ระวัง! 5 ปี หนี้สาธารณะ ทะลุ 10 ล้านล้าน

19 พ.ค. 2561 | 11:58 น.
66659 เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้เผยรายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2560 ซึ่งมีหลายประเด็นน่าสนใจอยู่ในรายงานฉบับนี้ โดยเฉพาะผลการประมาณการฐานะการคลัง ในช่วง 6 ปีงบประมาณข้างหน้า คือตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-2566 สศค.ระบุชัดเจนว่า จะไม่สามารถเข้าสู่ภาวะสมดุล ไม่ว่าจะเป็นกรณีสถานการณ์ปกติ สถานการณ์ดีขึ้น หรือสถานการณ์แย่ลง

นั่นหมายความว่ากระทรวงการคลังจะต้องกู้เงินมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกจำนวนมาก และถ้าดูจากประมาณการหนี้สาธารณะในอีก 5 ปีข้างหน้าจะทะลุ 10 ล้านล้านบาท คือจะเพิ่มจาก 6,928,730 ล้านบาทในปี 2561 เป็น 10,248,315 ล้านบาทในปี 2566 แม้ว่าในรายงานฉบับนี้จะระบุว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ จีดีพี ยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ที่ 60% ของจีดีพี แต่ถ้าดูในรายละเอียดจะพบว่า การที่ระบุว่าหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของจีดีพีนั้น เป็นการประมาณการบนพื้นฐานจีดีพีโตเฉลี่ย 3.5-4.5% ทำให้มูลค่าจีพีดีเพิ่มขึ้นจาก  16  ล้านล้านบาทในปี 2561 เป็น 21-22 ล้านล้านบาท ในปี 2566 จึงทำให้หนี้สาธารณะไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้
Week4Content2-300x200
แต่สศค.ได้ส่งสัญญาณเตือนให้รัฐบาลต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะนโยบายหรือมาตรการทางด้านภาษีของรัฐบาลอาจเป็นสาเหตุให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ตํ่ากว่าที่ประมาณการไว้ อาจเป็นผลเสียต่อโครงสร้างรายได้ของรัฐบาลในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีอำนาจออกกฎหมายให้ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีประเภทต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

ส่วนความเสี่ยงทางด้านรายจ่าย หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้จ่ายมากกว่าที่คาดการณ์ อาจส่งผลต่อระดับหนี้สาธารณะ ระดับเงินคงคลัง รวมไปถึงความยั่งยืนทางการคลัง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความเสี่ยงระยะยาวจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้รายจ่ายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลและสวัสดิการหลังเกษียณอายุของรัฐบาลขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประชากรวัยแรงงานมีสัดส่วนน้อยลง ส่งผลกระทบต่อฐานภาษีทางด้านรายได้และการบริโภค
af863f91b123fdfeda388c3643a4ed691613f8e639b6e41cd72ba5eeba9fdddb นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความเสี่ยงระยะยาวจากโครงการสวัสดิการสังคม ซึ่งมีขนาดและความครอบคลุมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ ทำให้รัฐบาลมีรายจ่ายลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศน้อยลง รวมไปถึงการที่กระทรวงการคลังเข้าไปคํ้าประกันเงินกู้ และการรับภาระหนี้แทนรัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ดำเนินมาตรการต่างๆตามนโยบายรัฐบาล จะสร้างภาระทางการคลังในระยะยาวให้กับรัฐบาล ซึ่งคำเตือนเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตระหนักและดำเนินนโยบายการคลังอย่างระมัดระวัง

บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3367 ระหว่างวันที่ 20-23 พ.ค.2561
e-book-1-503x62