คุมสินเชื่อเกษตรหวั่นหนี้เสียพุ่ง แบงก์ช่วยรายกรณีมุ่งฐานเดิม

29 ม.ค. 2559 | 00:00 น.
แบงก์งัดมาตรการอุ้มลูกค้าเกษตร "ยางพารา-ข้าว" ยังอ่วม จับตาภัยแล้ง ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า คุมเข้มสินเชื่อใหม่-เกาะติดหนี้เสีย ด้านแบงก์กรุงเทพ" ชี้รายใหญ่สายป่านยาวยังไม่รอด -ขาดทุน/สต๊อกเพียบ ปรับตัวรับมือไม่ทัน กดความสามารถชำระหนี้ถดถอย ด้านแบงก์กรุงไทย" เตรียมออกโปรแกรมช่วยชูดอกเบี้ยพิเศษ วงเงินช่วยก้อนแรกหลักพันล้านบาท ฟาก "กสิกรไทย-ทหารไทย" มุ่งช่วยลูกค้าเดิม ลั่นไม่เพิ่มพอร์ตเกษตร

ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ บวกกับภาวะภัยแล้ง ยังมีแนวโน้มว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงถึงครึ่งแรกของปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าคาด การส่งออกสินค้าหดตัว และกระทบต่อความสามารถในการสร้างรายได้ของครัวเรือน โดยรายงาน"การประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2558 " ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ระบุว่าครัวเรือนภาคเกษตรจะเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่นและอาจจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาภัยแล้งในช่วงครึ่งแรกของปี2559 และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ที่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

ต่อประเด็นดังกล่าวนายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สัญญาณการชะลอตัวลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กลุ่มเกษตรกรเริ่มส่งสัญญาณรายได้ลดลงมาตั้งแต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเกษตรรายใหญ่ที่มีสวนยางและรับซื้อยางตั้งแต่ขนาด 100 ไร่ขึ้นไป จะเห็นว่ารายได้ปรับลดลงค่อนข้างเยอะ เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นทั้งผู้ปลูก และรับซื้อยางพารา ทำให้มียางที่เก็บค้างสต๊อกอยู่จำนวนมาก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมายอดขายไม่ได้ตามเป้าหมายหรือบริหารจัดการไม่ดี ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เช่น จากเดิมราคาเคยอยู่ที่ 100 บาท แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาตกลงต่อเนื่องเหลือประมาณกว่า 30 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ลูกค้าปรับตัวไม่ทัน ไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยงโดยล็อกราคาซื้อขายล่วงหน้า จึงขาดทุนส่งผลต่อกำลังการชำระหนี้ให้ถดถอย

ดังนั้นจากสัญญาณผลกระทบดังกล่าว จึงมีลูกค้าเข้ามาขอความช่วยเหลือ โดยธนาคารจะแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ยังพอดำเนินธุรกิจได้ แต่สภาพคล่องถูกกระทบระยะสั้น กลุ่มนี้ธนาคารจะเข้าไปช่วยเหลือในการเพิ่มวงเงินสภาพคล่องหรือวงเงินโอดี และปรับปรุงการชำระหนี้ตามความสามารถในการชำระ เช่น การพักเงินต้น ผ่อนแต่ดอกเบี้ย หรือยืดเทอมการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจนไม่สามารถยืนธุรกิจด้วยตนเองได้ กลุ่มนี้จะช่วยโดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีสวนยางและรับซื้อสต๊อกยางไว้

อย่างไรก็ดี ธนาคารยังไม่ได้รับนโยบายจากภาครัฐที่ออกเป็นมาตรการโดยตรง แต่ภาครัฐต้องการให้ธนาคารเข้าไปช่วยดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาที่ตกต่ำ ซึ่งธนาคารได้ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยการช่วยเหลือจะพิจารณาเป็นรายกรณี นอกจากนี้สิ่งที่ภาครัฐต้องการให้ธนาคารช่วย โดยส่งสัญญาณมายังธนาคารแล้ว คือให้ธนาคารช่วยส่งเสริมลูกค้าเกษตรในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร หรือการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรค่อนข้างมาก จะเห็นว่ายางพารา-ข้าวราคาตกต่ำต่อเนื่อง และเชื่อว่าปัญหาภัยแล้งจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเกษตรกร ธนาคารจึงเตรียมจะออกมาตรการหรือโปรแกรมพิเศษออกมาเยียวยาลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มสำคัญของประเทศ โดยโปรแกรมดังกล่าวจะเสนอวงเงินในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทั้งนี้ ธนาคารประมาณวงเงินเบื้องต้นในการช่วยเหลือลูกค้าจะอยู่ในหลักพันล้านบาท

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารยังคงให้ความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ รวมถึงยังเป็นห่วงการเพิ่มของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในกลุ่มลูกค้าเกษตรกรที่ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ามันสำปะหลังและข้าวโพด ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยสัดส่วนลูกค้ากลุ่มนี้มีประมาณ 7% หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 7 หมื่นล้านบาท จากพอร์ตเกษตรโดยรวมที่มีสัดส่วนอยู่ 13% ของพอร์ตสินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอี 6.13 แสนล้านบาท โดยในแต่ละปีธนาคารจะปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่กลุ่มเกษตรเกินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากการเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ทำให้สินเชื่อใหม่ที่เข้ามาเริ่มดีขึ้น โดยที่กลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่และได้รับผลกระทบธนาคารให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการช่วยเหลือ อาทิ การยืดอายุชำระหนี้ ,ลดดอกเบี้ย, ช่วยเหลือเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยการให้ความช่วยเหลือ จะพิจารณาเป็นราย ๆไปตามความจำเป็นและอาการในแต่ละราย โดยธนาคารได้ให้การช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีในภาพรวม ณ ไตรมาสที่ 4/ 2558 เป็นจำนวนเงินรวม 8.7 หมื่นล้านบาท ปรับลดลงจากไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 9.6 หมื่นล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ลูกค้าที่ได้รับการช่วยเหลือปรับตัวดีขึ้น แต่ในปีนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าสถานการณ์ลูกค้าที่ช่วยเหลือจะดีขึ้น หรือกลายเป็นเอ็นพีแอลมากน้อยระดับใด เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่ช่วยเหลือมีทั้งที่สามารถกลับมาผ่อนชำระปกติและกลุ่มที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ แต่คาดว่าหนี้เอ็นพีแอลยังมีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นได้อีก เพราะทิศทางเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว และภาคเกษตรยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลภาพรวมทั้งธนาคารอยู่ที่ 3.08%

ด้านนายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเสริมว่าธุรกิจลูกค้าขนาดใหญ่กลุ่มเกษตร ที่มีวงเงินการค้าประมาณ 5 พันล้านบาทขึ้นไปยังไม่มีปัญหา แต่กลุ่มสินค้ายางแนวโน้มยังไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ โดยที่ผ่านมาจะเห็นการขาดทุนสต๊อกจำนวนมาก ส่วนกลุ่มมันสำปะหลัง ข้าว และน้ำตาลธุรกิจยังพอไปได้ แต่จะไม่เห็นการลงทุนหรือขยายธุรกิจใหม่ หรือการสร้างคลังสินค้า โดยส่วนใหญ่ประมาณ 80-90% ยังเป็นวงเงินหมุนเวียนอยู่ ซึ่งเทอมการชำระหนี้เฉลี่ย 6-9 เดือน ปัจจุบันธนาคารมีกลุ่มลูกค้าเกษตรรายใหญ่ประมาณ 9-10% คิดเป็นวงเงินหมุนเวียนประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาทของพอร์ตรวมรายใหญ่ที่อยู่ 4.68 แสนล้านบาท โดยปีนี้ธนาคารยังคงให้ความระมัดระวังกลุ่มเกษตรรายใหม่ อาจจะมีการพิจารณางบการเงินที่มากขึ้น

ด้านนายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี บมจ.ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า พอร์ตลูกค้ากลุ่มเกษตรมีสัญญาณไม่ดีมาประมาณ 2 ปีแล้ว ตอนนี้ธนาคารให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่มีโปรแกรมออกมาเป็นพิเศษ แต่ธนาคารจะให้การช่วยเหลือพิจารณาเป็นรายบุคคล ทั้งในส่วนของขยายเทอมการชำระหนี้ พักเงินต้น เสริมวงเงินสภาพคล่องขึ้นกับอาการลูกค้าเป็นหลัก ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้จะเน้นกระจายตัว ลดพอร์ตที่มีความเสี่ยง ซึ่งในปีที่ผ่านมาธนาคารขยายไปยังกลุ่มรับเหมาค่อนข้างมาก เพื่อรองรับการลงทุนภาครัฐ ปีนี้จะชะลอกลุ่มดังกล่าว ส่วนกลุ่มเกษตรคงไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม แต่จะเน้นการดูแลช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่มีอยู่ โดยตั้งเป้าสัดส่วนการหาลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิมอยู่ที่ 50:50 จากปีก่อนสัดส่วนอยู่ที่ 60:40

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559