'กสทช.' แจง 9 ประเด็น คสช. "อุ้มเอไอเอส-ทรู" ยืดจ่ายค่างวด 1.3 แสนล้าน

06 เม.ย. 2561 | 05:16 น.
… พลันที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ยังไม่เห็นชอบให้มีการออกคำสั่งมาตรา 44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ที่เสนอให้มีการพักการชำระค่าใบอนุญาต 3 ปี และลดค่าใช้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (ค่ามัค) ให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 50% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี

เช่นเดียวกับ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด หรือ ทียูซี ขอยืดเวลาชำระในงวดที่ 4 ออกไป และให้สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ทำเอกสารลายลักษณ์อักษรชัดเจน เพื่อนำเสนอภายใน 7 วัน หลังจากถูกตีกลับ (เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561)


กางแผน 9 ข้อ
ปรากฏว่า ถัดจากนั้นไม่นาน สำนักงาน กสทช. ออกมาเปิดเผยข้อมูลแจกแจง 9 ข้อ หาก คสช. มีคำสั่งขยายเวลาการชำระเงินค่างวดมือถือออกไป จะเกิดผลใน 9 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.ทั้งเอดับบลิวเอ็นและทียูซี วางเงินประกันให้กับสำนักงาน กสทช. ครบถ้วนราว 130,000 ล้านบาท หากรับภาระหนี้จากการกู้เงินธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ย 3% รัฐจะได้ดอกเบี้ยจากเอดับบลิวเอ็น จำนวน 3,574.4 ล้านบาท และทียูซี จำนวน 3,613.2 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,187.6 ล้านบาท


ชี้! ได้ดอกเบี้ยเพิ่ม
ส่วนข้อที่ 2 หาก คสช. มีคำสั่งให้สำนักงาน กสทช. ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลของทั้ง 2 บริษัทออกไป จากปี 2563 เป็นปี 2567 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย 1.5% รัฐจะรายได้เพิ่มจากการเก็บอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 3,593.76 ล้านบาท


GP-3354_180523_0018

สำหรับข้อ 3 นั้น สำนักงาน กสทช. ระบุว่า เมื่อทั้ง 2 บริษัท ได้รับสิทธิในการขยายระยะเวลาชำระค่างวดออกไป มีความเป็นไปได้สูงว่า บริษัทจะกลับมาเข้าร่วมแข่งขันประมูล เนื่องจากวงเงินกู้จากสถาบันการเงินได้รับการขยายออกไปด้วยเช่นกัน และบริษัทยังมีโอกาสเฉลี่ยต้นทุน


รัฐได้ 1.2 แสนล้าน
ส่วนข้อที่ 4 นั้น คณะทำงานเชื่อว่า หาก กสทช. เปิดประมูลคลื่นผู้ประกอบการมือถือทั้ง 3 ราย คือ เอดับบลิวเอ็น, ทียูซี และบริษัท ดีแทค ไตรเนต เน็ตเวิร์ก จำกัด หรือ ดีทีเอ็น เข้าร่วมประมูลด้วย จะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ถ้าประมูลได้ทั้ง 3 ใบอนุญาต รัฐจะได้เงิน 120,477.72 ล้านบาท หากประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 80,318.48 ล้านบาท ประมูล 1 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 40,159.24 ล้านบาท

ส่วนข้อที่ 5 ถ้ากรณีไม่มีการประมูลและ คสช. ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ สำนักงาน กสทช. จะมีรายได้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินรวมถึงปี 2567 เป็นยอดเงิน 166,991.16 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) โดยแบ่งเป็นชำระค่าคลื่น 1800 ในงวดที่ 3 ของเอดับบลิวเอ็น จำนวน 10,246.50 ล้านบาท และทียูซี จำนวน 9,948 ล้านบาท ค่างวดคลื่น 900 ในงวดที่ 2 ของเอดับบลิวเอ็น 4,020 ล้านบาท และทียูซี จำนวน 4,020 ล้านบาท ค่างวดคลื่น 900 ในงวดที่ 3 ของเอดับบลิวเอ็น วงเงิน 4,020 ล้านบาท และงวดที่ 4 ของเอดับบลิวเอ็น จำนวน 59,574 ล้านบาท และทียูซี จำนวน 60,201.8 ล้านบาท


3 คลื่น รายได้ 2.9 แสนล้าน
หากจัดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดย คสช. มีคำสั่งขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอีก รัฐจะมีรายได้รวมถึงปี 2567 ในกรณีใบอนุญาต 3 ใบ มีรายได้ 291,314.20 ล้านบาท

แบ่งเป็นค่างวดคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของเอดับบลิวเอ็น จำนวน 10,246.50 ล้านบาท และทียูซี ในงวดที่ 3 จำนวน 9,948.00 ล้านบาท ส่วนค่างวดที่ 2 ค่ายละ 4,020 ล้านบาท และค่างวดที่ 3 อีกค่ายละ 4,020 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 99,052.58 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ในส่วนของการยืดชำระค่างวดคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ทั้งเอดับบลิวเอ็นและทียูซี รวมทั้งสิ้น 192,261.62 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ส่วนข้อที่ 7 หากจัดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และขยายเวลาชำระหนี้ออกไป รัฐจะมีรายได้รวมถึงปี 2567 กรณีใบอนุญาต 2 ใบ รัฐจะมีรายได้ 251.154.96 ล้านบาท


เชื่อไม่มีฟ้อง
ส่วนในกรณีจะเกิดการฟ้องร้องในภายหลังหรือไม่ หาก คสช. เห็นชอบให้ขยายเวลาชำระค่างวดออกไป การฟ้องร้องไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากบริษัทที่เคยชนะประมูลแต่ทิ้งใบอนุญาต คือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ขาดสิทธิในการฟ้องร้อง ส่วนบริษัท DTN จะได้รับสิทธิในเงื่อนไขการชำระค่าประมูล ที่ กสทช. กำหนดไว้ในการประมูลครั้งต่อไป ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียม

อีกทั้ง ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท DTN ยืนยันผ่านสื่อว่า การประมูลครั้งที่ผ่านมา สูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่าตัว ดังนั้น การขยายระยะเวลาการชำระเงินให้กับผู้ชนะประมูล ทางดีทีเอ็นไม่ขัดข้อง แต่ให้นำเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไปใส่ในการประมูลคลื่น 1800 หรือ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากนำคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ มาเปิดประมูล จะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอีก 90 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5จี และ Internet of Things จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวดเร็วยิ่งขึ้น

แม้สำนักงาน กสทช. ยอมเปิดเอกสารให้กับสื่อมวลชน เพื่อแจกแจงรายละเอียดถี่ยิบ หวังให้ คสช. ประกาศใช้ ม.44 ยืดค่างวดมือถือคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับเอไอเอสและทรูมูฟ

จากนี้ คงต้องติดตามว่า บรรดานักวิชาการ โดยเฉพาะนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และเอ็นจีโอ ที่ออกมาคัดค้าน จะมีท่าทีอย่างไร

เพราะต้องไม่ลืมว่า การยืดค่างวด แม้จะมีการจ่ายดอกเบี้ย หากแต่ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายอยู่ที่ 1.5% ต่อปี ทั้งที่ตามเงื่อนไขการประมูล การจ่ายค่าประมูลล่าช้านั้น ต้องคิดดอกเบี้ยถึง 15% ต่อปี ส่วนต่างดอกเบี้ยรายละ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือรวมกันเกือบ 3 หมื่นล้านบาท เลยทีเดียว


……………….
รายงานพิเศษ โดย โต๊ะข่าวไอที

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 20


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ที่นี่ไม่มีความลับ : ไส้เดือน (น้อย) โดนขี้เถ้า เมื่อบิ๊กกสทช.ดิ้น ข้อหาอุ้มมือถือเศรษฐี
อย. - กสทช. เดินหน้าสั่งระงับออกอากาศโฆษณาที่ผิดกฎหมาย


e-book-1-503x62-7