รัสเซียส่อแววถดถอยซ้ำ หลังจีดีพีปี58หดตัว3.7%

29 ม.ค. 2559 | 06:00 น.
เศรษฐกิจรัสเซียในปี 2558 หดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 6 ปี จากผลพวงของมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก และราคาน้ำมันที่ลดลงกดดันค่าเงินรูเบิล

สำนักงานสถิติแห่งชาติรัสเซียเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาหดตัวลง 3.7% หลังจากเศรษฐกิจมีการขยายตัว 0.6% เมื่อปี 2557 โดยเศรษฐกิจรัสเซียเผชิญกับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก และค่าเงินรูเบิลที่อ่อนตัวลงใกล้เคียงระดับต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์

ขณะที่ดัชนีเศรษฐกิจอื่นๆ บ่งชี้ถึงสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอย่างมากในช่วงปลายปีก่อน โดยยอดขายธุรกิจค้าปลีกลดลงกว่า 15% ในเดือนธันวาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ส่วนการลงทุนลดลง 8.7%

วิลเลียม แจ๊คสัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโศจากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วงเดือนธันวาคมเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง "ข้อมูลเน้นย้ำให้เห็นว่า ในขณะที่จุดต่ำสุดของวิกฤติเศรษฐกิจในรัสเซียผ่านพ้นไปแล้ว แต่เศรษฐกิจยังอ่อนแออยู่มาก ราคาน้ำมันที่ลดลงระลอกล่าสุด ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินรูเบิลหมายความว่า โอกาสที่เศรษฐกิจจะถดถอยเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันมีเพิ่มมากขึ้น"

ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงแล้วกว่า 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ เป็นสกุลเงินที่ทำผลงานได้ย่ำแย่ที่สุดใน 24 สกุลเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จากการติดตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวลงต่อเนื่องในปีนี้ในระดับ 1% ก่อนที่จะกลับมาเติบโตได้ 1% ในปี 2560

อย่างไรก็ดี อัตราการหดตัวของเศรษฐกิจในปีนี้น้อยกว่าที่หลายฝ่ายกังวล และไม่มีเหตุการณ์ของการตื่นตระหนกเกิดขึ้นซ้ำร้อยเดือนธันวาคม 2557 ที่ผู้คนแห่ซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโรหลังจากค่าเงินรูเบิลอ่อนลงถึง 80 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

เจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียกล่าวยอมรับว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงอาจทำให้รัสเซียต้องทบทวนงบประมาณประจำปี 2559 ใหม่ ซึ่งเป็นงบประมาณที่คำนวณโดยใช้พื้นฐานราคาน้ำมันประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทำรายได้ให้กับรัสเซียประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด

ผู้บริโภคชาวรัสเซียได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้น อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นถึง 12.9% เมื่อปีก่อน กดดันให้ค่าแรงลดลง 9.5% ยอดขายสินค้าขนาดใหญ่ อาทิ รถยนต์ ลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันชาวรัสเซียจำนวนมากงดการใช้จ่ายเงินเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จำนวนการเดินทางไปต่างประเทศของชาวรัสเซียลดลง 31.4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558

อย่างไรก็ดี คริส วีเฟอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษา แมคโคร แอดไวซอรี กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตกและเงินรูเบิลที่อ่อนค่าช่วยทำให้ความต้องการหันเหเข้ามาสู่ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศมากขึ้น "ผู้คนจำนวนมากอาจจะไม่พอใจกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่ไม่ถึงขึ้นออกมาประท้วง พวกเขาไม่มีกำลังซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ยังสามารถซื้อสินค้าจำเป็นได้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559