จับตาทีวีดิจิตอลแข่งดุทุ่มงบชิงเรตติ้งรับม.44

29 พ.ค. 2561 | 02:29 น.
การออกประกาศ “มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” หรือ มาตรการช่วยเหลือทีวีดิจิตอล โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีสาระสำคัญที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรอคอยคือ  การขอพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน3ปีโดยต้องผ่านความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมคิดอัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

โดยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่เคยขอรับสิทธิขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ   ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 ที่มีการแบ่งงวดการชำระเงินที่เหลือออกเป็น 6 งวดแล้ว และได้มีการชำระงวดที่ 1 ไปแล้ว ยังเหลือที่ต้องชำระในงวดที่ 2-6 ถ้าจะขอพักชำระหนี้ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 นี้ สามารถขอพักชำระหนี้ได้ตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นไป ส่วนผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ไม่ได้ใช้สิทธิตามคำสั่งที่ 76/2559 ก็จะมีงวดชำระที่เหลือคืองวดที่ 5 (ซึ่งครบกำหนดชำระวันนี้) กับงวดที่ 6 ก็สามารถที่จะขอพักชำระหนี้ในงวดที่ 5 และงวดที่ 6 ได้ เป็นระยะเวลา 3 ปีเช่นกัน

นอกจากนี้ยังกำหนดให้กสทช.หรือ  คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ให้กับ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล 50% ของค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์เป็นระยะเวลา 24 เดือนนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ

2 ชม.ยื่นขอพัก20ราย

how

ทันทีที่ประกาศใช้ ม. 44 พบว่า มีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 20 ช่องยื่นขอพักชำระค่าธรรมเนียมทันทีภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ขณะที่มีผู้ประกอบการ 2 รายที่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯไปแล้ว 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง 35 (ช่อง 7HD) และช่อง 23 เวิร์คพอยท์ ส่วนอีก 2 ช่องได้แก่ ไทยทีวีและโลก้า ไม่ต้องจ่ายเพราะยุติการออกอากาศไปก่อนหน้าแล้ว

แน่นอนว่า การประกาศใช้ม. 44 เยียวยาในครั้งนี้ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล โดยนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการดังกล่าวถือว่า “เหมาะสม”และอาร์เอสก็พร้อมรับมาตรการนี้

“การพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ออกไป 3 ปีถือว่าภาครัฐไม่ได้เสียอะไร เพราะเป็นเหมือนการเลื่อนแต่ยังคงเก็บดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการช่วยให้ภาคเอกชนมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น ส่วนผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องพิจารณาถึงสถานะการเงินหรือการบริหารจัดการการเงินของตนเองว่าเป็นอย่างไร ส่วนการที่ให้กสทช. ช่วยสนับสนุนค่ามัค 50% ถือว่าเป็นการชดเชยให้กับผู้ประกอบการ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการเองให้การช่วยเหลือภาครัฐมากพอสมควร”

ต้องยอมรับว่า การประมูลทีวีดิจิตอลซึ่งเป็นสิ่งใหม่ของเมืองไทย จึงมีความน่าตื่นเต้นและน่าสนใจ จึงมีผู้ประกอบการจำนวนมากทุ่มเงินก้อนโตเพื่อให้ได้สิทธิในการบริหารช่องทีวี แต่ขาดแผนธุรกิจที่รอบคอบและชัดเจน ไม่รู้ว่าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอย่างไร จึงประเมินสถานการณ์ผิด ไม่รู้ว่าตัวเองมีกำลังแค่ไหน จึงประเมินกำลังตัวเองผิด การออกมาตรการช่วยเหลือครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายมีเงินเหลือที่จะไปทำอย่างอื่น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ข่าวดีของทีวีดิจิตอล

อีกหนึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ตอบรับเข้าร่วมมาตรการเยียวยาของคสช. ในครั้งนี้คือ ช่องวัน 31 โดยนายเดียว วรตั้งตระกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ช่องวัน 31 บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด กล่าวว่า รู้สึกพึงพอใจและถือเป็นข่าวดี เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐมาโดยตลอด สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจทีวีดิจิตอล เพราะถือว่าเป็นการให้บริการระดับชาติ ที่มีผลกระทบต่อวงจรเศรษฐกิจและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนทั้งประเทศด้วยเช่นกัน

“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสื่อก็คือส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐบาลเห็นความสำคัญตรงนี้ และออกมาตรการนี้มา ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายที่จะช่วยให้ธุรกิจนี้เดินต่อไปได้ ทั้งนี้ช่องวัน 31 จะนำเงินจากการพักชำระค่างวดส่วนนี้มาบริหารจัดการในการพัฒนารายการ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับคอนเทนต์ของช่อง เพื่อประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น สามารถสร้างความนิยม สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ชม ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินจากการประกอบธุรกิจ ที่จะสามารถทำให้ช่องเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต”

งานนี้คงต้องจับจ้องดีกรีความร้อนแรงของสนามแข่งขันนี้ว่าจะดุเดือดแค่ไหน หลังมีเงินเหลือๆ มาปรับคอนเทนต์ เขย่าโปรโมชันเพื่อดึงอายบอล เพื่อฉุดเรตติ้งให้พุ่ง...

                 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,369 วันที่ 27-30 พ.ค. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว