บอร์ด ทอท. ไฟเขียว 1.26 แสนล้านผุด 2 สนามบินใหม่

24 พ.ค. 2561 | 11:43 น.
- 24 พ.ค. 61 - นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เผยว่า บอร์ด ทอท. เห็นชอบในหลักการให้ ทอท. การดำเนินโครงการก่อสร้างสนามบินใหม่ ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่ระหว่าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กับ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน และ 2.พื้นที่ อ.โคกกลอย จ.พังงา ซึ่ง ทอท. ได้ประมาณการเบื้องต้นวงเงินลงทุนก่อสร้างท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง รวมประมาณ 1.26 แสนล้านบาทเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร และลดปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานในปัจจุบัน

สำหรับพื้นที่ก่อสร้าง คณะกรรมการ ทอท. ให้พิจารณาขนาดที่ดินให้เหมาะสม โดยพิจารณาความสมดุลระหว่างการขยายตัวของสนามบินในอนาคตและระยะเวลาการก่อสร้างที่ต้องไม่ใช้เวลานานจนส่งผลกระทบต่อการให้บริการ

ทั้งนี้ ทอท. จะเร่งศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งเสนอผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการดังกล่าว  ซึ่งคาดว่า กระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จและสามารถดำเนินก่อสร้างได้ก่อนระยะเวลาที่สนามบินเชียงใหม่และสนามบินภูเก็ต จะเต็ม ขีดความสามารถในการรองรับการใช้บริการผู้โดยสาร Airfield-868679504

อย่างไรก็ตามสนามบินเชียงใหม่และสนามบินภูเก็ต คาดว่าจะมีปริมาณการจราจรทางอากาศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากคาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศในปี 2581 สนามบินเชียงใหม่ จะมีผู้โดยสารประมาณ 23.33 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบิน 137,790 เที่ยวบิน ซึ่งจากแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ จะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2568 โดยมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี

ส่วนสนามบินภูเก็ต จากคาดการณ์ในปี 2581 จะมีผู้โดยสารประมาณ 42.42 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 211,150 เที่ยวบิน ซึ่งจากแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินภูเก็ต จะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2565 จะมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่ 18 ล้านคนต่อปี ดังนั้น แม้ ทอท. จะมีการพัฒนาตามแผนแม่บทในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขนส่งทางอากาศตามที่มีการคาดการณ์ เนื่องจากมีข้อจำกัดของพื้นที่ท่าอากาศยาน จึงต้องมีการเตรียมการดำเนินโครงการก่อสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง เพื่อมิให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันของประเทศ

ทอท.ได้มีการศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการก่อสร้าง ทชม. และ ทภก. แห่งที่ 2 โดยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในระยะแรกให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในเบื้องต้นประมาณ  10-15 ล้านคนต่อปี โดยมี 1 ทางวิ่ง ทั้งนี้จากการสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ก่อสร้าง เช่น ขนาดพื้นที่ ความสะดวกในการเดินทาง ห้วงอากาศไม่ทับซ้อนกับท่าอากาศยานในปัจจุบัน