บสส.เตรียมซื้อหนี้รับอานิสงส์IFRS9

29 พ.ค. 2561 | 07:07 น.
บสส.จ้างที่ปรึกษารับมือ มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9  มั่นใจเสร็จทันบังคับใช้ปี 62 เผยเห็นแบงก์เร่งเทขายหนี้เสียสู่ระบบ หลังภาระตั้งสำรองเพิ่ม ระบุเดินหน้ารับซื้อหนี้ทั้งปี 1 หมื่นล้านบาท จาก 4 เดือนแรก ซื้อไปแล้ว 3.3 พันล้านบาท

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด(บสส.) หรือ SAM เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 โดยได้จ้างทีมที่ปรึกษามาศึกษาวิเคราะห์ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อให้ทัน IFRS9 ที่มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2562 ส่วนจะเลื่อนบังคับใช้หรือไม่นั้น ก็คงไม่มีผลกระทบ เนื่องจากได้มีแผนรองรับไว้เรียบร้อย

ส่วนผลกระทบจาก IFRS9 ต่อบริษัทบริหารสินทรัพย์(AMC) นั้น จะเป็นเรื่องการลงบัญชีการประเมินสถานะมูลค่าหลักประกันและสินทรัพย์หลักประกันของลูกค้าแต่ละประเภทในอนาคต จากเดิมจะดูสถานะและมูลค่าหลักประกัน ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินต้องสำรองเพิ่มขึ้น จึงจะเห็นว่า สถาบันการเงินทยอยตัดขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ออกมาในตลาดเยอะมากขึ้น ซึ่งในทางกลับกันจะเป็นโอกาสและเป็นผลดีต่อธุรกิจบริหารสินทรัพย์

sam

 

“หาก IFRS9 บังคับใช้ จะเห็นสถาบันการเงินเข้มข้นในการควบคุมหนี้เสียมากขึ้น เพราะมีภาระที่ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นทันที 100% จากเดิมที่เป็นการทยอยตั้งสำรองตามสัดส่วน ดังนั้นหากบริหารจัดการไม่ดีอาจมีผลขาดทุนหรือมีต้นทุนไม่คุ้มความเสี่ยง เพราะโดยเฉลี่ยเอ็นพีแอลที่อยู่ในมือจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยกลับมาแค่ประมาณ 2-3% ดังนั้น ตามมาตรฐานบัญชีใหม่สถาบันการเงินไม่ควรมีเอ็นพีแอลในมือเกิน 3% เพราะจะทำให้มูลค่าผลประกอบการไม่ดี”

สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ มองว่า ภาพรวมเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินยังคงมีต่อเนื่อง โดยบริษัทตั้งเป้าซื้อหนี้เอ็นพีแอลมาบริหารทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านบาท โดยตัวเลข ณ 30 เมษายน ได้เข้าประมูลซื้อและรับโอนภาระหนี้เอ็นพีแอลรวม 3,360 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภทธุรกิจขนาดใหญ่ Corporate มูลค่ามากกว่า 200 ล้านบาท จำนวน 1,311 ล้านบาท และประเภทธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs มูลค่าตํ่ากว่า 200 ล้าน จำนวน 2,053 ล้านบาท

ปัจจุบันสัดส่วนลูกหนี้พอร์ตแบ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 25% เอสเอ็มอี 55% และที่เหลือราว 20% เป็นพอร์ตที่อยู่อาศัย และ ณ เดือนเมษายน บริษัทมีสินทรัพย์คงเหลือ แบ่งเป็นเอ็นพีแอล 1.91 หมื่นรายการ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นราว 3.492 แสนล้านบาท คิดเป็น 75% และเอ็นพีเอ 3,915 รายการ คิดเป็นมูลค่าราว 2.25 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 25%

อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น คาดว่า ทั้งปีการรับซื้อหนี้น่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนเป้าหมายส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ พยายามรักษาให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 7,000-8,000 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมการแข่งขันน่าจะสูงขึ้นและรุนแรงขึ้น จะเห็นว่ามีบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาแข่งขัน ซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันให้รุนแรงขึ้นย่อมมีผลเรื่องของราคา แต่อาจจะไม่เห็นการลดลงมากนักเพราะเป็นไปตามกลไกของตลาดโดยมองว่าเป็นประโยชน์ต่อระบบสถาบันการเงินและบริษัท AMC ที่จะแข็งแกร่งขึ้น

e-book-1-503x62