มธ.เปิดหลักสูตรพันธุ์ใหม่ ปั้นมันสมองรับยานยนต์แห่งอนาคต

02 มิ.ย. 2561 | 05:06 น.
จากนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐภาคตะวันออก หรืออีอีซี  และนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนและสร้างความสามารถในการแข่งขัน รองรับอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ซึ่งในการประชุมเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่สมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม NEW Growth Engine ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ถือเป็น 1 ในสถาบันการศึกษาที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาบุคลากร เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ภายใต้การดำเนินงาน “สัตหีบโมเดล” ที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ เพื่อมาผลิตกำลังคนเข้าสู่ระบบ รองรับกับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดขึ้น

นายธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรขึ้นมาใหม่ว่า เนื่องจากปัจจุบันมธ.มีศูนย์อยู่ที่พัทยา  และมีหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ ที่เป็นนานาชาติเรียนเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว จึงนำมาต่อยอดเป็นหลักสูตรใหม่ เพื่อพัฒนากำลังคนเร่งด่วนที่มีสมรรถนะและสร้างความสามารถในการแข่งขัน เน้นการตอบโจทย์ความต้องการภาคการผลิตสู่ New S-Curve และทันต่อตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

[caption id="attachment_284194" align="aligncenter" width="503"] ธีร เจียศิริพงษ์กุล ธีร เจียศิริพงษ์กุล[/caption]

โดยศูนย์พัทยา ถือว่าเป็นศูนย์กลางของหลายๆ นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี การทำหลักสูตรขึ้นมา จะสามารถนำไปต่อยอดทุกด้านที่เป็นยานยนต์แห่งอนาคต โดยมีขอบเขตของเนื้อหาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับอุปสงค์ของตลาดแรงงาน ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม การจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคีหรือสหกิจศึกษาที่ใช้สถานการณ์จริงจากสถานประกอบการและชุมชน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะฝีมือควบคู่กับการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้มีสมรรถนะที่เป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน เร่งรัดการพัฒนาอาจารย์ เพื่อผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ดังนั้น ในการขับเคลื่อนเห็นว่า จำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ปรับเป้าหมายการรับผู้เรียนใหม่ ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ด้วยหลักสูตรหลากหลายทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งนักศึกษาจะมีเวลาที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือบริษัทมากกว่าปกติ โดยจะเปิดรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ช่างอุตสาหกรรม รุ่นละ 60 คน ซึ่งจะเริ่มรับสมัครในเดือนมิถุนายนนี้ และเริ่มเปิดเรียนในเดือนสิงหาคม 2561

โดยรูปแบบการเรียนนั้นใน 4 ปีการศึกษา จะมีทั้งหมด 8 เทอม 5 เทอมแรกเรียนที่ มธ.ศูนย์พัทยา นักศึกษาจะเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ในห้องเรียน มีวิชาปฏิบัติทุกอย่างปกติ แล้ว 3 เทอมหลังพร้อมกับช่วงซัมเมอร์  (ปี 3 เทอม 1-2/ ซัมเมอร์ตอนปี 3/ ปี 4เทอม 1-2) นักศึกษาจะเข้าไปฝึกปฏิบัติเรียนรู้ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือบริษัท ถ้าคิดคร่าวๆ เกือบๆ 40-45% ของระยะเวลาที่เรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นรูปแบบที่ขยายจากสหกิจศึกษาที่มีอยู่แล้ว แต่มีแค่ 6 เดือน ถึง 1 เทอม จะขยายให้ครอบคลุมทั้งหมดคือ 3 เทอมกับอีก 1 ซัมเมอร์ เน้นให้เด็กได้ไปฝึกงาน เพราะปกติบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ จบใหม่ต้องไปเทรนไปฝึกใหม่ทั้งหมด ไม่เคยมีที่จบแล้วทำงานได้เลย ดังนั้น จะตัดตอนว่า ไม่ต้องไปเทรนหรือฝึกงานแล้ว พอนักศึกษาจบมาก็สามารถทำงานได้ทันที

“ที่ผ่านมามธ.ได้หารือกับทางกลุ่มอาชีวศึกษา ในเขตภาคตะวันออก สำนักงานศึกษาธิการภาค 9 อยากจะช่วยเขาพัฒนาการเรียนการสอนในระดับอาชีวะ ซึ่งพบว่านักศึกษาอาชีวะมีงานฝีมือ พวก practice แต่สิ่งที่ขาดคือ ทฤษฎี หรือการบริหารจัดการ เรื่องเทคโนโลยีที่จะเข้าไปเสริม จึงได้ทำความร่วมมือกับสถาบันอาชีวะต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือในการพัฒนาหลักสูตรระดับอาชีวะ ซึ่งตอนนี้ได้คุยกันเรียบร้อยแล้วว่า ในช่วงปีนี้อาจจะให้โควตากับสถาบันอาชีวะส่งเด็กเข้ามาเรียน”

ส่วนค่าเล่าเรียนนั้น เนื่องจากหลักสูตรนี้มันไม่ได้เป็นหลักสูตรปกติ ถือเป็นโครงการพิเศษ ซึ่งปกติคณะวิศวกรรม ค่าเทอมถูกสุดจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นบาท แต่หลักการเก็บค่าเล่าเรียนเด็กต้องสามารถกู้เรียนได้เพราะไม่แน่ใจว่าในอนาคตรัฐบาลจะสนับสนุนไปนานแค่ไหน พอถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งรัฐบาลอาจจะบอกหลักสูตรพวกนี้อยู่ตัวแล้ว ไม่สนับสนุนแล้ว เด็กก็จะสามารถกู้เรียนได้ เพราะถ้าเกิดเรากำหนดสูงมากกว่านี้ มีผลต่อหลักสูตรเลย ดังนั้นตัวเลขคิดว่าไม่เกิน 2หมื่นบาทแต่โครงการนี้มีทุนเรียนให้ส่วนหนึ่ง หากเด็กได้ทุน 50% ก็คือ จ่ายแค่ 1 หมื่นบาท เท่านั้น

ดังนั้น เด็กที่จบออกมาจะมีความรู้ความสามารถทั้งด้านทฤษฎี และการปฏิบัติสามารถนำไปพัฒนาประยุกต์ต่อในอุตสาหกรรมยานยนต์และ/หรือ อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ ในประเทศไทยมีกว่า 1,500 บริษัท นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประกอบ อาชีพส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยียานยนต์ด้านต่างๆ ได้อีกด้วย

สัมภาษณ์ : โต๊ะข่าวอีอีซี

……………….

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,369 วันที่ 27-30 พ.ค. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว