การยางครึ่งปี ขาดทุน600ล้าน พนักงานระสํ่าหวั่นเลย์ออฟ

26 พ.ค. 2561 | 04:54 น.
กยท.ส่อถังแตก 6 เดือนปีงบประมาณ 2561 ขาดทุนทางบัญชีกว่า 600 ล้าน พนักงาน 3,900 คน ระสํ่า ด้านสหภาพแรง งาน ยันยังไม่มีการเลย์ออฟ ขอความร่วมมือช่วยกันรัดเข็มขัด จับตาสัปดาห์นี้ม็อบยางยกระดับขับไล่ประธานบอร์ด-ผู้ว่าการกยท.

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ที่มีพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานบอร์ด เป็นประธานในที่ประชุมได้มีรายงานผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60- มี.ค.61) ว่า กยท.ขาดทุนทางบัญชีกว่า 600 ล้านบาท สาเหตุจากที่ 3 องค์กร ยางของรัฐ ได้แก่ องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และสถาบันวิจัยยาง ที่ได้ควบรวมเป็นรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีพนักงานรวมกัน 3,990 คนทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก  Enchanting Forest Lane in a Rubber Tree Plantation

ทั้งนี้จากเงินกองทุนพัฒนายางพารา ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 49 ขณะนี้มีผลบังคับใช้ในทุก ๆ ข้อทุกวงเล็บแล้ว ประกอบด้วย (1) ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานกิจการ กยท. ในอัตราส่วนจำนวนไม่เกิน 10% ของเงินกองทุน (2) ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อการปลูกแทน ในจำนวนไม่เกิน 40% ของเงินกองทุน (3) ไม่เกิน 35% เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางในด้านการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การผลิต การแปรรูป การตลาด และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับยางพารา (4)  ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเงิน วิชาการ การศึกษาวิจัย และการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับยางพาราไม่เกิน 5% (5) ค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่เกิน 7%  และ (6) ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางไม่เกิน 3% rubber

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการกำหนดค่าใช้จ่ายข้างต้น ทำให้ไม่สามารถที่จะใช้จ่ายข้ามหมวดได้ ส่วนเงินที่เป็นภาระผูกพันกว่าหมื่นล้านบาทเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายแก่ชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการต่างๆ กับ กยท.ในแต่ละปีก็ถูกล็อกไว้แล้ว ซึ่งเงินส่วนนี้ไม่สามารถที่จะหยิบมาใช้ก่อนได้ ที่ผ่านมาก็ได้พยายามอธิบายให้สำนักงบประมาณเข้าใจ แต่ก็ไม่เข้าใจจึงทำให้เกิดปัญหาเงินขาดดุลบัญชี มองว่าเพื่อเป็นการประหยัดก็อาจจะต้องมีการปลดพนักงานออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายองค์กร เพราะหลายตำแหน่งยังทับซ้อนกันอยู่ บางคนอยู่มากว่า 3 ปีก็ไม่ได้ทำงานเลยแต่ยังรับเงินเดือนอยู่ มองว่าไม่เป็นธรรม ส่วนงบประมาณปี 2562 กยท.ขอไป 1,500 ล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณเพียง 150 ล้านบาทเท่านั้น

ด้านนายจิตติน วิเศษสมบัติ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) กล่าวว่า ได้อยู่ในที่ประชุมและรับทราบปัญหา ยืนยันว่าบอร์ดยังไม่มีนโยบายปลดพนักงาน แต่ได้ขอความร่วมมือให้ทุกคนร่วมกันประหยัด ที่ผ่านมาการบริหารของบอร์ดไม่มีรายได้เพิ่มในองค์กร มีแต่เพิ่มค่าใช้จ่าย จึงอยากเสนอให้รัฐหาคนเก่งด้านตลาดมาบริหารแทน

สอดคล้องกับนายศิวะ ศรีชาย เกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า สัปดาห์นี้ชาวสวนยางทั่วประเทศจะมีมติยกระดับการขับไล่ประธานบอร์ด กยท. และนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. (ปัจจุบันปฏิบัติงานอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี) ซึ่งได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาเปลี่ยนตัวดำเนินการสรรหาใหม่ เพื่อจะได้เร่งรีบดำเนินการแก้ไข คลี่คลายวิกฤติปัญหายางพาราโดยเร็ว

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับวันที่ 24-26 พ.ค. 2561