‘ศูนย์เศรษฐกิจกรุงเทพฯ-ปริมณฑล’ ผังเมืองกับแผนบูรณาการร่วมภาครัฐ-เอกชน

27 พ.ค. 2561 | 04:50 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

25554541 “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของศูนย์เศรษฐกิจกรุงเทพฯและปริมณฑล ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายการขนส่งทางราง”

นอกจากการวางผังสร้าง “ศูนย์เศรษฐกิจ” ให้มีความกระชับแล้วสหรัฐอเมริกายังสนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งทางรางในพื้นที่เขตเมือง ทั้งนี้จากประสบการณ์การพัฒนาเมืองตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth Principles) ได้ชี้ให้เห็นว่าระบบขนส่งมวลชนเป็นโครงข่ายการสัญจรสีเขียว (Green Mobility) ประเภทเดียวที่มีอิทธิพลต่อการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงรูปทรงเมืองให้เกิดการกระชับ ช่วยส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจให้หนาแน่นบริเวณรอบสถานี ที่สำคัญคือการมีอิทธิพลทางตรงต่อการสร้างเมืองแห่งการเดิน (Walkable City) และการยกระดับการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจให้เติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ตัวชี้วัดหลักที่ Smart Growth ใช้คาดการณ์การเติบโตของศูนย์เศรษฐกิจ จึงได้แก่ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง มวลชน ตั้งแต่ระดับ “สูงสุด” ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่รอบสถานีที่เป็นศูนย์รวมโครงข่ายการขนส่งมวลชน (Multimodal Transportation Center) โดยมีรัศมีการพัฒนาถึง 3,200 เมตร ระดับ “ปานกลาง” ได้แก่ พื้นที่บริเวณรอบสถานีที่อาจมีพื้นที่พัฒนารัศมีถึง 1,600 เมตร (กรณีมีการรวมรูปแบบการเดินทางมากกว่า 2 รูปแบบ) และระดับ “ตํ่า”
ได้แก่ พื้นที่ 2 ข้างทางขนส่งทางรางที่มีรัศมีพัฒนาในระยะ 200 เมตร

TP31-3368-A

 

ในการคาดการณ์การเติบโตของ “ศูนย์เศรษฐกิจใหม่ของกรุงเทพฯและปริมณฑล” ผู้เขียนได้ศึกษาจากสภาพปัจจุบันตามเกณฑ์ Smart Growth เน้นความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและการขนส่งทางรางในบริเวณที่รัฐและเอกชนได้ลงทุนไว้แล้ว และในบริเวณที่รัฐหรือเอกชนได้วางแผนการลงทุนในอนาคต โดยโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวได้แก่ ท่าอากาศยาน รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในเมือง รถขนส่งมวลชนระบบรอง โครงข่ายถนน โครงข่ายทางด่วนและโครงข่ายการขนส่งทางนํ้า

ทั้งนี้ ได้แบ่งลำดับ “ศักย์ศูนย์เศรษฐกิจใหม่” ออกเป็น 3 ระดับ โดยศูนย์ประเภทที่ 1 มีกิจกรรมอาคารสำนักงานเป็นตัวขับเคลื่อน ศูนย์ประเภทที่ 2 มีศูนย์การค้าปลีกเป็นตัวขับเคลื่อน และศูนย์ประเภทที่ 3 มีศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าเป็นตัวกระตุ้นการพัฒนา


จากการศึกษาได้พบว่าแนวระเบียงด้านทิศเหนือได้รับอิทธิพลจากการลงทุนโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ โครงข่ายถนน โครงข่ายทางด่วน และอิทธิพลของสถาบันการศึกษาทำให้มีโอกาสเติบโตในอนาคตสูง

โดยจะพบว่า “ศูนย์เศรษฐกิจสระบุรี” นั้นมีโอกาสพัฒนาได้มากกว่าศูนย์เศรษฐกิจอื่นในพื้นที่ข้างเคียง เนื่องจากมีจุดเด่นดังนี้คือ ตำแหน่งที่ตั้ง (Location) เป็นพื้นที่เนิน ไม่มีปัญหานํ้าท่วม ประกอบกับมีการเชื่อมโยง (Linkage) โครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สมบูรณ์ สามารถกระจายการขนส่งได้ทุกทิศทาง และมีรูปแบบการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่หลากหลาย นอกจากนั้น พื้นที่ด้านเหนือของตัวเมืองสระบุรี ภาคการพัฒนาเมืองและภาคเอกชนขนาดใหญ่ได้มีแผนการสร้างเมืองใหม่เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าอากาศยานในอนาคตไว้อีกด้วย

สำหรับแนวระเบียงด้านทิศตะวันออก จะมีเพียงศูนย์ร่มเกล้า-สุวรรณภูมิ และศูนย์บางนา-เทพารักษ์ที่มีโอกาสในการเติบโตมากในอนาคต เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในรัศมีการพัฒนา ของท่าอากาศยาน (Airport-Oriented Development) และพื้นที่ให้บริการของโครงข่ายรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวเฉพาะพื้นที่ย่านร่มเกล้า-สุวรรณภูมิ เครื่องชี้วัดการขับเคลื่อนที่สำคัญได้แก่ ศูนย์การประชุมและการแสดงสินค้านานาชาติที่ลงทุนในที่ดินของการเคหะแห่งชาติ

นอกจากนี้พื้นที่ที่กล่าวถึงจะไม่มีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นศูนย์เศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มตํ่า เป็นทางนํ้าไหล (ฟลัดเวย์) และเป็นพื้นที่กักเก็บนํ้าตามธรรมชาติ

ส่วนพื้นที่ตามแนวระเบียงด้านตะวันตก แบ่งออกเป็นแนวระเบียง 3 เส้นดังภาพ แนวระเบียงทั้ง 3 เส้นมีศักยภาพในการเติบโตระดับปานกลาง ด้วยการขับเคลื่อนด้วยศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ตามสถานีรถไฟฟ้า สถาบันการศึกษา และที่อยู่อาศัยในพื้นที่เนื้อเมืองเดิม ได้แก่ ศูนย์เศรษฐกิจสมุทรสาคร

สุดท้ายเป็นพื้นที่ใจกลางกรุงเทพ มหานคร การศึกษาพบพื้นที่ “ศูนย์เศรษฐกิจเดิม” ได้แก่ ย่านราชประสงค์-วิทยุ-สีลม และบริเวณโดยรอบ ยังเป็นพื้นที่ที่เติบโตต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนของอาคารสำนักงานและโรงแรมที่พักของชาวต่างชาติ สำหรับพื้นที่พัฒนาใหม่ที่เติบโตตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ได้แก่ ศูนย์เศรษฐกิจรอบศูนย์กลางคมนาคมขนส่งบางซื่อ-เตาปูน-วงศ์สว่าง พื้นที่จะเติบโตสูงตามปริมาณประชากรที่เข้าใช้พื้นที่และประกอบกิจกรรมธุรกิจ

กล่าวโดยสรุป ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของศูนย์เศรษฐกิจกรุงเทพฯและปริมณฑล ยังเป็นโครง สร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงข่ายการขนส่งทางราง ซึ่งมีกิจกรรมเศรษฐกิจ 3 กิจกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อน ได้แก่ อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าปลีก และศูนย์การประชุม ทั้งนี้ในอนาคตจะมีปัจจัยการพัฒนาพื้นที่รอบท่าอากาศยาน (AOD) ในบริเวณของร่มเกล้า-สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และสระบุรี เป็นปัจจัยสนับสนุนในการลงทุน

บทความ ‘ศูนย์เศรษฐกิจกรุงเทพฯ-ปริมณฑล’ ผังเมืองกับแผนบูรณาการร่วมภาครัฐ-เอกชน |โดย... ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย|  หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3368 ระหว่างวันที่ 24-26 พ.ค. 2561

e-book-1-503x62-7