บริหารโฆษณาว่า ถูกกฎหมาย 1000% มีสาขาอยู่นับร้อยนับพันสาขากระจายตามตลาด ชุมชนต่าง ๆ กลับคิดค่าธรรมเนียมที่สูงมากกว่าดอกเบี้ยเสียอีก

เขากลับโดนข้าราชการไล่ไปร้องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. พอไปสคบ.ก็บอกว่า "ไม่ใช่ สัญญาเช่าซื้อรถ สคบ.ของฉันไม่เกี่ยว"  ต้องไปร้องกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โน่น...

เชื่อหรือไม่ จนบัดนี้กลับไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง และไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง ....ไม่ด่านายกฯ ลุงตู่ แล้วจะให้ไปด่าแมวที่ไหนละพี่น้อง...

เรื่องนี้นายกฯลุงตู่อย่ามาซู...กับผมนะ ผมสู้หัวชนฝาจริง ๆ นะจะบอกให้....

พ้นเรื่องเจ็บใจ ปวดใจคนจน ผมพาคุณผู้ชมมาดูเรื่องเศรษฐี ให้เปรมย์ปรีดิ์ในดวงใจ โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของบริษัทปล่อยกู้รายย่อยสารพัดรูปแบบที่นำบริษัทมาเข้าตลาดหุ้น 4-5 ปี แต่เป็นเศรษฐีในพริบตา....

[caption id="attachment_284534" align="aligncenter" width="335"] ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ[/caption]

มีการจัดอันดับเศรษฐีผู้ถือครองหุ้นปี 2560 กันล่าสุด พบว่า นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ครองแชมป์อันดับ 1 ด้วยมูลค่าสูงสุดอันดับ 1 รวม 63,527ล้านบาท ความมั่งคั่งจะลดลง 3,717 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2559 หุ้นที่หมอเสริฐถือครองมี 3 บริษัท ได้แก่ กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ ถือยู่ 18.68% มูลค่า 59,318  ล้านบาท ถือหุ้นการบินกรุงเทพ (BA) เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส 10.61% มูลค่า 4,143 ล้านบาท ถือหุ้นโรงพยาบาลนนทเวช (NTV) 0.79% มูลค่า 64ล้านบาท

อันดับ 2  พิชญ์ โพธารามิก ถือหุ้นจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) มูลค่า 44,082 ล้านบาท ถือหุ้น โมโน เทคโนโลยี (MONO) ในสัดส่วน 68.30% มูลค่า 8,861 ล้านบาท

อันดับ 3 สมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กิจการธุรกิจพลังงาน จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีหุ้นที่ถือ 33,269 ล้านบาท จากหุ้น EA กว่า 23.30%

อันดับ 4  ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร พฤกษา เรียลเอสเตท (PSH) มูลค่าหุ้นที่ถือครองรวม 31,037 ล้านบาท ถือหุ้นแอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) 0.86% มูลค่า 158  ล้านบาท

อันดับ 5 นิติ โอสถานุเคราะห์ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา ถือครองหุ้นมูลค่ารวม 28,897ล้านบาท ใน 13 บริษัท

อันดับ 6  คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือครองหุ้นมูลค่า 28,890  ล้านบาท ถือหุ้น BTS ในสัดส่วน 27.48% มูลค่า 28,053  ล้านบาท กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGF) 0.94% มูลค่า 622ล้านบาท ถือหุ้นวี จี ไอ โกลบอล มีเดีย  ( VGI) 0.54% มูลค่า 213  ล้านบาท

อันดับ 7 อนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ถือครองหุ้นมูลค่ารวม 28,320 ล้านบาท ประกอบด้วย LH 23.93% มูลค่า 28,305 ล้านบาท และแมนดาริน โฮเต็ล (MANRIN) 1.36% มูลค่า 14 ล้านบาท

[caption id="attachment_284535" align="aligncenter" width="335"] ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ชูชาติ เพ็ชรอำไพ[/caption]

เศรษฐีหุ้นอันดับ 8 ชูชาติ เพ็ชรอำไพ เจ้าของบริษัท เมืองไทยลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) MTLS ที่เปลี่ยนมาเป็นเมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC ที่ปล่อยกู้ราย้อย สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ขึ้นจากอันดับ 10 จากปี 2559 ถือครองหุ้น 25,727  ล้านบาท รวยขึ้น 11,066  ล้านบาท  จากราคาหุ้นที่กระโดดมา 36-39 บาท

หุ้นที่ชูชาติถือครอง นอกจาก MTC ในสัดส่วน 33.87% มูลค่า 25,311 ล้านบาท แล้วยังถือหุ้น เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท (FN)  95ล้านบาท หุ้นอินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม (ITEL) 244 ล้านบาท หุ้น เอสจีเอฟ แคปปิตอล (SGF) 19  ล้านบาท หุ้นโซลาร์ตรอน (SOLAR)  30  ล้านบาท หุ้นที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ (TACC)  26  ล้านบาท

เศรษฐีหุ้นอันดับ 9 ดาวนภา เพชรอำไพ ภรรยาของชูชาติ ก็ก้าวขึ้นมาจากอันดับ 12 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้น MTC ในสัดส่วน 33.96% มูลค่า 25,380 ล้านบาท รวยขึ้น 12,060 ล้านบาท หรือ 90.54% เนื่องจากราคาหุ้น MTC ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 18.50 บาท มาอยู่ที่ 36-39 บาท

เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ธิดา แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) กลุ่มบริษัทให้บริการสินเชื่อรายย่อย ภายใต้เครื่องหมายบริการ "ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ" ปล่อยกู้รายย่อยแบบมีหลักประกันประเภท ทะเบียนรถเก่าทุกประเภท บ้านและโฉนดที่ดิน ปล่อยกู้รายย่อยแบบไม่มีหลักประกันภายใต้การกำกับ รับจ้างติดตามหนี้

ธิดา คือทายาทของ “จริยา–ฉัตรชัย แก้วบุตตา" ผู้ปลุกปั้น บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จนเป็นบริษัทลีสซิ่งครบวงจรก้าวขึ้นจากอันดับ 15 เมื่อปีที่แล้ว โดยถือหุ้น SAWAD สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 31.28% มูลค่า 20,404  ล้านบาท รวยขึ้น 8,546  ล้านบาท หรือ 72.07% จากราคาหุ้น SAWAD สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคา 30 บาท และเคยไต่ไปถึงหุ้นละ 49 บาท
เงิน ถ้าเทียบตระกูลเศรษฐีหุ้นไทยปี 2560 ได้แก่ ตระกูลปราสาททองโอสถ จาก 6 เครือญาติ ได้แก่ น.พ.ปราเสริฐ และ5ทายาท “พุฒิพงศ์ สมฤทัย อาริญา ปรมาภรณ์ พล.ต.ท.วิสนุ” ถือหุ้นรวมกัน  96,299  ล้านบาท

รองมาคือ ตระกูลจิราธิวัฒน์ คนในตระกูล 41 คน ถือหุ้นรวมกันทั้งสิ้น 69,737  ล้านบาท

อันดับ 3 เป็นตระกูล “เพ็ชรอำไพ-เพชรอำไพ” โดย 3 เครือญาติเจ้าของเมืองไทยลิสซิ่ง หรือเมืองไทยแคปปิตอล (MTC) “ชูชาติ-ดาวนภา–ศึกษิต” ถือครองหุ้นรวมมูลค่า 51,640  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,154 ล้านบาท หรือ 81.28%

ปีนี้ “ตระกูลเพ็ชรอำไพ” น่าจะขยับก้าวไปอีก เพราะเข้าจดทะเบียนบริษัทไม่นานนักกำไรก้าวกระโดดนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ 2557 กำไรสุทธิ 544 ล้านบาท ปี 2558 กำไร 825 ล้านบาท ปี 2559 กำไรสุทธิ 1,464 ล้านบาท ปี 2560 กำไร 2,501 ล้านบาท เมื่อเสี่ยชูชาติ เปิดเผยว่า บริษัทคาดกำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตทำสถิติใหม่จากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ปีนี้จะทำสถิติทะลุ 8 หมื่นล้านบาท ลูกหนี้คงค้างสิ้นปีทะลุ 5 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่ 3.5 หมื่นล้านบาท

ตระกูลโพธารามิก ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 4 โดยพิชญ์ ถือหุ้นรวมมูลค่า 44,082  ล้านบาท

เศรษฐีหุ้นอันดับ 5 ได้แก่ ตระกูลกาญจนพาสน์ โดย 5 เครือญาติในตระกูล ได้แก่ คีรี-อนันต์-กวิน-ชัยสิทธิ์-สาคร กาญจนพาสน์ ถือครองหุ้นรวม 42,906 ล้านบาท

เห็นความร่ำรวย มั่งคั่ง ของบรรดาเศรษฐีรุ่นใหม่แล้ว คนจน คนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินผ่อน ยิ่งไร้ทางออกจริงๆ ...

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา |โดย...บากบั่น บุญเลิศ | หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3369 ระหว่างวันที่ 27-30 พ.ค.2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว