ทางออกนอกตำรา : เอามั้ยๆ “เอา”! ออกก.ม.คุมเงินกู้ดอกเบี้ยโหด

19 พ.ค. 2561 | 16:27 น.
2565549 ในสมัยรัฐบาลนายกฯ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศนโยบายล้างหนี้นอกระบบ พยายามอย่างมาก ในการออกกฎหมายหลายฉบับมาดูแล “นายทุนที่ขูดรีดคนจน ทำนาบนหลังคน” แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งควบคุม ยิ่งมีคนหลบเลี่ยง อาศัยรูโหว่ความต้องการเงินของประชาชนที่เดือดร้อนมาเป็นช่องทางสร้างเกราะกำบังในการทำมาหากิน

2 กันยายน 2558 รัฐบาลทำคลอด พ.ร.บ.ทวงถามหนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกหนี้ ที่โดนประจาน โดยห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ กระทำการในลักษณะที่เป็นการละเมิด และคุกคาม ในการติดตามทวงถามหนี้ อาทิ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี การเปิดเผยความเป็นหนี้ของผู้บริโภคแก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง และก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ Interest Financial Income Earnings Money Stacks Credit Debt Fees ห้ามกันขนาดที่ว่า ไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ ติดตามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม ให้ติดต่อลูกหนี้ทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือติดต่อบุคคล สำหรับวันทำการให้ติดต่อได้ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น.

ใครฝ่าฝืน เจอโทษทางปกครองจะถูกปรับไม่เกิน 1 แสนบาท โทษทางอาญาจะถูกเพิกถอนการจดทะเบียน และจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่เชื่อหรือไม่ จนบัดป่านนี้ การติดตามทวงหนี้โหดจากเจ้าหนี้ทั้งที่เป็นสถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ที่ขึ้นทะเบียนปล่อยกู้ยังดุเดือดเลือดพล่าน...เช่นเดิม

15 มกราคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยปัจจุบันกฎหมายกำหนดห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 หากกระทำความผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

กฎหมายเขียนไว้ดิบดีว่า หากลูกหนี้รายใดพบว่า เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเเพงกว่าที่กฎหมายกำหนด ลูกหนี้สามารถเเจ้งความดำเนินคดีได้ทันที
2-363 แต่เชื่อหรือไม่จนบัดป่านนี้ยังมีคนคิดดอกเบี้ยสารพัดวิธีที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด โดยไม่เห็นมีใครทำอะไรได้เลย..ถ้านายกฯลุงตู่ และ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยากรู้ความจริง ลองมาเดินริมถนน เดินตามตรอกในตลาด จะพบเห็นความทุกข์ยากของคนเดินดินที่โดนโขกดอกเบี้ยสารพัดเกินกว่าร้อยละ 15 เปิดสาขาอยู่เกลื่อนเมือง

บ้างประกาศว่า คิดดอกเบี้ย 0.68% บ้างก็ประกาศหราตัวเท่าหม้อว่า กู้ทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ 1.15% หากเป็นรถยนต์คิด 0.95% แต่แฝงเร้นในเรื่องค่าธรรมเนียมจิปาถะบันเทิงเริงรมย์ซ่อนเร้นอยู่ ทั้งเรื่องการพิจารณาการกู้ หลักประกัน ฯลฯ กินกันสบายใจเฉิบตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นธรรมเนียมของการคิดค่าใช้จ่ายในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน 555
6526559 ที่บาดลึกกินใจมากกว่านั้น ท่านนายกฯจะพบว่า หลายบริษัท ที่ทำหน้าที่ปล่อยกู้เงินสด สินเชื่อมีหลักประกัน สินเชื่อจำนำรถ สารพัดรูปแบบที่คิดดอกเบี้ยผิดกฎหมายนั่นแหละ กลับเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯเสียด้วยสิพ่อแม่พี่น้องเอ๊ย....จะเล่าให้ฟัง

ร้ายกว่านั้น เจ้าของบริษัทหรือกลุ่มผู้ถือหุ้นในบริษัทเหล่านั้นเกี่ยวพัน นัวเนียทั้งทางตรงทางอ้อมอยู่กับอดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ปากกล้า ขาสั่น เกี่ยวพันนัวเนียกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหลายสมัย ในฐานะที่เคยเป็นผู้คุมกฎกติการะบบการเงินของประเทศเสียด้วยสิขอรับนายท่าน....มันจึงเป็นเรื่องปวดใจ ปวดใจเหลือจะกล่าว อกที่ร้าวดังลูกมะพร้าวตกดิน....
4-595 โชคดีที่ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 รัฐบาลนี้ได้มีการแก้กฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับที่ 30 ห้ามอายัดเงินเดือนลูกหนี้ออกมา หลังเจ้าหนี้ฟ้องร้องแล้วอายัดเงินเดือนจนพนักงานงานไม่มีเงินจะกินจะอยู่

กฎหมายนี้ ออกมากำหนดมูลค่าของสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่อายัดเงินไม่ได้ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท และบำเหน็จหรือค่าชดเชยไม่เกิน 300,000 บาท บรรดาชาวประชาหน้าเหี่ยวที่เป็นพลพรรคลูกหนี้ตลอดชีวิต จึงเหลือเงินไว้ใช้เพื่อการดำรงชีพได้บ้าง ไม่เช่นนั้นระทมจมดิน...นี่คือความจริงอันเจ็บปวด

ยังไม่พอนะขอรับ วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 รัฐบาลยังออกพ.ร.บ.เกี่ยวกับธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์แก่บุคคลทั่วไป มาควบคุมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ให้เปลี่ยนวิธีคิดอัตราดอกเบี้ยจากเดิมที่กำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) คือ เอาเงินกู้คูณดอกเบี้ย ไม่ลดดอกเบี้ยแม้ว่าเงินต้นลดลง มาเป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) เหมือนกับการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน
14066 เช่น กู้เงิน 1 แสนบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ย 1.15% ต่อเดือน Flat Rate ก็จะคิดดอกเบี้ย 100,000 คูณ 1.15% เท่ากับ 1,150 บาทต่อเดือน หากกู้เป็นเวลา 3 ปี เท่ากับ 36 เดือน เท่ากับว่าต้องจ่ายดอกเบี้ย 41,400 บาท ดังนั้นเท่ากับว่าผู้กู้จะต้องจ่ายจริง 100,000+41,400 บาท รวมทั้งสิ้น 141,400 บาท คิดเป็นค่างวดตลอด 36 เดือนเท่ากับต้องจ่ายเดือนละ 3,927.70 บาท โหดมั้ยพี่น้องกู้แสนบาท จ่ายดอกเบี้ยไปเกือบ 50%

แต่เชื่อหรือไม่ว่า บริษัทเงินกู้ให้กับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย คนที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ยังหาช่องว่างได้ ยังปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูงเหมือนเดิม และอ้างว่า ไม่อยู่ในธุรกิจลีสซิ่ง

นี่จึงเป็นที่มาของการเดินหน้าทำคลอดกฎหมายมาควบคุม “ผู้ให้บริการทางการเงิน” เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้บริการทางการเงินบางประเภทที่ยังไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ เพราะปัจจุบันมีผู้ให้บริการทางการเงินที่ให้สินเชื่อ เช่น สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) หรือดำเนินธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับการให้สินเชื่อ เช่น การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง และแฟกตอริง

กฎหมายนี้จะคุมการคิดดอกเบี้ยโหด อย่างไร มาติดตามกันตอนต่อไปนะครับ

......................
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา|โดย...บากบั่น บุญเลิศ |หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3367 ระหว่างวันที่ 20-23 พ.ค.2561 
e-book-1-503x62