จากจีนสู่ไทย ... ทำไมต้อง 4G TDD บนคลื่น 2300MHz

23 พ.ค. 2561 | 06:44 น.
230561-1324 4glte-banner-2

… พลันที่ 'ดีแทค' หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดตัวทดสอบสัญญาณภายใต้แบรนด์ 'DTAC-T' บนคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ ด้วยเทคโนโลยี 4G LTE-TDD เพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งบนโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ตไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ดีแทคได้มีการทดสอบสัญญาณจำนวน 10 แห่ง ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ไล่เรียงตั้งแต่ สุขุมวิท, สาทร-นราธิวาสราชนครินทร์, สีลม, ราชประสงค์ และพระราม 3 เป็นต้น


dtac



ทุ่มงบ 1.8 หมื่นล้าน
ไม่เพียงเท่านี้ ดีแทควางแผนลงทุนในคลื่น 2300MHz ด้วยงบลงทุน (CAPEX) ปี 2561 ประมาณ 15,000-18,000 ล้านบาท สำหรับการขยายสถานีฐานและเสาสัญญาณ โดยเมื่อหักลบค่าใช้บริการระหว่างกัน ดีแทคสามารถให้ค่าตอบแทนแก่ทีโอทีเป็นจำนวน 4,510 ล้านบาทต่อปี จนถึงปี 2568 ทั้งนี้ ดีแทควางแผนที่จะขยายบริการบนคลื่น 2300MHz ไม่ต่ำกว่า 37 จังหวัด ในปีนี้ โดยพื้นที่แรกที่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ จะเน้นไปที่บริเวณที่มีการใช้งานดาต้าสูง และพร้อมเปิดให้บริการภายในไตรมาส 2 ของปีนี้


S__5791806




กระตุ้นคลื่น 2300
หลังจากเปิดทดสอบคลื่น 2300 ไปแล้ว ดูเหมือนว่า 'ดีแทค' เดินหน้าขับเคลื่อนคลื่น 2300 ให้กับผู้บริโภคเพื่อให้เกิดแรงจูงใจหันมาใช้บริการดีแทค หลังสูญเสียตำแหน่งเบอร์ 2 ให้กับทรูมูฟ เอช โดยดีแทคได้ส่งเพรสถึงสื่อมวลชน ภายใต้หัวข้อ "จากจีนสู่ไทย ทำไมต้อง 4G TDD บนคลื่น 2300MHz" ในเนื้อหาระบุว่า

อาลีเพย์ (Alipay), รถไฟความเร็วสูง, ธุรกิจบริการแชร์จักรยาน และการค้าอี-คอมเมิร์ซ ได้รับการขนานนามว่า เป็น 4 นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน หากไม่นับรถไฟความเร็วสูง นวัตกรรมที่พลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจจีนเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากขาดปัจจัยพื้นฐานสำคัญ คือ โครงข่าย 4G ประสิทธิภาพสูง ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบไร้สายผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว


4G1



กระตุ้นเศรษฐกิจดิจิตอลจีน
4G นับได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังสำคัญของเศรษฐกิจดิจิตอลจีน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อจีนมาก มีมูลค่ากว่าร้อยละ 30 ของ GDP แม้ว่าในขณะนี้ ความสนใจของหลายประเทศ รวมทั้งจีนเอง คือ เร่งพัฒนาเทคโนโลยีและโครงข่าย 5G เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตอันใกล้ แต่ด้วยความสำคัญของ 4G ต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงทำให้การพัฒนา 4G ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุม ยังคงเป็นยุทธศาสตร์ที่จีนให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างจริงจังมาโดยตลอดมา


ครอบคลุมพื้นที่ในปีนี้
นอกจากนี้ ในปี 2557 ประเทศจีนได้ประกาศตั้งเป้าขยายเครือข่าย 4G ให้ครอบคลุมเมืองใหญ่ต่าง ๆ และเขตชนบททั่วประเทศ ภายในปี 2560 เพื่อเป็นแรงขับเคลื่นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านการค้าอี-คอมเมิร์ซ โดยพุ่งเป้าการขยายฐานไปยังภาคเกษตรกรรมและพื้นที่ชนบท (Rural E-Commerce) ซึ่งถือได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ของอี-คอมเมิร์ซจีน ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างมูลค่านับหมื่นล้านเหรียญในแต่ละปี นอกจากนี้ ยังเป็นการที่จะส่งเสริมเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ที่ต้องอาศัย 4G ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things (IoTs), Machine-to-Machine (M2M) และ Cloud Technology เป็นต้น


Enterprise-Solutions-CMHK-Greater-China-Plans



เทคโนโลยีใหม่ คือ ทางออก
เมื่อ 4G มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนขนาดนี้ ประกอบกับ การที่จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกกว่า 1.42 พันล้านคน ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้มีปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่สูงมากมายมหาศาล การจัดสรรคลื่นความถี่และเลือกใช้เทคโนโลยีสำหรับเครือข่าย 4G ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับจีนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา "อะไร คือ ทางออกของจีน?" และ "ทางออกนั้น จะสามารถเป็นคำตอบสำหรับไทย ซึ่งมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลและมีความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์มือถือที่สูงไม่แพ้ชาติใดในโลก ได้หรือไม่?"

 

Attach (2)



จากจีน 4 ปี กับ 4G TDD
อย่างไรก็ตาม จีนเริ่มมีการใช้งาน 4G เชิงพาณิชย์ครั้งแรก เมื่อเดือน ธ.ค. 2555 ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีเครือข่ายผู้ลงทะเบียนใช้งาน 4G ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจำนวนการลงทะเบียนใช้งานเพิ่งจะแตะ 1 พันล้านคน ไปหมาด ๆ เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมานี้เอง คิดเป็นกว่าร้อยละ 40.2 ของการลงทะเบียนใช้งาน 4G ทั่วโลก ที่มีประมาณ 2.5 พันล้านคน (ข้อมูลจาก www.mobileworldlive.com) นั่นหมายความว่า โครงข่ายโทรคมนาคมของจีนจะต้องมีศักยภาพสูงเพียงพอ ที่จะสามารถแลกเปลี่ยนรับ-ส่งข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลได้ ซึ่งเทคโนโลยีโครงข่ายสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเอาชนะความท้าทายนี้ คือ เทคโนโลยี 4G TDD นั่นเอง




230561-1335

Attach



ทำไมต้อง 4G TDD บนคลื่นความถี่ 2300MHz
ประเทศไทยนับได้ว่า เป็นประเทศที่มีอัตราการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์มือถือสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากสถิติการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่รวบรวมโดย We Are Social (www.wearesocial.com) ของต้นปี 2018 พบว่า คนไทยมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตกว่า 93.61 ล้านเลขหมาย โดยใช้เวลาเฉลี่ยต่อวัน 4.56 ชั่วโมง บนอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ นับเป็นประเทศหนึ่งในที่ท่องอินเตอร์เน็ตต่อวันมากที่สุดในโลก

เมื่อเทียบอัตราผู้ใช้งานบนคลื่น 2300MHz ของจีน ที่มีมากกว่าไทยประมาณ 10 เท่า ยังรองรับการใช้งานได้เป็นอย่างดี นี่คือ บทพิสูจน์ที่ดีสำหรับความมั่นใจของไทย ที่จะก้าวไปกับคลื่นใหม่บนเทคโนโลยีการสื่อสารชั้นนำ จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือของคนไทย พบว่า มีปริมาณการรับ-ส่งข้อมูลผ่านทางการแชทมากเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ วิดีโอ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยติดอันดับประเทศที่มีการใช้งานยูทูบ โดยเฉพาะการรับชมมากที่สุดในโลกอีกด้วย


4g

ดังนั้น เพื่อรองรับความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และพฤติกรรมในการรับข้อมูลปริมาณมาก ประเทศไทยจึงต้องการการจัดการเครือข่ายและเทคโนโลยี 4G ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยล่าสุด ทีโอทีและดีแทคได้ปลดล็อกคลื่นความถี่ 2300MHz เพื่อนำมาใช้งานร่วมกันเป็นที่เรียบร้อย เพื่อพัฒนาสู่บริการ 4G TDD ต่อไป ซึ่งคลื่นความถี่นี้มีขนาดกว้างมากถึง 60MHz เหมาะกับการรองรับการปริมาณการใช้งานดาต้าที่มากของคนไทยในปัจจุบัน

คาดว่า การมาของคลื่นใหม่ 2300MHz จะช่วยหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของไทยได้เป็นอย่างดี และยกระดับประสบการณ์การใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สายของคนไทยได้ จากนี้ไป เทคโนโลยี 4G TDD จากดีแทค จะมายกระดับโครงข่ายดิจิตอล อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เร่งเปิดให้บริการทั่วประเทศ และจะเป็นอีกบทหนึ่งที่น่าจับตาการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอลในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์


……………….
รายงานพิเศษ โดย โต๊ะข่าวไอที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

4G ดันใช้งาน DATA โตพุ่ง
ทรูมูฟ เอช พัฒนา 4.5G เร็วกว่า 4G ถึง 3 เท่า ด้วยสถานีฐาน 4x4 MIMO กว่า 7,000 สถานี


e-book-1-503x62-7