BEAUTYโตยั่งยืนเดินหน้าเพิ่มสาขา

24 พ.ค. 2561 | 04:50 น.
BEAUTY วางแผน 5 ปีเติบโตต่อเนื่องปีละไม่ตํ่ากว่า 20% เดินหน้าเปิดสาขาในประเทศเพิ่มต่อเนื่องปีละ 20-30 สาขา เป็นสัดส่วนรายได้กว่า 60% พร้อมรุกขยายฐานลูกค้าต่างประเทศผ่าน E-Commerce เพิ่มรายได้

บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อความงามประเภทเครื่องสำอางและบำรุงผิว ตั้งเป้ารายได้ในปี 2561 มีรายได้ไม่น้อยกว่า 4,290 ล้านบาท หรือเติบโตไม่ตํ่ากว่า 20% จาก 3,735 ล้านบาทในปี 2560 ที่ผ่านมา “ฐานเศรษฐกิจ” ได้พูดคุยกับ น.พ.สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BEAUTY

น.พ.สุวินกล่าวถึงทิศทางธุรกิจของบริษัทว่า ในช่วง 5 ปีนี้บริษัทจะรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 20% และรักษาอัตรากำไรสุทธิให้ไม่ตํ่ากว่า 20% โดยดำเนินตามกลยุทธ์ Multi Brands, Multi Products, และ Multi Channels ปัจจุบันบริษัทมีแหล่งที่มาของรายได้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Retail และ Non-Retail โดยในปี 2560-2561 มีสัดส่วนเป็น 68%: 32% และในช่วง 5 ปีนี้สัดส่วนจะปรับไปเป็น 60% : 40%

ในไตรมาส 1 ปีนี้ รายได้หลักยังคงมาจาก Retail ประมาณ 68% คือ การขายผ่านร้านค้าของบริษัทในประเทศไทย ปัจจุบันมีอยู่ 348 สาขา ประกอบด้วย บิวตี้ บุฟเฟ่ต์ 264 สาขา, บิวตี้ คอตเทจ 75 สาขา, และ บิวตี้มาร์เก็ต 9 สาขา โดยมีอัตราการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิมที่มีอยู่ (Same Store Sales Growth) เพิ่มขึ้น 18.43% P1-17

น.พ.สุวิน ระบุว่าการขยายสาขายังมีความจำเป็น บริษัทมีนโยบายเปิดร้านค้าเพิ่มปีละ 20-30 ร้านค้า โดยเป็นไปอย่างระมัดระวัง วิเคราะห์และเลือกทำเลที่เหมาะสม

สำหรับรายได้ที่มาจาก Non-Retail ในไตรมาส 1/2018 มีสัดส่วน 32% ของรายได้รวม และจะเพิ่มเป็น 40% ในอีก 5 ปีข้างหน้า รายได้ในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย การขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด อาทิ ร้านบู๊ทส์  เซเว่น อีเลฟเว่น คิงเพาเวอร์ แม็กซ์แวลู ฯลฯ เป็นสัดส่วน 15.8% ของรายได้รวม

การขายไปต่างประเทศ(Overseas) มีสัดส่วน 12.9% ของยอดขายรวม ผ่านช่องทางขายส่ง และขายผ่านตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ กระจายไปใน 7 ประเทศ มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งร้านค้าเต็มรูปแบบเหมือนในไทย (Independent shop), เคาน์เตอร์จำหน่ายสินค้า (Counter sales), Shop in Shop, และการค้าส่ง

โดยปัจจุบันได้เพิ่มช่องทางขายผ่าน Cross-Border E-Commerce เพื่อรุกตลาดในประเทศจีนผ่านเว็บไซต์ 4 แพลตฟอร์ม คือ TMALL, KAOLA, VIP และ YUNJI ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ 300 ล้านบาท และยังอยู่ระหว่างเจรจาเพิ่มเติมอีกหลายราย   นอกจากนี้ บริษัทยังมีช่องทางการขายผ่านอี-คอมเมิร์ซในไทยเป็นสัดส่วน 4.4% ของรายได้รวม

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

น.พ.สุวินกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีเงินทุนหมุน เวียนเพียงพอต่อการลงทุน โดยในปีนี้จะลงทุน 120 ล้านบาท ในการขยายสาขาและเพิ่มช่องทางจำหน่ายอื่นๆ บริษัทมีหนี้สินไม่มาก อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.35 เท่า และไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนขนาดใหญ่ในขณะนี้ และบริษัทไม่มีนโยบายลงทุนในการก่อสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้าเอง เพราะปัจจุบันราคาสินค้าที่บริษัทจ้างผลิต (OEM) ทั้งในและต่างประเทศจากหลายสิบโรงงาน ก็ต่อรองได้ราคาที่ดี

“การควบรวม หรือซื้อกิจการ (M&A) ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส ต้องพิจารณาความจำเป็น ความคุ้มค่า รวมถึงความเสี่ยง ขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่าต้องทำ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธหากมีลู่ทางในอนาคตที่เห็นว่าเหมาะสม” น.พ.สุวินกล่าว

สำหรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้น น.พ.สุวิน กล่าวว่าที่ผ่านมามีนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจ จึงมีการขายหุ้นออกไป สัดส่วนการถือหุ้นในขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว และไม่มีความตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทแต่อย่างใด

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีีที่ 38 ฉบับที่ 3,367 วันที่ 20-23 พ.ค. 2561

e-book-1-503x62-7