ชงลดภาษีรายใหญ่! แลกอุ้ม ศก.ฐานราก

25 พ.ค. 2561 | 12:31 น.
250561-1918

[caption id="attachment_284522" align="aligncenter" width="503"] ©rawpixel.com ©rawpixel.com[/caption]

นักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียง แนะรัฐบาลใช้นโยบายกึ่งการคลัง-การเงินผ่อนคลาย ดึงเอกชนรายใหญ่ทั้งภาคเกษตร-ส่งออก ยกระดับเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย แลกลดภาษี เตือนปัจจัยเสี่ยง! ราคาสินค้า น้ำมัน ดอกเบี้ย เพิ่มเร็ว กระทบกำลังซื้อ

ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 4.8% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี
 ทำให้สำนักงานคณะกรรมการ การพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับเพิ่มประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี จาก 3.6-4.6% เป็น 4.2-4.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลกและการปรับตัวดีขึ้นของระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งจะสนับสนุนมูลค่าการส่งออกสินค้าให้ขยายตัว 8.9% ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนและการสะสมทุน โดยรวมขยายตัว 3.7% และ 4.7% ตามลำดับ


app48387583_s

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังคงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม สศช. ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แนวโน้มที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ขณะที่ ระดับราคาทั้งสินค้า อัตราดอกเบี้ย และน้ำมันเข้าสู่ช่วงขาขึ้น ยังมีความเสี่ยง หากการปรับเพิ่มของระดับราคาเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

 

[caption id="attachment_284524" align="aligncenter" width="416"] จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย[/caption]

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตอนนี้มีความเสี่ยงอีก 2 ปัจจัย ที่ภาครัฐยังไม่แก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม คือ การดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ซึ่งรัฐบาลสามารถผ่อนคลายกฎ หรือ ทบทวนเรื่องการก่อหนี้ระดับประเทศ ในภาวะอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยต่ำ โดยเฉพาะการกู้เงินเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น อีกประเด็น คือ การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างแท้จริง ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเฉพาะการลงทุนบางอย่าง หรือ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ยกตัวอย่าง การแก้ปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ หรือ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยสนับสนุนภาคเอกชนระดมทุนเพื่อทำธุรกิจ หรือ ลงทุนต่อ ซึ่งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นต่อยอดการลงทุนกลุ่มเอกชนมากขึ้น นอกจากนี้ ควรนำนโยบายกึ่งการคลังเพื่อแก้ปัญหาภาคเกษตรเรื่องประสิทธิภาพ โดยดึงบริษัทเอกชนรายใหญ่เข้ามาช่วยยกระดับเกษตรกรรายย่อย

"การดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายในรูปแบบซื้อสินทรัพย์ทางการเงินของบริษัทเอกชน ไม่ว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือ กองรีท ด้วยทุนสำรองระหว่างประเทศโดยแบงก์ชาติ ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีเงินทุนทำธุรกิจต่อ ส่วนการใช้นโยบายกึ่งการคลังนั้น อาจลดภาษีสำหรับบริษัทที่มีส่วนช่วยยกระดับรายย่อย หรือ เกษตรกรและเอสเอ็มอี หรือ องค์กรที่ดำเนินโครงการสนองนโยบายรัฐ เช่น ให้แต่ละบริษัทใหญ่จัดทำรายละเอียดโครงการ ช่วยพัฒนาเกษตรเอสเอ็มอี มีกำหนดเวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งจะทำให้นโยบายของรัฐที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นรูปธรรม"

 

[caption id="attachment_284526" align="aligncenter" width="500"] อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย อมรเทพ จาวะลา
ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย[/caption]

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากจะมีความเป็นห่วงภาคส่งออก ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวทั้งในด้านของการลงทุนและผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรมแล้ว จำเป็นต้องมีพันธมิตรผู้ประกอบการทั้งจากจีนและนานาประเทศ เพราะแนวโน้มการขยายอิทธิพลของจีนมาไทยและอาเซียน ไม่ว่าผลเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะออกมาเป็นอย่างไร

อีกประเด็นสำคัญ คือ ไทยขาดนโยบายสนับสนุนการกระจายตัวของรายได้เกษตรกรและเอสเอ็มอี แม้ภาคเกษตรจะมีสัดส่วนกว่า 10% ของจีดีพี แต่ประชากรส่วนใหญ่ประมาณ 40-50% อยู่ในภาคเกษตร และยังมีรายได้ลดลงต่อเนื่อง ดังนั้น ช่วงที่เหลือไตรมาสต่อ ๆ ไป จึงหวังว่า ทั้งปีจะเห็นกำลังซื้อกระจายตัวในกลุ่มเกษตรและเอสเอ็มอีมากขึ้น แม้ว่าจีดีพีไตรมาสแรก กลุ่มคนจนไม่อยู่ในสมการการเติบโตของจีดีพีก็ตาม

 

[caption id="attachment_284527" align="aligncenter" width="335"] ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารเกียรตินาคิน ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารเกียรตินาคิน[/caption]

สอดคล้องกับ นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ทั้งเรื่องการลงทุนและการบริโภคยังเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดว่า จะเพิ่มได้เพียงใด โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ เพราะรัฐบาลกลางติดลบ 0.3% หรือ การบริโภคที่ประมาณการว่า จะขยายตัว 3.7% นั้น ต้องติดตามดูว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ เพราะราคาสินค้าเกษตรยังต่ำ บางประเภทติดลบ 40% ขณะที่ การบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นการบริโภคในกลุ่มเดิม ๆ ส่วนภาคส่งออกต้องติดตามความต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทาน หลังจากตลาดโลกชะลอตัวในบางประเทศ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,368 วันที่ 24-26 พ.ค. 2561 หน้า 01+02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กกร. ร้อง สนช. ทบทวนร่างกฎหมายภาษีที่ดิน
จัดระเบียบโฮมแชร์ริ่ง จับตีทะเบียนจ่ายภาษี


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว