คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีจัดซื้อเครื่องตรวจค้นยาเสพติด อัลฟ่า 6 จ.พิษณุโลก

21 พ.ค. 2561 | 07:11 น.
- 21 พ.ค. 61 - นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาฯ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงว่า เมื่อเดือน ก.พ. 2551 กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศ ภายใน 90 วัน ระหว่างวันที่ 1 มี.ค. ถึง 31 พ.ค. 2551 เพื่อสนองนโยบายดังกล่าว ผู้ว่าฯจ.พิษณุโลก ได้มอบหมายให้ ว่าที่ ร.ต.สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ หัวหน้าสำนักงาน จ.พิษณุโลก รับผิดชอบโครงการดังกล่าวและอนุมัติให้จัดซื้อเครื่องตรวจค้นยาเสพติด สำหรับนำไปใช้ในจุดตรวจพื้นที่ อ.วัดโบสถ์, อ.วังทอง และเส้นทางไป จ.สุโขทัย ที่มีการขนย้ายยาเสพติดเข้ามามาก โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก องค์การบริการส่วน จ.พิษณุโลก และได้อนุมัติงบประมาณในการสั่งซื้อโดยวิธีการพิเศษ เมื่อกลางเดือน พ.ค. 2551ในวงเงิน 1,650,000 บาท

ในการจัดซื้อ ว่าที่ ร.ต.สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ ได้นำเอกสารใบเสนอราคาของบริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด และบริษัท แอม เบส พลัส จำกัด ไปให้คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และสั่งการให้จัดซื้อเครื่องตรวจค้นยาเสพติด อัลฟา 6 กับบริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด ซึ่งปรากฏว่าเอกสารของบริษัท แอม เบส พลัส จำกัด เป็นเอกสารเสนอราคาปลอม เนื่องจากบริษัทดังกล่าวประกอบกิจการจำหน่ายเวชภัณฑ์การแพทย์ ไม่เคยจำหน่ายเครื่องตรวจค้นยาเสพติด แต่นำมาเป็นคู่เทียบให้เห็นว่าบริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด เสนอราคาถูกกว่า โดยคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษได้จัดทำรายงานว่ามีการสืบราคาจากบริษัทต่างๆ แล้ว เสนอความเห็นว่าบริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด เสนอราคาต่ำสุด ให้จัดซื้อกับบริษัทดังกล่าว โดยที่ไม่เคยสืบราคาและต่อรองราคาจากผู้ขายรายใดแต่อย่างใด ต่อมา ว่าที่ ร.ต.สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ ได้อนุมัติให้จัดซื้อเครื่องตรวจค้นยาเสพติด อัลฟา 6 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมลงโปรแกรมในเครื่องให้สามารถตรวจสารเสพติดได้ 6 ชนิด คือ แอมเฟตามีน เฮโรอีน ยาอี กัญชา ฝิ่น และยาเค ในราคา 1,647,800 บาท จากกับบริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด และลงนามในสัญญาซื้อขายเครื่องดังกล่าว ทั้งที่อำนาจในการอนุมัติจัดซื้อโดยวิธีพิเศษและลงนามในสัญญาเป็นของผู้ว่าฯจ.พิษณุโลก และได้อนุมัติให้จ่ายเงินให้แก่บริษัท เอ็ม – แลนดาร์ช จำกัด ทั้งที่การจัดซื้อไม่ถูกต้อง

ในการตรวจรับพัสดุ มีกรรมการตรวจรับพัสดุ จำนวน 3 คน แต่ปรากฏว่ามี ว่าที่ ร.ต.สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ ตรวจรับเครื่องดังกล่าวเพียงคนเดียว ซึ่งได้ทดสอบเครื่องที่จัดซื้อนำไปค้นหายาบ้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกรรมการอีก 2 คน ได้มาลงชื่อในภายหลัง โดย ว่าที่ ร.ต.สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ ได้สั่งการให้นายขวัญชัย คำชุ่ม กรรมการตรวจรับคนหนึ่งลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุ ทั้งที่ไม่ได้เข้าร่วมตรวจรับด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติชี้มูลความผิดดังนี้

ว่าที่ ร.ต.สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ หัวหน้าสำนักงาน จ.พิษณุโลก มีมูลความผิดทางอาญา ตามพรบ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ม.123 ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157, ม.157 ประกอบ ม.86, ม.162 (1), (4) ประกอบ ม.86 และ ม.162 (1), (4) ประกอบ ม.84 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
นายวีระกิตติ์ อินทรประสิทธิ์ ประธานกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และม.162 (1), (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
นายทรงศักดิ์ ภูมิผล กรรมการตรวจรับพัสดุ มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.162 (1), (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง

นอกจากนี้ ให้กันนางหทัยกาญจน์ แปงแก้ว กรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และนายขวัญชัย คำชุ่ม กรรมการตรวจรับพัสดุ เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี และให้ข้อกล่าวหาตกไป น.ส.อุบล นุชเพชร เนื่องจากไม่ได้ร่วมกระทำความผิด