นายกฯเร่งเเก้หนี้นอกระบบให้ปชช.

19 พ.ค. 2561 | 09:05 น.
นายกฯเร่งเเก้หนี้นอกระบบให้ปชช.

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ว่า ”หากใครเคยเป็นคนกลางอยู่ระหว่างความขัดแย้ง คงเข้าใจได้โดยง่าย ว่าสิ่งที่ยากไม่ใช่การยุติความขัดแย้ง แต่สิ่งที่ยากกว่า ก็คือการสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน เพราะว่าการปรับตัวเข้าหากัน โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของคนกลาง ตามกฎกติกาที่ควรจะเป็นนั้น เป็นเรื่องของความสมัครใจและความยินยอมของทุกฝ่าย เราไม่อาจบังคับกันได้ และนั่นเป็นอุปสรรคในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม 4 ปี ของ คสช. ก็นับเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง บางอย่างทำได้ก็ทำทันที บางอย่างสำเร็จโดยง่ายเพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน หลายอย่างขับเคลื่อนได้ยาก เพราะยังไม่เข้าใจกัน

king

ที่แย่กว่านั้น บางคน บางกลุ่ม ยังปกป้องผลประโยชน์ส่วนตน จนมองไม่เห็นผลประโยชน์ ส่วนรวม วันนี้เราก็สามารถเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศของเราไปแล้วหลายเรื่อง โดยผมขอหยิบยกบางประเด็นมาเล่าให้ฟังในคืนนี้ และขอย้ำว่า การปฏิรูปนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่มีวันจบสิ้น บางเรื่องกว่าจะสำเร็จต้องใช้เวลานาน ต้องทุ่มเททรัพยากรมาก โดยเฉพาะความร่วมมือกัน และทุกการปฏิรูป ต้องเริ่มที่การปฏิรูปตนเองก่อนเสมอ อย่างน้อย เราจะต้องไม่หยุดพัฒนาตนเองด้วย ทั้งนี้ การปฏิรูปประเทศของเรา ระยะเริ่มต้น เราสามารถกล่าวได้เป็นประเด็น ๆ ดังนี้

เรื่องการแก้จนเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน การปฏิรูปของเราเริ่มจากการขจัดหนี้นอกระบบ โดยบูรณาการหลายหน่วยงาน ด้วยการผลักดันกฎหมาย มาตรการ และโครงการต่าง ๆ อาทิ พระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560, การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อ แหล่งเงินทุน, การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยให้ความรู้ทางการเงิน และการทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งผู้มีรายได้น้อยเข้าร่วมโครงการกว่า 11 ล้านคน ที่จะได้รับวงเงินผ่านบัตร เพื่อลดภาระค่าครองชีพในเฟสแรกแล้ว ในเฟส 2 ก็สนับสนุนให้มีการฝึกอาชีพ เพื่อให้มีงานทำ มีรายได้ เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด เรื่องกฎหมายขายฝากที่จะช่วยไม่ให้พี่น้องเกษตรกรตกเป็นเหยื่อ จนเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนให้กับนายทุน เจ้าหนี้นอกระบบ เหมือนในอดีต

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

กฎหมายสถาบันการเงินประชาชน เพื่อช่วยเหลือประชาชนระดับฐานราก สามารถจัดตั้งสถาบันการเงินเล็ก ๆ ในชุมชนของตนเองในทุก ๆ ตำบลทั่วประเทศ มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ มีธรรมาภิบาล มีธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งก็จะส่งผลดีกับพี่น้องประชาชนมากกว่า 20 - 30 ล้านคน ทั้งในชนบทและในเมือง ปัจจุบันมีอยู่แล้วเกือบ 30,000 แห่ง เพียงแต่ยังไม่เป็นนิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต่อไปจะได้รับการยกระดับการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ส่งเสริมให้ประชาชนรักการออม และสร้างความมั่นคงในชีวิตบั้นปลาย มีการดำเนินงานเป็นรูปธรรมอย่างมากในรัฐบาลนี้ มีสมาชิกมากกว่า 5 แสนคน กว่าครึ่งเป็นเกษตรกร โดยมีเงินกองทุนกว่า 3 พันล้านบาท เป็นต้น”

e-book-1-503x62