‘กฤษฎา’จี้กู้วิกฤติกยท.ดึงสหกรณ์ระดมทุนซื้อขายยาง-ลุยแมตชิ่งจีน-ยุโรป

01 มิ.ย. 2561 | 05:17 น.
“กฤษฎา” สั่งหาสาเหตุการขาดทุนของ กยท. จี้กู้วิกฤติขาดสภาพคล่อง ดึงสถาบันเกษตรกร-สหกรณ์ระดมทุนซื้อขายยางป้อนตลาดต่างประเทศ ประเดิมแมตชิ่งคู่ค้าจีน-ยุโรปเดือนหน้า บอร์ดหลังพิงฝาจ่อขายสวน-โรงงานทิ้ง อุ้ม พนง.กว่า 3 พันคน

กฤษฎา บุญราช4

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้แจ้งกับนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ถึงเงินของ กยท. ว่า ยังมีเหลือในการบริหาร เรียกว่ามีเงินหมุนได้ เพราะฉะนั้นด้วยแผนการตลาดใหม่มั่นใจว่าภาวะการขาดทุนจะไม่เกิดขึ้นอย่างนี้อีก แต่ก็ให้รักษาการผู้ว่าการ กยท.ไปดูว่าขาดทุนจากการค้าขายยางหรือขาดทุน  จากการจัดสรรงบประมาณในการบริหารไม่ถูกต้อง หากเกิดจากการขาดทุนเพราะการบริหารงานไม่ถูกต้องก็ปรับใหม่ แต่ถ้าเกิดจากการขาดทุนโดยตรงจากการขายยางอย่างเดียวไม่มีปัจจัยอื่นก็ให้ไปปรับปรุงเรื่องแผนการตลาดใหม่

ทั้งนี้รักษาการผู้ว่าการการยางฯยืนยันว่าจะมีการปรับปรุงแผนการตลาดใหม่  โดยเรียกระดมทุนจากสถาบันเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การยางให้มาระดมทุนกับ กยท. แล้วขายยางเป็น 2 รูปแบบคือ 1.ขายนํ้ายางดิบหรือยางแผ่น และ 2.นำยางจากสมาชิกมาแปรรูปขายเป็นยางก้อนให้กับบริษัทต่างประเทศ ในวันที่ 27-30 มิถุนายน 2561 ภายใต้ชื่องาน “โครงการสร้างเสริมศักยภาพเพื่อขยายตลาดคู่ค้ายางพาราไทย” จะมีการเจรจากับนักธุรกิจจีนและสหภาพยุโรปที่ผลิตยางขายทั่วโลกว่าให้ซื้อยางก้อนจากประเทศไทยโดยตรงจะได้ราคาถูกกว่า เป็นบทบาทตามกฎหมายที่ กยท.ไม่ต้องขออนุญาตใครเลยทำได้ทันที

tp9-3369-a

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการการยางฯ หรือบอร์ด กยท. กล่าวว่า การขาดทุนตามมาตรา 49 (1) ของกยท.จากสาเหตุ 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.นโยบายรัฐบาลจำกัดการส่งออก ทำให้การเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (เซสส์) พลาดเป้า 2.การจ่ายเงินให้กับลูกจ้างกรีดยางของ กยท.จากนโยบายหยุดกรีดยาง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 61)   และ 3.การของบประมาณรัฐในการอุดหนุน ปี 2560 ขอไป 2,000 ล้านบาท แต่ได้เพียง 200 ล้านบาท ปี 2561 ขอไป 1,500 ล้านบาท แต่ได้เพียง 150 ล้านบาท จึงทำให้ 6 เดือนแรกปีงบ ประมาณ กยท.ขาดทุนทางบัญชีกว่า 600 ล้านบาท คาดสิ้นปีงบประมาณ 2561 จะขาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 1,200 ล้านบาท

“ในบอร์ดได้มีการหารือหลายมาตรการที่จะเพิ่มรายได้  ล่าสุดได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้ใช้เงินข้ามหมวดได้  หรือสามารถปรับเพิ่มลดในวงเล็บต่างๆ ได้ แต่ถ้าตีความแล้วไม่ได้ ก็อาจจำเป็นต้องขายสวนยาง ขายโรงงานของ กยท. ทิ้ง เพื่อรักษาพนักงาน 3,990 คนไว้”

ขณะที่นายอุทัย สอนหลักทรัพย์   ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย(สยยท.) เปิดเผยว่า จากการควบรวม 3 องค์กร ได้แก่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง (สวย.) ตามพระราชบัญญัติการยาง พ.ศ. 2558 มีทุนประเดิมกว่า 3 หมื่นล้านบาท สามารถนำมาใช้ได้แค่ 15% ประมาณ 4,500 ล้านบาท ใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันเหลือ 2,200 ล้านบาท แบ่งกันไว้ทำธุรกิจประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีจะต้องใช้งบบริหาร กยท. มาตรา 49 (1) ไม่เกิน 10% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารของ กยท. ประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี

จนกระทั่งในปี  2561 ได้งบจากรัฐบาลมาแค่ 150 ล้านบาท ขณะที่งบบริหารอยู่ที่ประมาณ 2,800 ล้านบาท ก็ยากที่จะหาเงินมาเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นในปี 2562 เป็นต้นไปทุนประเดิมจะร่อยหรอไปและหมดไปในที่สุด ถ้าไม่ทำธุรกิจหาผลกำไร มีทางเดียวคือ ต้องยุบองค์กร (กยท.) ดังที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,369 วันที่ 27-30 พ.ค.2561 e-book-1-503x62-7