บินไทยหั่นอีก5พันล้าน เล็งเปิดMSP700 คน/ดึงต่างชาติร่วมทุนศูนย์ซ่อม

28 ม.ค. 2559 | 02:00 น.
“จรัมพร”กางแผนปฏิรูปบินไทยอีกครึ่งทาง ลั่นปีนี้ต้องเสริมแกร่งก่อนรุกธุรกิจใหม่ มุ่งหารายได้เพิ่ม บีบลดค่าใช้จ่ายอีก 5 พันล้าน ตั้งงบ 2 พันล้าน เปิดทางพนักงาน700 คน ร่วมโครงการ MSP รีกระบวนการทำงานใหม่ เปิดทางให้บิสิเนสยูนิตจอยต์เวนเจอร์ ระบุศูนย์ซ่อมเนื้อหอมต่างชาติรุมตอม ส่วนชะลอรับมอบเครื่องบินเซฟงบลำละ 4 พันล้าน เล็งออกหุ้นกู้ 6-7 พันล้าน ชำระคืนหุ้นกู้ที่หมดอายุ

หลังจากทำแผนแก้วิกฤติขาดทุนในช่วงปีเศษที่ผ่านมา ขณะนี้ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) สามารถหยุดเลือดไหลจากแผนการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งด้านบริหารและบุคลากร ตลอดจนการยกเลิกเส้นทางบินที่ขาดทุนหนักจนถึงขณะนี้ถือว่าเดินทางครึ่งทางและกำลังเข้าสู่ขั้นตอน ที่เร่งหารายได้และลดค่าใช้จ่ายที่ยังไม่เข้าเป้า

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าทิศทางการบริหารงานตามแผนปฏิรูปอีกครึ่งทางที่เหลือ ในปีนี้ว่าอยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือ การสร้างความแข็งแกร่งเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 ในปีหน้า คือกลับไปบุกขยายธุรกิจใหม่ หลังจากช่วงที่ผ่านมาเป็นขั้นตอนที่ 1 คือการหยุดการขาดทุนหรือหยุดเลือดได้แล้ว โดยหยุดบินเส้นทางขาดทุนมากไปแล้ว คือ โจฮันเนสเบิร์ก แมดริก มอสโก และลอสแองเจลิสและปิดสถานี ไปแล้ว ทำให้ลดค่าใช้จ่ายไปได้มากรวมถึงขายเครื่องบินไปแล้ว 2 ลำ เหลือค้างอีก 14 ลำ ที่อยู่ในกระบวนการขาย ที่จะต้องขายให้แล้วเสร็จภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

 ดันหน่วยธุรกิจสู่ Profit Center

กลยุทธ์ที่จะเดินต่อไปในปีนี้ จะโฟกัสใน 4 กลยุทธ์ที่เหลือ จากทั้งหมด 6 กลยุทธ์ ได้แก่กลยุทธ์ในการหารายได้จากการขายตั๋วเครื่องบินให้มากขึ้น และการลดต้นทุนซึ่งปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะลดค่าใช้จ่ายลงอีก 5 พันล้านบาท หลังจากปีที่แล้วลดไปแล้ว 7 พันล้านบาท โดยจะลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงอีก จะมีการนำเครื่องไม้เครื่องมือมาใช้ในการให้บริการผู้โดยสาร อาทิ เช็คอินด้วยตัวเองผ่านเครื่องอัตโนมัติ เหมือนที่ ญี่ปุ่น อังกฤษ ที่เริ่มแล้ว รวมถึงบริการอื่นๆ ที่ต้องเทียบเคียงสายการบินระดับโลก เพื่อทำให้ต้นทุนต่ำลง และจะมีการตั้งงบสำหรับโครงการร่วมใจจาก( MSP) ซึ่งเป็นการเปิดให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ ตั้งงบไว้ที่วงเงินจำนวน 2 พันล้านบาท เพื่อเปิดทางให้พนักงานเข้าร่วมโครงการ สมัครใจลาออก คาดว่าจะสามารถทำได้ในราว 600-700 คน หลังจากปีที่แล้วตั้งงบไว้ 5 พันล้านบาท มีผู้สนใจร่วมโครงการ 1.4 พันคน

ส่วนปรับโครงสร้างองค์กร โดยเน้นเรื่องของการลดขั้นตอนการทำงาน( Re-process) และการรีเอนจิเนียริงองค์กร เช่นเดิมการทำงานมี 10 ขั้นตอนสำหรับการทำงานชิ้นหนึ่ง ถ้าลดเหลือ 5 ขั้นตอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้นและยังช่วยเรื่องลดค่าใช้จ่ายลงไปอีกและสุดท้ายเป็นกลยุทธ์เกี่ยวกับหน่วยธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องเป็น Profit Center ให้ได้ อาทิ ครัวการบิน ซ่อมบำรุง คาร์โก การบริการภาคพื้น ที่ต้องเน้นการหาลูกค้าจากข้างนอกเพิ่มขึ้น ไม่ใช่บริการแต่การบินไทยอย่างเดียวและมองการร่วมลงทุน(จอยต์เวนเจอร์)เพื่อสร้างกำไร

 ขายยุโรป 60 เมือง

" ปัจจุบันการบินไทยมีประสิทธิภาพในการขายสูงขึ้นกว่าเดิม เห็นได้ชัดเจนว่าในปี2558 เรามีจำนวนน้อยเครื่องบินน้อยกว่าปี 2557 ประมาณ 13 ลำ แต่ให้บริการผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในปี 2558 อยู่ที่ 18.4 ล้านคน เพิ่มจากปี 2557 ที่อยู่ที่ 17.7 ล้านคน แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคืออัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) ที่ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 73.3% ดังนั้นจึงจะเห็นว่ายังมีเก้าอี้ที่ว่างอยู่อีก 27% ในปีนี้เราต้องขายให้เก่งขึ้น ซึ่งการขายเก้าอี้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้การบินไทยมีกำไรได้เลย เพราะใช้ลูกเรือ กัปตัน ต้นทุนน้ำมันเท่าเดิม อาจมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่เพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารในปีนี้อยู่ที่ 80% แต่คิดว่าไม่น่าจะถึง แต่น่าจะได้เกิน 75%" นายจรัมพร ยังกล่าวต่อว่า ปีนี้จะเห็นกลยุทธ์ด้านการขายที่ต้องเข้มข้นมากขึ้น ในอดีตขายเส้นทางยุโรปอยู่ที่ 11-13 เมืองในยุโรป ซึ่งเป็นเมืองที่การบินไทยทำการบิน แต่เดี๋ยวนี้ขายไปยุโรป 60 เมือง โดยใช้การขายผ่านพันธมิตรทางธุรกิจหรืออัลไลแอนซ์มากขึ้น ทำให้ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ ดึงคนที่ไม่เคยใช้บริการบินทั้งรูปแบบการบินรหัสร่วมหรือโค้ดแชร์ อินเตอร์ไลน์ไปก่อน ส่วนของผู้โดยสาร ต้องสามารถเข้าเว็บไซต์จองได้ทั้ง 60 เมืองในยุโรป รวมถึงการเพิ่มเอเย่นต์ในตลาดที่ไม่เคยขายการบินไทย ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ ให้มาขายให้การบินไทย

"ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารการขายตั้งราคาขายแบบไดนามิกสามารถเปลี่ยนแปลงราคาขายได้ตลอดวัน แล้วแต่ดีมานด์และซัพพลาย เหมือนที่สายการบินอื่น ๆ โดยขณะนี้ได้นำระบบเรเวนิวแมเนจเมนต์ มาใช้ในการบริหารราคาขาย โดยระบบจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีอัตราผลตอบแทนหรือกำไรต่อที่นั่ง(Yield)ที่ดีขึ้น"

 ชะลอรับเครื่องบินเซฟลำละ 4พันล.

นายจรัมพร ยังระบุอีกว่า ในส่วนแผนการใช้เครื่องบินนั้นจากการที่ยังเก้าอี้ยังว่างอยู่ ทำให้ในช่วงปีนี้และปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องรับมอบเครื่องใหม่เข้ามา เพราะการรับมอบเครื่องบินแต่ละลำ ต้องเตรียมเงินไว้จ่ายราว 3-4 พันล้านบาทต่อลำ ซึ่งต้องไปเจรจากับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน เพื่อขอเลื่อนการรับมอบเครื่องออกไปอีก 2-3 ปี เพื่อคงจำนวนฝูงบินใน 2 ปีนี้อยู่ที่ 95 ลำ ซึ่งต้องไปเจรจา เพราะมีเงื่อนไขของสัญญาอยู่ แต่ถ้าไม่ได้ แต่ต้องไปลองดูก่อนว่าจะดีเลย์การรับมอบได้หรือไม่

"อย่างไรก็ดีเครื่องบินใหม่ที่อยู่ในแผนการรับมอบ อย่างไรในปี 2562 หรือปี 2563 การบินไทยต้องใช้แน่นอน เพื่อขยายธุรกิจ แต่ในปีนี้ ปีหน้า ยังไม่จำเป็น เพราะถ้าบริหารจัดการเครือข่ายดี ๆก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องบินเพิ่มได้ ตามแผนปีนี้ต้องรับมอบเครื่องบินแอร์บัสเอ 350 จำนวน 2 ลำปีหน้าอีก 7 ลำ และปีถัดไปอีก 5 ลำ รวมทั้งหมด 14 ลำ ซึ่งทั้งหมดได้จัดซื้อจัดจ้างมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว"

 เปิดทาง จอยต์เวนเจอร์

ส่วนแผนการหารายได้เพิ่มอีกทางหนึ่งคือกลยุทธ์เกี่ยวกับหน่วยธุรกิจต่างๆ(บิสิเนส ยูนิต)ของการบินไทย นอกจากการโฟกัสการหาลูกค้าจากข้างนอกแล้ว ในแต่ละบิสิเนส ยูนิตต้องพิจารณาทิศทางการทำงานในแต่ละหน่วยธุรกิจด้วย ซึ่งก็มีหลายทางเลือกที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา แนวทางที่ 1 บางบิสิเนส ยูนิตก็ยังคงต้องอยู่กับการบินไทย แต่มีการแยกบัญชี แนวทางที่ 2 การบินไทย ยังถือหุ้นอยู่ 100% แต่โอนไปเป็นบริษัทลูก และแนวทางที่ 3 คือ การร่วมลงทุน(จอยต์เวนเจอร์) เพื่อผลักดันให้เกิดการทำกำไรเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะการซ่อมบำรุง สามารถไปร่วมลงทุนกับต่างชาติได้ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้สนามบินอู่ตะเภา เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคนี้ ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 1 รายที่อยากร่วมมือกับการบินไทย เพราะจุดเด่นของการบินไทยที่มีทักษะเรื่องการซ่อมบำรุงอยู่แล้ว ประกอบกับมีใบอนุญาต มีอาคารสถานที่เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ หรือบางส่วนที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุง ก็สามารถไปร่วมลงทุนกับต่างชาติได้ อาทิ เรื่องของเบรก เรื่องของเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ซึ่งอาคารทดสอบเครื่องยนต์ของการบินไทยถือว่าดีที่สุดอยู่ในอันดับ 2 ของโลก รองจากที่อังกฤษเท่านั้น สิ่งเหล่านี้การบินไทยต้องนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อต่อยอดในการสร้างรายได้

ขณะที่ การประกาศขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศที่ไม่มีความจำเป็นหลักๆก็คงมี 19 แห่ง อาทิบ้านพักพนักงานที่ลอนดอน จาการ์ตา โคเปนเฮเกน และสิงคโปร์ (2 แห่ง) รวมถึงสำนักงานขายที่ซิดนีย์ โรม มาดริด ฮ่องกง และปีนังก็คงได้รายได้อยู่ไม่เกิน 1 พันล้านบาท เพื่อนำเงินชำระหนี้ แม้ได้เงินไม่มากแต่เป็นวินัยทางการเงินตราบใดที่การบินไทยยังขอความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลัง ส่วนแผนการออกหุ้นกู้ในปีนี้ก็เป็นการนำมาทดแทนหุ้นกู้เดิมที่หมดอายุ วงเงินไม่สูงเท่ากับการออกหุ้นกู้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท

" การเดินแผนตามกลยุทธ์เหล่านี้ การบินไทยต้องมีผลประกอบการที่เป็นบวกในปีนี้เพราะผลจากการปฏิรูป ที่ดำเนินการไปในปีที่แล้ว เราลดเส้นทางบินที่ขาดทุนหลักๆไปแล้ว ก็ทำให้การขาดทุนลดลงไประดับหนึ่ง ดังนั้นในปีนี้ ต้องโฟกัสการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ให้สูงขึ้นเหนือกว่าต้นทุนทางอ้อม(Indirect costs) ยิ่งทำให้จุดนี้สูงขึ้นเท่าไหร่ก็จะทำให้ยิ่งมีกำไร และต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการลดต้นทุน (กราฟิกประกอบ)" นายจรัมพร กล่าวทิ้งท้าย

 เล็งออกหุ้นกู้ 6-7 พันล้าน

ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้การบินไทยมีแผนการออกและเสนอขายตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้วงเงินราว 6-7 พันล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายชำระคืนหุ้นกู้ที่หมดอายุรวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในปีนี้ลงอีก 5 พันล้านบาท จากการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดขั้นตอนการทำงาน และเพิ่มรายได้จากการขาย ก็ทำให้ตั้งเป้าว่าภายในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้การบินไทยจะสามารถกลับมามีกำไรได้ เพราะการด้อยค่าเครื่องบินก็ไม่มีแล้ว ไม่เหมือนในปีที่ผ่านมา

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ในขณะนี้ทางฝ่ายช่างของการบินไทย กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับทางแอร์บัส เพื่อขยายการให้บริการการซ่อมบำรุงอากาศยานในไทยเพิ่มขึ้น โดยศูนย์ซ่อมของการบินไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะเป็นเน็ตเวิร์คของแอร์บัส สำหรับการซ่อมใหญ่ให้กับแอร์บัสเอ 380 ที่ครบกำหนดการซ่อมบำรุง คาดว่าจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ และการทำโรงเรียน สำหรับการฝึกช่างซ่อมบำรุงเครื่องบินเอ350 ที่ศูนย์ซ่อมที่สนามบินดอนเมือง โดยแอร์บัสจะส่งลูกค้ามาเรียน และจ่ายค่าดำเนินการให้การบินไทย

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทในยุโรป เพื่อร่วมลงทุน ในธุรกิจการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าในเครื่องบินที่ศูนย์ซ่อมสนามบินดอนเมือง รวมถึงหารือกับผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในเครื่องบินรายอื่นๆทั้งในเอเชียและยุโรป เพื่อร่วมลงทุน หากได้ข้อสรุปก็เตรียมเสนอบอร์ดให้พิจารณาต่อไป ส่วนที่สนามบินอู่ตะเภา มีผู้ลงทุนรายหลายแสดงความสนใจที่จะดึงการบินไทยเข้าไปร่วมลงทุนด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559