จาก 'มหาเดร์และอันวาร์' สู่พรรคและนักการเมืองในอุดมคติของไทย

20 พ.ค. 2561 | 12:44 น.
[caption id="attachment_282762" align="aligncenter" width="503"] เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์[/caption]

โดย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (Anek Laothamatas)

... ชัยชนะอันเหลือเชื่อ เหนือความคาดหมายของชาวมาเลเซียและชาวโลก ที่ มหาเดร์ และ อันวาร์ อิบราฮิม ร่วมกันทำให้เกิดขึ้น ทำให้คนไทยตกอยู่ในภวังค์ และแล้วก็ได้แง่คิดหรือบทเรียนอันสำคัญกันว่า อืม! เออ! นักการเมืองและพรรคการเมือง อาจจะทำ "เรื่องใหญ่" ให้ปรากฏก็ได้ ไม่ใช่อยู่ไป ทำอะไรไปเหมือน "งานประจำ" เช่น สู้ให้รู้ว่าใครจะแพ้ จะชนะ แต่แพ้ชนะไปเพื่ออะไร เพื่อใคร ก็ไม่ทราบ ผลต่อส่วนรวมแทบไม่ต่างกัน หรือ สู้เพื่อใครจะได้เป็นรัฐบาล หรือ ใครเป็นฝ่ายค้าน แต่เป็นไปทำไม เพื่ออะไร ก็ไม่แจ่มชัด

เป็นที่น่าเสียดายและน่าเป็นห่วง ที่ว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่ หรือนักการเมืองส่วนมาก ในระบอบประชาธิปไตย ในทุกวันนี้ เกือบจะทั่วโลก ทำอะไรไปมากมายโดยไม่ทำให้เกิดผล หรือ การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงแก่บ้านเมืองเลย


Gallery-108-04-750x450

การเลือกตั้งของไทยในอดีตก็คล้ายกัน คือ มักเป็นแต่กิจประจำ อย่างที่เอ่ยมา พรรคการเมืองมักมี "เจ้าของพรรค" เป็นคน ๆ เดียว เป็นไปจนตาย หรือ มีทายาทในตระกูลมาสืบทอดตำแหน่ง หรือ "เจ้าของพรรค" ตกเป็นของกลุ่ม ๆ เดียว ที่กุมการนำของพรรคมายาวนาน หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคมักครองตำแหน่งอยู่นานมาก บางพรรคเป็นกันจนตาย หรือ เป็นได้จนเกือบจะตลอดชีวิต ทั้งนี้ ไม่ว่าพรรคนั้นจะแพ้ จะไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งไปกี่ครั้งก็ตาม ยากนักที่จะสรรหาผู้นำคนใหม่ จากกลุ่มอื่น ๆ กลุ่มต่าง ๆ มาผลัดเวียนกันเป็นหัวหน้าและเลขาธิการพรรค

สมาชิกที่อ้างว่า มีเป็นจำนวนแสนหรือล้านคน เอาเข้าจริงก็ใช่ว่าจะมีบทบาท หรือ อำนาจอะไรมากนัก กล่าวได้ว่าประชาธิปไตยในพรรคของไทยมีน้อยครับ สมาชิกมักเล่นบทเป็น "ลูกน้อง" หรือ "ผู้ตาม" หรือ เป็น "ผู้สนับสนุน" ให้กับบรรดา "ผู้นำ"- "ผู้ใหญ่" ของพรรค แต่จะไม่อาจกำหนดนโยบายพรรค ไม่อาจชี้ขาดได้ว่า ใครจะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ใครจะได้ลงรับเลือกตั้งในนามพรรค ใครจะได้อยู่อันดับไหนในบัญชีรายชื่อของพรรค และนั่นก็คือ ลักษณะถาวรของพรรคการเมืองเก่า ๆ แก่ ๆ ส่วนใหญ่ของเรา พวกเขามักจะทำอะไรอย่างนั้น จะเป็นอะไรอย่างนั้น มิใยผู้ก้าวหน้าและห่วงใยในชาติบ้านเมืองอยากจะเห็นพวกเขาเปลี่ยนแปลง ได้มีบทบาทและมีความมุ่งมั่นต่อประเทศมากกว่านั้น ดีกว่านั้น


สัมพันธ์

แน่นอนพรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งใหม่ ๆ ก็มี ไม่เคยขาดสาย แต่พรรคในอุดมคตินั้นหาค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่ก็คือ "พรรคแบบเก่า" ที่ใช้ "ชื่อใหม่" เวลาก่อตั้งก็มักจะเริ่มจากว่า พรรคนี้เป็นพรรคของใคร ใครเป็นหัว จะมีคนไม่กี่คนที่สถาปนาตนเองเป็นหัวหน้า และเลขาธิการ และรีบเร่งหานักการเมืองเก่าที่เชื่อว่ามีคะแนนนิยมสูงจากพรรคเก่าอื่น ๆ พรรคใหม่เหล่านี้จำนวนหนึ่ง จะใช้เงินทองมหาศาลที่สัญญาว่าจะให้แก่ผู้สมัคร หลายครั้ง "หน้าเก่า" ที่มีคะแนนนิยมสูงอยู่ ไหนเป็นเครื่องล่อใจให้มาเข้าพรรคใหม่นี้ สิทธิเสียง และบทบาทอำนาจของสมาชิกของพรรคใหม่ ๆ นี้ ก็แทบไม่ต่างจากบรรดา "พรรคเก่า ๆ" ครับ คือ "น้อยมาก"

พรรคการเมืองจำนวนมากมายของเรา ต้องยอมรับครับว่า ยังเป็นพรรคแบบ "ท้อป-ดาวน์" คือ มีเจ้าของพรรค มีนายทุนพรรค มีคนหาเงินมา และ คุมการใช้จ่ายเงินในพรรค ไม่ใช่ พรรคแบบฉบับ ที่ควรจะเป็น คือ "บอตตอม-อัพ" หมายความว่า ควรจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อย—ใช่จะมีแต่เพียงนักการเมือง—ที่มีความคิด ความอ่าน และอุดมการณ์ร่วมกัน หรือ คล้ายกัน มารวมตัวกัน ก่อตั้งพรรค โดยไม่ใช้เงินทองมากเกินจำเป็น ไม่ "ล่อใจ" ใครให้มาเข้าพรรค มาเป็นผู้สมัครในนามพรรค และจะต้องระดมสมาชิกพรรคจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้เสียสละ อาสาเข้ามาร่วมกันแบกภารกิจ การงาน และกระทั่งค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งพรรค และในการดำเนินการของพรรค และทั่วทั้งพรรคจำต้องมี "ประชาธิปไตยภายใน" ให้มาก พร้อมทั้งต้องมุ่งอาศัยอุดมการณ์ จิตวิญญาณ ที่แข็งแกร่ง และ "อานุภาพแห่งความเสียสละ" ของผู้ก่อตั้งและมวลสมาชิกมาปลุกเร้าให้ประชาชนเดินตาม หรือ ดีกว่านั้น มาร่วมเดินกับพรรค และในไม่ช้าก็ต้องทำถึงขั้นที่ระดมเอาสมาชิกมาร่วมกัน "นำพรรค" เสียเลย


2553

พูดนั้นง่าย แต่ในความเป็นจริง ทั่วโลก พรรคการเมืองและนักการเมืองตามอุดมคติแบบ "ใหม่" แบบ "บ็อตตอม-อัพ" ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายเลย แต่ก็จำเป็นและจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ถ้าระบอบประชาธิปไตยของเราจะก้าวไปข้างหน้า จะเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนและชาติบ้านเมือง ทั้งจะพิทักษ์ปกป้องซึ่งชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และรัฐธรรมนูญได้ เหมือนที่คนทั่วไปมักคิดว่า จะมีแต่ก็คณะทหาร หรือ คณะข้าราชการ หรือ นักวิชาการ-ปัญญาชน เท่านั้น ที่จะคิดได้ จะทำได้ และจะยอมทำในประเทศไทย

จะทำเรื่องยากนี้ได้อย่างใด ? กรณีมหาเดร์และอันวาร์น่าจะชี้ชัดแล้วว่า ในการทำการใหญ่ "พลิกแผ่นดิน" กอบกู้บ้านเมือง กอบกู้ประชาธิปไตย นั้น ชัยชนะจะไม่ได้มาจากเงินทองและอำนาจเดิมที่มีมา สะสมมา ไม่เช่นนั้นแล้ว นาจิ๊บ นายกรัฐมนตรี ผู้ร่ำรวยมหาศาล และครองอำนาจล้นฟ้ามาเกือบสิบปี คงรักษาอำนาจต่อไปได้ คงมีชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

 

[caption id="attachment_282766" align="aligncenter" width="503"] มหาธีร์ โมฮัมหมัด หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย มหาธีร์ โมฮัมหมัด
หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย[/caption]

แง่คิด : การใหญ่ เพื่อบ้านเมืองนั้น มักเอาชนะได้ ไม่ใช่ด้วยเงิน ด้วยอำนาจ หากด้วย "พลังทางคุณธรรม" ไม่ใช่ด้วยคนที่มีอำนาจล้นฟ้าไม่กี่คน หากชนะได้ด้วยคนที่ "ไม่ธรรมดา" คนที่ "ผิดปกติ" เริ่มต้นกันไม่กี่คน ทุ่มเท เสียสละจนเกินมนุษย์ กัดไม่ปล่อย จิกไม่หยุด สู้ไม่ถอย สู้ยิบตา เกินที่มนุษย์ธรรมดาจะทำได้ เด็ดเดี่ยว เคี่ยวเข็ญกับอุปสรรค กับภยันตราย และกับปรปักษ์ได้อย่าง "เกินจริง-เหนือจริง" เมื่อนั้น "อภินิหาร" ก็ปรากฏ ฟ้าก็จะรู้ ดินก็จะทราบ มหาชนอันไพศาล และแถวขบวนอันงามตาแต่น่าเกรงขามก็จะเกิดขึ้น ประชาชนจะเดินตาม จะเดินด้วย จะแวดล้อมปกปักษ์รักษาคณะนำและ "การใหญ่" นั้น ก็จะพลันสำเร็จผล

การสร้างพรรคและการสร้างนักการเมือง รวมทั้งสมาชิกพรรคแบบใหม่ที่กล่าวมาในข้างต้น ที่จริง ก็ คือ "การใหญ่" อันนั้น !


……………….
โดย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (Anek Laothamatas)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'ลี' บุกแดนเสือเหลือง! พบ 'มหาธีร์' และ 'อันวาร์' เชื่อมไมตรี 2 ชาติ
"มหาธีร์" คว้าชัย! หนุนเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวชายแดนใต้


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว