ชวลิต จันทรรัตน์ ตอบโจทย์ รับมือวิกฤติน้ำแล้ง

30 ม.ค. 2559 | 02:00 น.
สถานการณ์ภัยแล้งกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ แม้จะมีบทเรียนจากปีที่แล้ว แต่ปีนี้ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและนักวิชาการประเมินว่าปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำในปีนี้นับว่าวิกฤติสูงสุดในรอบ 50 ปีจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง ลดลงกว่าปีที่แล้วถึง 2 เท่า ภาคประชาชน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม จะแบ่งสันปันส่วนการใช้น้ำกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติแย่งชิงน้ำ "ชวลิต จันทรรัตน์" กรรมการบริหาร ทีม กรุ๊ป นักวิชาการทางด้านน้ำภายในประเทศ ฉายภาพว่า

จากข้อมูลของ Naitoinal Oceanic and Atmospheric Adminstration หรือ NOAA ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าการเกิดปรากฏการณ์ เอลนิโญ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ทำให้เกิดฝนน้อย น้ำน้อย อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก เกือบทั้งหมดสูงกว่าปกติมาก และปรากฏการณ์ เอลนิโญ ยังจะมีความรุนแรงไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ และกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก็ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน

  ฝนตกไม่ช่วยน้ำให้เข้าเขื่อน

การเกิดเอลนิโญ ประเทศทางตะวันตกมองว่าเป็นซูเปอร์ เอลนิโญ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม เกิดพายุทอร์นาโด หิมะตกหนัก ประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลของมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่บ้าง แต่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ผลกระทบจึงไม่มาก แต่ที่น่าห่วงก็คืออุณหภูมิที่ร้อนขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น 60 เซนติเมตรในอีก 85 ปีข้างหน้า เกาะบางเกาะอย่างมัลดีฟจะหายไป ส่วนไทยแผ่นดินตามชายหาดจะถูกกัดเซาะกว่า 1.5 พันไมล์ทะเล เกิดเฮดแลนด์ ต้องเร่งสร้างสมดุล ป้องกันตัวเอง

"ขณะนี้แม้จะมีฝนตกบ้าง แต่ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ สภาพอากาศยังคงแปรปรวน ฝนตกเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและไม่ได้ลงไปเติมน้ำในเขื่อน ภัยแล้งไม่ได้หายไป ไม่ควรประมาท ฝนที่ตกช่วงนี้เกิดจากอากาศเย็นจากประเทศจีน พัดเข้ามาอย่างรวดเร็ว ปะทะกับลมอุ่นของเมียนมา ทำให้เกิดความชื้นฝนตก และฝนที่ตกตอนนี้ก็ซึมหายไปหมดจากดินที่แห้ง ไม่ได้ทำให้น้ำเข้าเขื่อนเพิ่ม" กูรูน้ำกล่าว

 นาปรัง 2 ล้านไร่ผวาขาดน้ำ

เมื่อย้อนกลับมาดูที่ภาคการเกษตร แม้รัฐบาลประกาศห้ามปลูกข้าวนาปรังตั้งแต่ (วันที่ 1 พ.ย. 58 - 15 ม.ค.59) แต่กลับพบว่ามีการปลูกข้าวนาปรังร่วม 2 ล้านไร่ ขณะที่ปริมาณน้ำในภาคการเกษตรที่จะใช้ได้เพียงพอมีอยู่เพียง 3.3 แสนล้านไร่หรือไม่เกิน 4 แสนไร่เท่านั้น ส่วนที่เกินมาร่วม 1.6 ล้านไร่จะเอาน้ำที่ไหนมาหล่อเลี้ยงต้นข้าว ซึ่งก็ต้องสูบน้ำจากแหล่งของตัวเอง หรือขุดน้ำบาดาล

ดังนั้นพวกที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำจะได้รับผลกระทบ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สุโขทัย กำแพงเพชร จะแล้งก่อน ข้าวตายก่อน แต่ถ้าสูบน้ำไปกักตุนในไร่นา ก็ไม่เกิดประโยชน์เพราะน้ำจะระเหยเร็ว และจะแล้งสุดในเดือนเมษายน ขณะที่น้ำใน 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมกันมีอยู่ 3,516 ล้าน ลบ.ม. หรือ 56 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้วปริมาณน้ำที่หายไปครึ่งหนึ่ง มีการปล่อยน้ำวันละ 18 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

"ปัญหาการแย่งชิงน้ำเกิดขึ้นแน่เชื่อว่าไม่เกินเดือนมีนาคมนี้ชาวบ้านต้องร้องขอน้ำจากรัฐบาลเพื่อหล่อเลี้ยงข้าวนาปรังที่ปลูกเกินมา 1.6 ล้านไร่ ส่วนรัฐจะยอมปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเสียงเรียกร้องของชาวบ้าน" ชวลิต กล่าว

 หนุนมาตรการประหยัดน้ำ

อย่างไรก็ดีเมื่อหันมาดูการจัดสรรน้ำของรัฐจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ 1. น้ำเพื่อปลูกข้าวจะใช้วันละ 10 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันรองรับพื้นที่เกษตรไม่เกิน 4 แสนไร่ 2.น้ำที่ต้องใช้ในการรักษาระบบนิเวศวันละ 5-7 ล้านลบ.ม.ต่อวันขึ้นอยู่กับช่วงข้างขึ้น ข้างแรม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลหนุน เข้าแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ทำให้น้ำประปากร่อย 3. น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมวันละ 3 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งต้องมี รีดิว รียูส และรีไซเคิล การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ และ 4. น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค วันละ 5 ล้านลบ.ม.ต่อวัน

กรรมการบริหารทีมกรุ๊ป ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ทางออกก็ต้องอะลุ้มอล่วยในการใช้น้ำ บริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ โดยไม่ผลักภาระไปให้กับภาคเกษตรกรเพียงอย่างเดียว คนกรุงเทพมหานครหรือภาคส่วนอื่น ๆ ก็ต้องมีส่วนร่วมในการรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด เช่น ช่วยกันลดการใช้น้ำประปาในแต่ละวัน ผมเสนอควรจะลด 20 % แต่การประปานครหลวง อาจจะเริ่มออกประกาศให้ลดลง 10 % ก็ทำให้ประหยัดไปได้วันละ 5 แสนล้านลบ.ม. จากการลดการปล่อยความดันน้ำตั้งแต่ 5 ทุ่มถึงตี 5 น้ำที่เหลือจะช่วยภาคเกษตรได้ ทั้งจะมีอินเซนทีฟเป็นแรงจูงใจให้คนช่วยกันประหยัดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำอย่างประหยัดในชีวิตประจำวัน ล้างหน้า แปรงฟัน เปลี่ยนมาใช้ขันแทนก็จะประหยัดได้ 0.5-1 ลิตร (เปิดก๊อกสิ้นเปลืองน้ำ 20-30 ลิตร) ใช้ชักโครก อาบน้ำ ใช้น้ำ 6 ลิตรต่อครั้ง ประหยัดได้ด้วยการใช้ขวดบรรจุน้ำใส่ไว้ในโถน้ำ อาบน้ำ ตักอาบประหยัดที่สุด ยืนอาบในกะละมัง ยังรองน้ำเอาไว้ราดชักโครกได้ ฯลฯ ข้อมูลนี้อิงมาจากต่างประเทศที่ใช้ได้ผลจริง ซึ่งผมก็ทำ

 รัฐบาลหน้าต้องสานต่อ

ส่วนน้ำเพื่อการบริโภคไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลไม่ส่งน้ำให้เกษตรกร แต่อันนี้ต้องถามว่าเป็นธรรมต่อภาคการเกษตรหรือเปล่า เพราะทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน มิใช่เกษตรกรโดดเต็ม ๆ เพราะการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนไม่สามารถทำได้ในทันที ต้องใช้เวลา 5 ปีและปีแรกก็ทำได้เพียงแค่ 5 % เท่านั้นจะเห็นผลในปีที่ 4 และปีที่ 5 ซึ่งรัฐบาลนี้ได้เริ่มไว้แล้ว รัฐบาลหน้าก็ต้องมาสานต่อ

โดยมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่รัฐทำไว้มีถึง 8 มาตรการ อาทิ ลดค่าครองชีพ ลดค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก. เพิ่มรายได้ จ้างงาน ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ขุดเจาะบ่อน้ำบาล พัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มน้ำต้นทุน สนับสนุนสินเชื่อวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น แต่ปัญหาน้ำแล้งรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาระยะยาว ทั้งการจัดพื้นที่ที่เหมาะสม ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวนาปรัง ไปเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย สูบน้ำแบบเปียกสลับแห้ง การทำการเกษตรแปลงใหญ่

การใช้ประชารัฐเข้ามาช่วยการขุดบ่อน้ำในหมู่บ้าน รัฐออกครึ่งหนึ่ง เจ้าที่ดินออกครึ่งหนึ่ง รัฐบาลจะต้องทำอย่างเป็นระบบ การจัดโซนนิ่งการปลูกพืช ซึ่งเกษตรกรคงไม่ชอบนักถ้าไปบังคับ ซึ่งรัฐต้องให้คำแนะนำ สนับสนุนปัจจัยการผลิตเม็ดพันธุ์ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่สำคัญคือการรับซื้อและสนับสนุนทางด้านการตลาด ซึ่งเรื่องสุดท้ายนี้รัฐบาลยังไม่ได้ทำ

ส่วนการทำฝนเทียมนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความชื้นสะพัดถ้าเกิน 60 % ก็ต้องบินทำฝนเทียมและต้องดูว่าตกเหนือเขื่อนหรือท้ายเขื่อน ต้องดึงฝนไปตกในเขื่อน ได้มากน้อยแค่ไหน กูรูน้ำกล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559