ประธาน กกต. เตรียมสรรหา ส.ว.

26 พ.ค. 2561 | 09:49 น.
ประธาน กกต. เตรียมการสรรหา ส.ว. แล้ว คาด 1 เดือน หลังกฎหมายใช้บังคับ เริ่มกระบวนการได้


ศุภชัย

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า สำนักงาน กกต. ได้ยกร่างระเบียบรองรับแล้ว รอแค่ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็จะออกระเบียบได้ทันที เพื่อเตรียมการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยที่มา ส.ว. มาได้ 2 ทาง คือ สมัครอิสระและองค์กรนิติบุคคลส่งสมัคร ซึ่งเมื่อกฎหมาย ส.ว. และระเบียบที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับแล้ว ก็จะมีการประกาศให้องค์กรวิชาชีพที่เป็นนิติบุคคลมาลงทะเบียนกับ กกต. เมื่อพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับก็ประกาศวันสมัคร และเริ่มกระบวนการเลือก ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ก่อนที่จะส่ง 200 รายชื่อ ให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 50 คน คาดว่าภายใน 1 เดือน หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็จะเห็นกระบวนการเลือก ส.ว. ใหม่ได้ ยืนยันได้ว่า ดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด

นายศุภชัย ยังกล่าวถึงการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่ กกต. เสนอให้มีการแก้ไขว่า ทาง คสช. ได้ส่งร่างแก้ไขมาที่ กกต. แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า จะมีการแก้ไขในประเด็นใดบ้าง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่แก้ไขก็เป็นเรื่องที่ กกต. ได้ท้วงติงไป หากมีการแก้ไขตามนั้นก็น่าจะแก้ปัญหาของพรรคการเมืองได้ ส่วนจะแก้ไขเมื่อไหร่ เป็นเรื่องของ คสช. กกต. ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้

สำหรับกรณีที่ คสช. เตรียมจะเชิญพรรคการเมืองและ กกต. ไปประชุมร่วมกันนั้น นายศุภชัย กล่าวว่า กกต. คงไม่สามารถให้คำแนะนำ คสช. ได้ เพราะเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น และยังไม่ทราบว่า จะมีการประชุมเมื่อใด ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคการเมืองอาจไม่สะดวก หาก คสช. เป็นผู้เชิญประชุม แต่หากจะให้ กกต. เป็นเจ้าภาพเชิญพรรคการเมืองประชุมก็ยินดี

"กกต. ไม่ได้ขึ้นกับ คสช. แต่ต้องดูว่า วันนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ คนที่มีอำนาจออกตามมาตรา 44 คือ คสช. เราก็ต้องทำตามกฎหมาย"

ประธาน กกต. ยอมรับว่า กกต. มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมายพรรคการเมือง แต่เมื่อมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 กกต. ก็ไม่สามารถก้าวล่วงได้ ต้องแยกกัน ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งนั้น ตามกรอบของรัฐธรรมนูญจะเริ่มต้นหลังจากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการเลือกตั้งภายใน 150 วัน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง จากนั้น กกต. จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง โดยตามกฎหมาย กกต. ไม่ต้องหารือใครก็ได้ แต่การหารือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรค ซึ่งการจัดการเลือกตั้งอาจใช้เวลาไม่ถึง 150 วันก็ได้


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2ใน7ว่าที่ กกต. ส่อมีปัญหาคุณสมบัติ
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการสรรหา กกต.


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว