ธนารักษ์พ้อ! ‘คนไม่พอกับงาน’ ต้นตอปัญหาจัดการที่ราชพัสดุ

26 พ.ค. 2561 | 11:11 น.
ปัญหาความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์บนที่ราชพัสดุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่าง โครงการบ้านพักตุลาการ ที่หมู่บ้านป่าแหว่ง ริมดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่  ตามมาติดๆด้วยปัญหาผู้มีอิทธิพล เปิดร้านขายของผิดกฎหมายอย่างเสรี  ในตลาดใหม่ดอนเมือง ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุ ทำให้เกิดคำถามว่า กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารที่ราชพัสดุปล่อยให้เกิดปัญหาเรื้อรังเช่นนี้ได้อย่างไร

ต่อประเด็นดังกล่าว “พชร อนันตศิลป์” อธิบดี กรมธนารักษ์ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กรมธนารักษ์มีข้อจำกัดด้านเจ้าหน้าที่จัดผลประโยชน์ โดยเจ้าหน้าที่ 1 คน จะรับผิดชอบที่ดิน 33,811 ไร่และยังต้องดูแลสัญญาเช่าบนที่ดินนั้น 463 ฉบับ มีเป้าหมายรายได้ต่อคน 17 ล้านบาทต่อปี ขณะที่เจ้าหน้าที่จัดผลประโยชน์มีเพียง 370 คนเท่านั้น พชร3 copy

“พอเกิดปัญหาที่ตลาดใหม่ดอนเมือง คนก็บอกว่า ทำไมเราไม่ส่งคนเข้าไปดูแล ก็ด้วยบุคลากรเป็นแบบนี้ คนหนึ่งต้องดูแลถึง 463 สัญญา ซึ่งเป็นแค่ 1 ใน 171,385 สัญญาทั่วประเทศที่มีตั้งแต่ไม่กี่บาทไปจนถึงหลัก ร้อยล้านพันล้านบาท ถามว่า จะเอาคนที่ไหนไปนั่งดูทุกสัญญา ซึ่งผมต่อรองกับทางกระทรวงการคลังว่า เพิ่มคนให้กับผมสิ แล้วจะได้หาผลตอบแทนสูงขึ้นด้วย”

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ “พชร”บอกว่า ช่วยในแง่ข้อมูลเท่านั้น อย่างดอนเมืองที่คนเช่าไปแล้ว นำไปใช้ผิดประเภท ต้องลงไปดูด้วยตัวเอง เทคโนโลยีช่วยไม่ได้ นโยบายหลักๆ จึงเฉลี่ยเจ้าหน้าที่ไปดูสัญญารายใหญ่ แต่ในตลาดใหม่ดอนเมืองเอง ก็มีสัญญารายใหญ่ปนกับรายย่อย ซึ่งใน 171,385 สัญญานั้น อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล 60-70% ขณะที่มีสำนักดูแลกรุงเทพฯและปริมณฑลเพียง 60 คนเท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้ว เจ้าหน้าที่จัดประโยชน์ 1 คน ไม่ควรบริหารสัญญาที่มูลค่าเกิน 100 ล้านบาทมากกว่า 5 สัญญา

ทั้งนี้ที่ราชพัสดุมีทั้งหมด 12.51 ล้านไร่  โดยกรมธนารักษ์บริหารจัดการ 10.36 ล้านไร่ และใช้ในความมั่นคง 2.15 ล้านไร่  ซึ่งในส่วนของกรมธนารักษ์บริหารจัดการไปใช้ประโยชน์ทางราชการ 96% หรือ 9.97 ล้านไร่ เหลือพื้นที่มาจัดประโยชน์หารายได้จริงๆ แค่เพียง 4% โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท ปีที่ผ่านมามีผลตอบแทนจากทรัพย์สิน(ROA) อยู่ที่ 2.6%
news_aSmQFpebdk085650_533 “ถามว่า 2.6% ตํ่ามั้ย ก็ตํ่า แต่ถ้าไปดูไส้ใน กรมธนารักษ์ไม่ใช่กิจการหากำไร เราเป็นส่วนราชการ ซึ่งลักษณะการให้เช่าแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ เพื่อที่อยู่อาศัย ได้ ROA 0.28%  เพื่อการเกษตร ได้ ROA 0.05% ตํ่ามากแทบจะฟรี และเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งแบ่งเป็นที่ดินและอาคาร ซึ่งในส่วนของอาคารได้ ROA ที่  7% กว่าๆ”

ดังนั้นเมื่อปี 2559  กรมธนารักษ์จึงได้ออกคำสั่งปรับเพิ่มขึ้นค่าเช่าที่ราชพัสดุทั่วประเทศ ปรับขึ้นครอบคลุมทั้งหมด ไม่ได้ดูรายละเอียด ทำให้มีปัญหาไปทุกหย่อมหญ้า จึงได้ออกประกาศใหม่ช่วงปลายปีก่อน ให้เป็นธรรมมากขึ้นทำให้ผลประกอบการน่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป้าหมายอยู่ที่ 4% เป็นกรอบ การทำงาน 5 ปี นับจากปีงบประมาณ 2561

“ค่าเช่าที่ราชพัสดุที่ปรับขึ้นน่าจะทยอยมีผลในปีที่ 3 ปีที่ 4 และปีที่ 5 สำหรับผู้เช่ารายเดิม แต่ถ้าเป็นผู้เช่ารายใหม่ ก็คิดอัตราใหม่เลย  แต่ส่วนใหญ่ผู้เช่าที่ราชพัสดุมักจะเป็นผู้เช่ารายเดิม เป็นการส่งไม้ต่อๆมา ผู้เช่ารายใหม่ยังเปิดประมูลน้อย แต้ถ้าเป็นผู้เช่ารายใหญ่ ก็ได้ผลตอบแทนที่ 7% อยู่แล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเองต้องการให้สูงกว่านี้ ต้องมาดูว่ากลุ่มไหน ถ้ามุ่งไปที่กลุ่มพาณิชย์ผลตอบแทนก็อาจจะได้ 2 หลักไปเลย ซึ่งเรากำลังดูว่าอาจจะเพิ่มค่าเช่าพาณิชย์อีกเช่นกัน แต่ถ้าเกษตรหรือที่อยู่อาศัยก็คงไม่ใช่ เพราะรัฐไม่ใช่คนแสวงหากำไร”

กรมธนารักษ์ยังปรับสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้เหมือนสัญญาสัมปทาน เดิมจะแยกสัญญาก่อสร้างกับสัญญาบริหารออกจากกัน แม้เป็นผู้ประมูลรายเดียวกัน ทำให้บางครั้งก่อสร้างไม่เสร็จ ยอมจ่ายค่าปรับ แต่นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นแทน ทำให้ไม่เริ่มสัญญาบริหาร ซึ่งรัฐจะเสียเปรียบในแง่อายุสัญญา ไม่ได้เริ่มนับหนึ่ง แต่ต่อไปจะเหลือสัญญาเดียว กรณีสัญญาบริหารไม่เดินหรือประมูลแล้วยังไม่ก่อสร้าง จะกำหนดวิธีบริหารให้ชัดเจน วิธีสุดท้ายคือยกเลิกไปเลย

“หน้า 23-24 เซ็กชั่นการเงิน”หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 3,368 วันที่ 24-26 พฤษภาคม 2561

e-book-1-503x62-7