นายกฯ ชี้! ปรองดองจะเกิดได้ "ทุกฝ่ายต้องร่วมมือจริงจัง"

20 พ.ค. 2561 | 04:29 น.
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า เรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและปรองดองในสังคมและบ้านเมือง ก็เป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าสำคัญมากหรือมากที่สุด เพราะหากไม่ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และทุกภาคส่วนแล้ว โครงการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดจะไม่อาจสำเร็จลงได้เลย ถึงแม้เราจะมีงบประมาณใด ๆ ก็ตาม ดังนั้น จึงมีนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุก ๆ มิติ ทุก ๆ กิจกรรม ตั้งแต่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในการเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกกฎหมาย มีการเสริมสร้างกลไกประชารัฐเข้ามาขับเคลื่อน โดยเฉพาะในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และระดับฐานรากของประเทศ อาทิ บริษัทประชารัฐ รักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทั้ง 76 จังหวัด ยังคงดำเนินการอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ในปัจจุบันมีการพัฒนากลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3,685 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตร กลุ่มแปรรูป กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน สามารถสร้างรายได้มากกว่า 1,600 ล้านบาท มีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 600,000 ราย ล่าสุดได้ผลักดันโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่เน้นการระเบิดจากข้างในตามศาสตร์พระราชา ต้องมีการทำประชาคม การรับฟังปัญหาระดับชุมชน การสำรวจความต้องการและปัญหาแต่ละท้องถิ่น โดยจัดสรรเงินงบประมาณ ประมาณ 150,000 ล้านบาท เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป ไม่ได้ทำเพื่อการเมือง เป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบมาตรฐาน และยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ก่อนที่จะผลักดันงบประมาณลงไป 35,000 ล้านบาทในปี 2559 กับอีก 15,000 ล้านบาทในปี 2560 ทำให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้สำเร็จ เฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 85

ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาลนี้ ช่วยให้ผลการดำเนินการพีพีโมเดลซึ่งเป็นตัวอย่างการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประสบผลสำเร็จ ด้วยการเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 978 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน จากที่ก่อนหน้าเก็บได้เพียงปีละ 1 ล้านบาท เป็นอย่างไรครับ แตกต่างมาก นอกจากนี้ กลไกประชารัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้าง Smart City ทั้งเมืองน่าอยู่ เช่น พระนครศรีอยุธยา และเมืองอัจฉริยะ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ที่มีการร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนาท้องถิ่นของตน โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศ ตามที่ผมเคยกล่าวอยู่เสมอว่าประชารัฐจะไม่ใช่เพียงทางรอด แต่จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราสามารถเชื่อมโยงแผนพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ท้องถิ่น เข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติได้ การขับเคลื่อนประเทศก็จะมีพลัง มีทิศทางชัดเจน

ทั้งนี้ การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดช่วงนี้คือการศึกษาและการสาธารณสุข ก็มีอีกหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องนี้ก็สำคัญ อาจจะมากที่สุดเลย ในเรื่องของการใช้และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน เรากำลังก้าวสู่โลกยุคโลกาภิวัฒน์ โลกดิจิทัล โลกที่อากาศเปลี่ยนแปลง โลกที่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมสูงวัย ซึ่งล้วนจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการดูแลประชาชนให้ทั่วถึง หากเรามุ่งเน้นแต่เพียงการรักษา ไม่ให้ความสำคัญในการป้องกันเท่าที่ควรนะครับ ก็จะสร้างภาระด้านงบประมาณเป็นจำนวนมาก เราอาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายที่เพียงพอภายใน 10 ปีข้างหน้า เพราะทุกวันนี้โรงพยาบาล แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานหนัก พัฒนาไม่ได้มาก เพราะต้องใช้จ่ายงบประมาณในการรักษาพยาบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วยกันคิดนะครับ ไม่ว่าท่านจะถือบัตรประเภทใดหรือสวัสดิการอะไร รัฐบาลอยากดูแลให้มากขึ้น แต่เราจะหาเงินมาจากที่ไหนล่ะ ต้องช่วยกันคิดด้วย เพราะรัฐบาลต้องดูแลหลายมิติ รายจ่ายประจำ งานฟังก์ชั่น งานบูรณาการ หนี้สาธารณะ การลงทุนเพื่ออนาคต และอื่น ๆ อีกมาก รวมทั้งการสร้างรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้วย เป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่ต้องควบคุมกำกับดูแลให้การใช้จ่ายเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง การศึกษาก็เช่นกัน นับวันก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็เรียนออกมาแล้วก็ต้องหางานทำให้ได้โดยเร็ว บางครั้งนี่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เรียนออกมาก็ทำงานไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นว่าการศึกษาบกพร่อง ต้องมีหลักคิด มีเหตุผล จะเลือกเรียนอะไร ถนัดอะไร ก็ขออย่าไปเรียนตามเพื่อน หรือไปเรียนที่ง่าย ๆ ถ้าตัวเองมีศักยภาพ เรื่องระบบภาษีของเราก็ยังคงเหมือนเดิม เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย หารายได้เพิ่มไม่ได้มาก เราจะต้องร่วมมือกันแก้ไข ทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ทำอย่างไรเราจะตอบสนองความต้องการประชาชนได้ ต้องช่วยกันคิด ช่วยหารือ ขัดแย้งกันไปมาไม่เกิดประโยชน์ จะดีทุกอย่างถ้า หากเราทำเพื่อประชาชนจริง ๆ แต่ต้องรับผิดชอบหากใช้จ่ายงบประมาณเกินรายได้ที่รัฐจะหาได้จนมากเกินไป"


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ครบรอบ 1 ปีกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง
“สุวัจน์” อยากเห็นนักการเมืองปรองดองกัน


e-book-1-503x62