อนิจจา ... อุตสาหกรรมเหล็กไทย

20 พ.ค. 2561 | 11:17 น.
56965845

WR3

ถ้าจะกล่าวถึงอุตสาหกรรม "เหล็ก" ต้องบอกว่า เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่รัฐบาลทุกประเทศให้ความสำคัญ เพราะเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง  อาวุธ ฯลฯ ขณะที่ บางประเทศก็อ้างว่า อุตสาหกรรมเหล็กต้องปกป้อง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ!

ย้อนไปดูปูมหลังการส่งเสริม-พัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย จะพบว่า เมื่อ 20-30 ปีก่อน การลงทุนจะคึกคักมาก เพราะตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ฯ ข้อหนึ่งกำหนดว่า ประเทศไทยต้องมีเหล็กต้นน้ำหรือที่เข้าใจกันง่าย ๆ คือ ต้องมีโรงถลุงเหล็กในประเทศ ทำให้กลุ่มทุนรายเล็ก-ใหญ่แห่ลงทุน เพราะหวังว่าวันหนึ่งเราจะมีโรงถลุงเหล็กเกิดขึ้น ไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ที่แต่ละปีมีราคาผันผวน ไม่แน่นอนสูง

เช่นเดียวกับ บรรดาเสี่ยวงการเหล็ก โดยเฉพาะกลุ่มทุนรายใหญ่ผู้บุกเบิก ที่เคยแอบหวังว่าจะได้ร่วมกับรัฐบาลตั้งโรงถลุงเหล็กภายในประเทศไทย ไม่ว่าจะ เสี่ยวิทย์ วิริยประไพกิจ จากกลุ่มสหวิริยา หรือ SSI, เสี่ยสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เจ้าของฉายา "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ที่วันนี้ยอมยกธงขาวขายทิ้งธุรกิจเหล็กกลุ่มเอ็น.ที.เอส.สตีล หลังเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง รวมถึง เสี่ยสมศักด์ ลีสวัสดิ์ตระกูล แม้จะมาทีหลัง 2 กลุ่มทุนแรก แต่ก็ทันเจอพิษต้มยำกุ้ง ที่ล่าสุดดึงกลุ่มทุนฮ่องกงเข้ามาถือหุ้นใน บริษัท จี สตีล และจีเจสตีล ประคับประคองธุรกิจเหล็กต่อไป โดยให้อินเดียนั่งบริหาร


WR1

รัฐอุ้มมาแต่กำเนิด
นอกจากเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กสะพัดแล้ว โดยภาพรวมยังได้รับการคุ้มครอง ปกป้องจากรัฐบาลในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะเชอร์ชาร์จหรือค่าธรรมเนียมพิเศษจากบีโอไอ (ที่จะใช้ในช่วงที่ ก.ม.เอดี ยังไม่ออกมา) เรียกว่า อุ้มมาตั้งแต่ตั้งไข่ รวมถึงในขณะนั้นยังมีกำแพงภาษีอากรขาเข้าเป็นเกราะกำบังอีก (ปัจจุบันค่อย ๆ ลดลงกรอบการค้าเสรี หรือ FTA) ยังไม่นับรวมการคุ้มครอง โดยมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดีที่ออกมาปกป้องเหล็กบางชนิดในช่วงเวลาต่อมา

การเติบโตในอุตสาหกรรมเหล็กไม่เพียงแต่กลุ่มทุนรายใหญ่ที่กระโจนเข้าหา หากยังมีรายเล็ก รายย่อย อีกจำนวนมาก แห่ลงทุน โดยเฉพาะการผลิตเหล็กเส้น


WR2

อุตฯเหล็กท่าดีทีเหลว
ประมวลภาพรวมทั้งหมด อุตสาหกรรมเหล็กน่าจะดี คนแห่ลงทุนกันมาก แถมมีรัฐบาลคอยปกป้อง จนมีบางคนในภาคธุรกิจถึงกับเอ่ยปากว่า "เหล็ก" ก็เหมือนอุตสาหกรรมเฒ่าทารก ที่รัฐบาลอุ้มไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งที่ 20-30 ปีที่ผ่านมา น่าจะยืนหยัดอยู่ได้แบบแข็งแกร่ง!

แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กของไทยในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ได้สะท้อนถึงปัญหารอบด้านชัดเจน ไล่เรียงตั้งแต่ ความไม่จริงจังในการยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กของภาครัฐในแต่ละรัฐบาล

อีกทั้งปริมาณเหล็กเส้น ภายในประเทศอยู่ในสภาพ "ล้นตลาด" เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศมีเพียง 2-3 ล้านตันต่อปี ขณะที่ กำลังผลิตรวมมีมากถึง 9 ล้านตัน เช่นเดียวกับ กลุ่มเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีกำลังผลิตรวม 9 ล้านตัน และเหล็กแผ่นรีดเย็นมีกำลังผลิต 2 ล้านตัน รวมกลุ่มเหล็กแผ่นทั้งสิ้น 11 ล้านตัน ลำพังผู้ผลิตในประเทศก็สามารถป้อนตลาดภายในได้อย่างเพียงพอ เพราะมีความต้องการใช้ต่อปีราว 9 ล้านตัน แต่กลับมีเหล็กนำเข้า จากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศอื่น ๆ มาชิงส่วนแบ่งตลาดไปอีกจำนวนมาก แม้มีมาตรการเอดีปกป้องก็ยังยับยั้งไม่อยู่ โดยเฉพาะเหล็กจากจีนที่เข้ามาสร้างปรากฏการดั๊มราคาแบบสุดโต่งในเหล็กเกือบทุกประเภท จนผู้ผลิตไทยแต่ละรายตกอยู่ในสภาพที่ผลิตได้ไม่ถึง 40 หรือ 50% ของกำลังผลิตเต็ม เรียกว่า แบกภาระขาดทุนกันเป็นแถวก็ผ่านมาแล้ว

อีกทั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประธานาธิบดี 'โดนัลด์ ทรัมป์' แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้ผู้ประกอบการผลิตและส่งออกเหล็ก ต้องสูญเสียการส่งออกเหล็กไปยังอเมริกาในมูลค่า 10,479 ล้านบาท หรือเป็นปริมาณเหล็กราว 383,496 ตัน โดยผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นรีดเย็นและเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี


WR4

ปี 63 ยอดผลิตพุ่ง 32.3 ล้านตัน/ปี
ที่น่าซ้ำใจที่สุด ... อุตสาหกรรมเหล็กไทย ที่เคยผงาดทั้งในแง่ผู้บริโภคและผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียน กลับต้องตกหลังเสือแบบไม่เป็นท่า เมื่อถูกเวียดนามแซงหน้าไปแล้ว หลังจากที่รัฐบาลเวียดนามกำหนดแผนพัฒนาไว้ถึงปี 2578 ที่จะขยายความสามารถในการเป็นฐานการผลิตเหล็กอาเซียนภายในปี 2563 ว่า จะมีกำลังผลิตเหล็กในประเทศเวียดนามเพิ่มจาก 20 ล้านตันต่อปี เป็น 32.3 ล้านตันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 66 ล้านตันในปี 2578 โดยรัฐบาลเวียดนามเริ่มต้นสนับสนุนด้วยการส่งเสริมให้มีการผลิตเหล็กต้นน้ำภายในประเทศ มีแผนจัดตั้งเตาถลุงเหล็กขนาดใหญ่มากกว่า 6 เตา มีขนาดกำลังผลิตเหล็กต้นน้ำ 24 ล้านตันในอนาคต ลงทุนโดย บริษัท ฟอร์โมซากรุ๊ปส์ฯ (FORMOSA) ผู้ผลิตเหล็กและปิโตรเคมีรายใหญ่ของไต้หวัน ร่วมกับ เจเอฟอี จากญี่ปุ่น และกลุ่มพอสโก ประเทศเกาหลี มีการผลิตเหล็กเฟสแรกที่ 7 ล้านตัน เริ่มผลิตเหล็กไวรอตได้เมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา

เปรียบเทียบกับการส่งเสริมของไทย หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า เปลี่ยนรัฐบาลทีก็ดึงเรื่องแผนพัฒนาเหล็กต้นน้ำไปศึกษาที ทำอยู่แบบนี้ติดต่อมาหลายสมัยแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะประเด็นพิจารณายังวน ๆ อยู่เรื่องเดิม ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดหาพื้นที่ตั้งโรงถลุงเหล็ก เสียงต้านจากชาวบ้านและเอ็นจีโอ รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่น่าจะช่วยได้ในแง่ลดต้นทุนในการขนส่ง ลำเลียงเหล็ก เป็นต้น


626525

หากใช้เวลาประเมินภาพรวมให้ดี การมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำน่าจะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ เพราะการมีโรงถลุงเหล็กในประเทศเพื่อผลิตวัตถุดิบ เช่น สแลป (วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กทรงแบน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน) บิลเล็ต (วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กทรงยาวเช่น เหล็กเส้น) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศ จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กครบวงจร (Fully Integrated Steel Industry) ที่สามารถผลิตสินค้าวัตถุดิบต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ

ที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาความผันผวนด้านราคาวัตถุดิบ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตในประเทศมีความสามารถในการแข่งขันด้านตันทุนกับเหล็กนำเข้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบต้นทาง สำหรับการผลิตเหล็กชั้นคุณภาพพิเศษ (Special Grade) ที่ส่วนใหญ่ใช้นำไปใช้ในการผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นเรื่องความปลอดภัยได้อีกสุดท้ายผู้บริโภคปลายทางน่าจะได้ประโยชน์ด้วยเพราะใช้สินค้าที่มาจากเหล็กในราคาถูกลง

วิบากกรรมอุตสาหกรรมเหล็กช่างยาวไกลนัก! วันนี้เดินมาถึงจุดล้าหลัง ถูกเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามปาดหน้า ชิงความได้เปรียบไปแล้ว อนิจจา....อุตสาหกรรมเหล็กไทย!


........................
รายงาน : อนิจจา....อุตสาหกรรมเหล็กไทย | โดย.....TATA007 |ฐานเศรษฐกิจ|


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว