โบรกชี้! รับเหมาไม่หวั่น ปรับค่าแรงไม่กระทบ

18 พ.ค. 2561 | 13:12 น.
180561-2005 app-MP33-3065-A

ASP มองขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 เม.ย. กระทบกลุ่มรับเหมาก่อสร้างไม่ถึง 1% ... วิจัยกรุงศรีฯ มองกระทบกลุ่มเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ

ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 ค่าแรงขั้นต่ำของไทยจะปรับขึ้นทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หรือนับจากปี 2556 ซึ่งมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสู่ระดับ 300 บาทต่อวัน ในปี 2561 ค่าแรงขั้นต่ำรายวันจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 308-330 บาท จาก 305-310 บาท ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.4%

 

[caption id="attachment_282480" align="aligncenter" width="320"] ประสิทธิ์ รัตนกิจกมล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด ประสิทธิ์ รัตนกิจกมล
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด[/caption]

นายประสิทธิ์ รัตนกิจกมล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวถึงผลกระทบการปรับค่าแรงที่มีผลในวันที่ 1 เม.ย. 2561 ว่า โครงสร้างต้นทุน (Cost) ของภาคก่อสร้าง เป็นต้นทุนด้านแรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 20% ค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.8% คือ จาก 310 บาท เป็น 325 บาท จึงเท่ากับผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่ม 0.96% (เท่ากับ 4.8% คูณ 20%)

แต่ในแง่ความจริง ภาคก่อสร้างได้ลงทุนด้านเครื่องใช้เครื่องมือและการใช้อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ผ่านมาก็มีน้อยลง และจ่ายค่าแรงสูงกว่า 325 บาท อยู่แล้ว และมองจากโครงการก่อสร้างส่วนใหญ่จะมีอายุ 4 ปี ซึ่งทุกปีก็มีการปรับขึ้นค่าแรง ดังนั้น ต้นทุนผู้ประกอบการที่คาดว่าจะปรับสูงสุดถึง 0.96% ของจริง อาจปรับเพิ่มเพียงครึ่งหนึ่ง หรือ 0.48%-0.50% เท่านั้น


app-Picture-0531

ส่วนด้านต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างรวม ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศทุก ๆ เดือน เดือน ก.พ. 2561 อยู่ที่ 104.5 เท่ากับเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว จึงไม่กระทบต่อต้นทุนมาก

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัสฯ ASP ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ จาก 310 บาท เป็น 325 บาท ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผลวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ไม่ได้กระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างมากนัก เนื่องจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่มีการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในงานก่อสร้าง เพื่อลดการพึ่งพิงแรงงานคน อีกทั้งอัตราค่าจ้างที่จ่ายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้ ในการเสนอราคาประมูลงาน บริษัทรับเหมาก่อสร้างจะมีการตั้งสมมติฐานการปรับขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีอยู่แล้ว


appAEC-site-office-building-in-Hanoi.

ฝ่ายวิจัยประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ น่าจะกระทบต่อต้นทุนก่อสร้างโดยรวมเพียง 0.5-1.0% เท่านั้น บล.เอเซียพลัสฯ เลือก บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นหุ้นแนะนำ ให้ราคาเป้าหมาย 34 บาท จากจุดเด่นเรื่องเสถียรภาพของกำไรที่รองรับด้วยส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม พร้อมผนึกกำลังกับบริษัทในเครือเข้าร่วมประมูลโครงการภาครัฐในรูปแบบ PPP ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต

ฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทยฯ แนะนำหุ้นเด่น CK ให้ราคาเป้าหมาย 29 บาท และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ให้ราคาเป้าหมาย 27 บาท


app-P40-1

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา วิเคราะห์ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยปี 2561 ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs)

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ อีกทั้งผลกระทบโดยรวมยังค่อนข้างจำกัด ทั้งในแง่การเพิ่มขึ้นของต้นทุนแรงงานเฉลี่ย ต้นทุนการผลิตรวม และราคาสินค้าผู้บริโภค รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน คาดว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 1.0 จะส่งผลให้ค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.31 และจะทำให้ต้นทุนของภาคการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 ซึ่งจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าผู้บริโภคร้อยละ 0.18


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 17-18

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คมนาคมโชว์ศักยภาพ "ระบบรางและถนน" ... ปลุกเชื่อมั่น! ผู้รับเหมา-วัสดุก่อสร้าง
'วิศวกร' ค่าตัวพุ่ง! รับเหมาทุ่มซื้อ


e-book-1-503x62-7