‘ทรู’ ถอย !- ‘ดีแทค’ นอนมา...ศึกชิงคลื่น 1800 ไม่คึก

26 พ.ค. 2561 | 11:55 น.
ในที่สุดบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายหลังที่ให้บริษัทในเครือ คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) เข้าไปรับเอกสารประมูลคลื่น 1800 จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา อ้างเหตุ 3 ข้อ

เหตุผลที่ กลุ่มทรู ไม่เข้าประมูลครั้งนี้ ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า เนื่องจากคณะผู้บริหาร เห็นว่าไม่สมควรเข้าร่วมประมูลด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1.เรื่องปริมาณคลื่นความถี่ที่ทรูมูฟ เอช มีอยู่ในปัจจุบันที่มีมากถึง 55 MHz ยังมากเพียงพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพการให้บริการของผู้ประกอบการรายอื่นในประเทศแล้ว ปริมาณคลื่นของทรูมูฟ เอช ยังคงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดได้ต่อไปในอนาคต รวมทั้งจะรักษาประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าในเรื่องการใช้งานทั้งวอยซ์และดาต้าที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน

ประเด็นที่ 2 คือ จากการพิจารณารายละเอียดกฎเกณฑ์การประมูลตามเอกสารแล้ว ทั้งเรื่องราคาและข้อกำหนดต่างๆ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ชนะประมูลในครั้งนี้จะมีความได้เปรียบอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

ส่วนเหตุผลข้อสุดท้าย คือ ความเชื่อของกลุ่มทรูในเรื่องของการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ที่จะไม่เข้าร่วมประมูลเพียงเพื่อจะทำให้ราคาสูงผิดปกติเกินกว่าความเป็นจริง หรือสร้างภาระทางการเงินให้แก่ผู้ชนะประมูลแต่อย่างใด

20-3368-in
วงในชี้เป็นไปตามคาด

ขณะที่แหลงข่าวจาก กสทช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นไปตามคาด ทรู ไม่เข้าร่วมประมูลในรอบนี้ เพราะภายหลังที่ ทรู รับเอกสารประมูลคลื่น 1800 ราคาหุ้น ทรู ปรับตัวลดลงเนื่องจากนักลงทุนกังวล เพราะราคาตั้งต้นคลื่นอยู่ที่ 37,475 ล้านบาท ดังนั้นทรู จึงตัดไฟแต่ต้นลม

อย่างไรก็ตาม กสทช.ได้ประเมินสถานการณ์และได้วางแผนรองรับไว้เช่นเดียวกันถ้าในวันที่ 15 มิถุนายน มีผู้มายื่นซองประมูล 2 ราย สามารถประมูลคลื่นได้ แต่ ถ้ามีผู้เสนอเพียงรายเดียว กสทช.จะขยายเวลาไปถึงวันที่ 30 กรกฎาคม และประมูลในวันที่ 4 สิงหาคม 2561 ตามกำหนดการเดิม

“เชื่อว่า เอไอเอส มีสิทธิ์จะไม่เข้าร่วมประมูลเหมือน ทรู แม้จะประมูลคลื่นความถี่ได้แต่ในอนาคตอีก 3-4 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีเปลี่ยนรอสะสมเงินประมูลคลื่น 700 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ของช่อง 3 และ 7 ที่เป็นระบบอนาล็อก มีแผนนำมาจัดสรรเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นคลื่นที่มีความถี่ตํ่าประสิทธิภาพดีกว่าคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์” แหล่งข่าวกล่าว

คลื่นเหลือ 2 สล็อต

แต่ทว่าการประมูลคลื่นครั้งนี้ กสทช.ได้ประเมินและคาดการณ์เอาไว้แล้วว่าคลื่นความถี่ 1800 MHz น่าจะจัดสรรได้ไม่หมดอย่างน้อยอาจจะเหลือ 1-2 สล็อต ตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร รักษาการประธาน กสทช. ที่ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ยอมรับว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz ในครั้งนี้คลื่นอาจจะจัดสรรไม่หมดเพราะใช้สูตรN-1 เนื่องจากผู้ให้บริการมือถือในตลาดมีเพียง 3 ราย ซึ่ง เอไอเอส และ ทรู ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ไปแล้วก่อนหน้านี้

“ส่วนเหตุผลที่ กสทช. กลับมาใช้หลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากกลัวข้อครหา อีกทั้งเอกชนซึ่งได้รับใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้บอกว่าเสียงข้างมากต้องการใช้หลักเกณฑ์เดิม แต่ กสทช.กลับไปฟังเสียงข้างน้อยที่ต้องให้ซอยคลื่นความถี่ใหม่เป็น 9 ใบอนุญาตใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์” นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สุกิจ
4g วัดใจ “เอไอเอส”

เมื่อ ทรู ตัดสินใจถอยฉากจากประมูลคลื่น 1800 ด้วยเหตุผล 3 ข้อที่อ้างข้างต้น ต้องจับตาว่า เอไอเอส จะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ เนื่องจากวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มารับเอกสารจำนวน 2 ชุด ในนามบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และบริษัท แอด
วานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) จะเข้าร่วมประมูลหรือไม่

“ถ้า เอไอเอส ยื่นประมูลโดยส่ง เอดับบลิวเอ็น เข้ามาประมูลแข่งกับ ดีแทค หากมีการเคาะราคาแข่งกันแล้ว ดีแทค ถอยเท่ากับว่า เอไอเอส ก็ได้คลื่น 1800 MHz ไปอีก 1 ใบ ซึ่งตอนนี้ ฝ่ายบริหาร ดีแทค คืออยู่ว่าจะประมูลหรือไม่ เพราะ ดีแทค ต้องการให้ กสทช.ซอยใบอนุญาตจาก 15 MHz มาเป็น 9 ใบอนุญาตใบละ 5 MHz”

รอคลื่นใหม่

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า กรณีที่ ทรู มีการแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการถึงการไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้ถือว่าเป็นไปตามการคาดการณ์ก่อนหน้านี้รวมถึงกระแสข่าวที่มีมาโดยตลอด ทั้งในกรณีราคาคลื่นที่มีมูลค่าสูงตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. วางและกำหนดจากราคาการประมูลครั้งก่อน ซึ่งการเข้าร่วมประมูลคลื่นในครั้งนี้ย่อมเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินที่ต่อเนื่องจากการประมูลที่เพิ่งผ่านไปและทรูเข้าร่วมการประมูลตลอดทั้งคลื่น 2100 1800 และ 900 MHz ถึงแม้ว่าคลื่นความถี่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแข่งขันและสร้างบริการ mobile broadband ที่มีคุณภาพ แต่เอกชนแต่ละรายย่อมต้องมีการประเมินและกำหนดแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาพตลาด จำนวนลูกค้าและเทคโนโลยี

สำหรับ ทรู การมี Bandwidth (ปริมาณรับ-ส่งข้อมูล) ในมืออยู่ 55 MHz ทั้ง Low Band (ความถี่ตํ่า) และ High Band (ความถี่สูง) ถือว่ายังมีศักยภาพในการรองรับลูกค้าในปัจจุบันได้ การเลือกไม่เข้าร่วมประมูล ณ ขณะนี้ไม่ได้หมายความว่า ทรู จะไม่สนใจการได้คลื่นมาเพิ่มแต่น่าจะเป็นการรอจังหวะเวลา ราคา และตัวคลื่นที่เหมาะสมในการสร้างบริการใหม่ๆ สำหรับอนาคตของตัวเองมากกว่า

นอกจากนี้นายสืบศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่น่าจับตามองจะโฟกัสไปที่จำนวนผู้สนใจที่เหลืออยู่ว่าจะเหลือมายื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลกี่ราย ซึ่งจะเป็นการกำหนดตัวจำนวนใบอนุญาตที่จะถูกนำออกมาประมูลได้ตามกฎ N-1 ทั้งนี้ยังเหลือเวลาสำหรับเอกชนที่สนใจจะรับซองหลักเกณฑ์การประมูลและอีก 1 เดือนจึงจะเสนอเอกสารเสนอตัวเข้าประมูล

3 ค่ายโชว์งบไตรมาสแรก

ขณะที่ 3 ค่ายมือถือได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2561 โดยค่ายมือถือเบอร์ 1 เอไอเอส มีกำไรสุทธิ 8,037 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% ลูกค้ามือถือ 4 จี คิดเป็น 50% และมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 571,800 ราย, ส่วนทรู ผลการขาดทุนลดลงเป็น 387ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลขาดทุน 1,152 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2560 โดย EBITDA ของกลุ่มทรู เพิ่มขึ้น 23.0% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ลูกค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 27.63 ล้าน
ราย ประกอบด้วยลูกค้าระบบเติมเงิน 20.56 ล้านราย และลูกค้าระบบรายเดือน 7.07 ล้านราย ทรูออนไลน์ ลูกค้าบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 1.15 แสนราย เป็น 3.3 ล้านราย และ ทรูวิชั่นส์ มีฐานลูกค้ารวมประมาณ 4 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2561

ขณะที่ ดีแทค กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าในไตรมาส 1 ปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 229 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญของไตรมาสนี้อยู่ที่ค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่ลดลง ส่วนลูกค้าของทาง DTAC ไตรมาส 1 อยู่ที่ 21.812 ล้านเลขหมาย ลดลง 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว ซึ่ง DTAC มีลูกค้า 24.310 ล้านเลขหมาย ARPU เฉลี่ยต่อเลขหมายอยู่ที่ 240 บาท เพิ่มขึ้น 8.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว

ว่ากันว่าก่อน ทรู ประกาศไม่ร่วมประมูลช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาผู้บริหาร กสทช. เดินทางไปร่วมคณะทัวร์กับผู้บริหารทรู ในต่างประเทศ การไปครั้งนี้มีนัยจนกระทั่ง ทรู ตัดสินใจในครั้งนี้

สุดท้ายการประมูลคงไม่คึกคักเพราะ ทรู ประกาศตัวชัดเจน ส่วน “ดีแทค” คงไม่ทิ้งคลื่น 1800  MHz  เพราะมีผู้ใช้บริการอยู่กว่า 5 แสนราย

 

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

รายงาน | โดย...โต๊ะข่าวไอที | หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,368 วันที่ 24-26 พ.ค.61