‘คริปโตฯ’ฝ่าด่านหินทุกข้อกฎหมายเข้มเต็มพิกัด5ปีเงินดิจิตอลฮิตยุคไร้เงินสด

24 พฤษภาคม 2561
เอกชนหวั่นเก็บภาษีคริปโตฯ กระทบการพัฒนา แม้มาถูกทางออกกฎหมายเป็นประเทศแรกๆ ในโลก แต่ต้องสมดุลระหว่าง “กำกับควบคุม”กับ “หนุนให้พัฒนา” แนะพัฒนาตลาดรองให้เติบโตก่อน จะทำให้แพร่หลายสู่การใช้จ่ายจริงในสังคมไร้เงินสดในอีกไม่เกิน 5 ปี

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับภาษีกำไรจากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี 15% ก็นับว่าโหดพอสมควร ส่วนภาษีที่เก็บจากผู้ที่เสนอขายเหรียญโทเคน เห็นว่าควรจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ออกเหรียญเพื่อกระตุ้นให้มีการทำมากขึ้น เพราะหากบริษัทที่อยากทำ ICO ต้องเสียภาษีทั้ง VAT 7% และภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 20% ก็จะหนีออกไปทำนอกประเทศกันหมด

ภาครัฐควรถ่วงดุลให้เหมาะสมในการใช้กฎหมาย ระหว่างการ “ควบคุม” และ “การพัฒนา” โดยส่วนตัว ตนดีใจที่ประเทศไทยมีกฎหมายออกมา แต่ดูแล้วยังหนักไปในทางควบคุม การกำหนดมาตรการทางภาษีต่างๆควรกำหนดให้เหมาะสม ควรจะมีการให้ความรู้ประชาชนให้มากขึ้น mp17-3367-a

นายกฤษฎ์ ดำประสงค์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท แฮชบีเอ็กซ์ โกลบอล จำกัด ผู้ประกอบการเหมืองขุดคริปโตเคอร์เรนซีรายใหญ่ ได้พูดคุยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” และเสนอความคิดเห็นว่า อยากเสนอให้ภาครัฐเก็บภาษีการโอน เปลี่ยนมือ ของคริปโตเคอร์เรนซีในอัตรา 0.25% ในทุกๆ รายการที่เกิดขึ้นนอกตลาดรอง ให้เท่ากับค่าคอมมิสชันที่ตลาดทั่วโลกเก็บจากการซื้อขาย

ส่วนการซื้อขายในตลาดรอง มีค่าคอมมิสชัน 0.25% อยู่แล้ว ภาครัฐควรจะยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เพื่อสนับสนุนให้ตลาดรองคริปโตเคอร์เรนซีเติบโต เมื่อตลาดรองเติบโต มีผู้เล่นเข้ามามากขึ้น คนมีความรู้ คุ้นเคย และรู้จักสินทรัพย์ดิจิตอลมากขึ้น การใช้จ่ายด้วยเงินดิจิตอลจะแพร่หลายมากขึ้นนอกจากแค่ซื้อขายทำกำไรในตลาดรอง ภายใน 5 ปี เงินดิจิตอลจะเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ซื้อของตามร้านค้า และจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการใช้จ่ายเงินดิจิตอลรายแรกๆ ในโลก

ปัจจุบัน สังคม Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสดได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งบัตรเติมเงินต่างๆ บัตรรถไฟฟ้า บัตรร้านเซเว่น อีเลฟเว่น, Line pay, Ali pay, การสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อชำระเงิน ในอนาคตร้านค้าก็จะมีการรับชำระด้วยสกุลเงินดิจิตอลมากขึ้น เพราะใช้จ่ายกันได้ทั่วโลก ไม่ติดเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน

“ควรสนับสนุนคนไทย ให้พัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับการมาของอนาคต อย่าใช้กฎระเบียบมากำกับดูแล จนการพัฒนาต่างๆ หนีออกไปต่างประเทศกันหมด” นายกฤษฎ์กล่าว

นายศิวนัส ยามดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คอยน์แอสเซท (Coinasset.co.th) เว็บไซต์ซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีที่พัฒนาระบบมากว่า 1 ปีด้วยทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ต่อร่างหลักเกณฑ์การเป็นศูนย์ซื้อขายที่กำหนดเงื่อนไขต้องมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้เล่นรายใหญ่ และตัดโอกาสรายเล็กๆ นักพัฒนารุ่นใหม่ๆที่มีความสามารถ แต่ทำเองไม่ได้ ก็ต้องวิ่งเข้าหานายทุน ธุรกิจก็จะอยู่ในมือของทุนใหญ่ไม่กี่กลุ่ม การแข่งขันมีน้อย ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์เพราะไม่มีทางเลือกใหม่ๆมากนัก

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“ทั้งๆที่คนไทยที่มีศักยภาพมีจำนวนมาก มีความสามารถไปแข่งขันได้ในระดับโลก หากปิดโอกาสให้เขาเติบโตในประเทศไทย ก็จะออกไปทำในต่างประเทศกัน”

การที่ไทยออกกฎหมายเป็นประเทศแรกๆ ถือเป็นสิ่งที่ดี ถือว่าเตรียมหันมารุกพัฒนาทางด้านนี้ แต่กลับไม่มีจุดดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ขนาดของตลาดยังเล็ก สภาพคล่องยังมีน้อย แม้อัตราภาษีกำไรจากการซื้อขาย 15% จะถือว่าไม่สูงมาก แต่ไทยกำลังถูกจับตามองจากนักลงทุนต่างชาติมาก

“ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางการว่าจะใช้กฎหมายอย่างไรในการพัฒนาให้ตลาดมีการเติบโต  แล้วจึงเข้าควบคุมอย่างเหมาะสม หรือจะทำให้กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา”

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีแอลเอสเอ (ประ เทศไทย)ฯ กล่าวว่า การที่ภาครัฐออกกฎหมายมากำกับดูแลธุรกิจดิจิตอล ช่วงนี้เป็นช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็น อยากให้เข้าไปแสดงความคิดเห็นกันให้มากๆ ส่วนตัวเห็นว่าการเก็บภาษีควรมีความเป็นธรรม เก็บในจุดที่ควรเก็บ บางส่วนควรยกเว้นหรือไม่ ปัจจุบันบริการของต่างชาติรัฐไม่มีการเก็บภาษี อาทิ Line, Facebook, Google เราลงโฆษณาได้ไม่มีภาษี VAT แต่ถ้าลงโฆษณาหนังสือพิมพ์ไทย เราต้องเสีย VAT ถ้าจะแข่งขันให้เป็นธรรม ควรเก็บภาษีให้เท่าเทียมกัน ภาครัฐต้องกล้าปล่อยให้เอกชนลองผิดลองถูกได้ และไม่ไปดูถูกเมื่อเกิดความล้มเหลว แต่ต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อไป

“ปล่อยให้เรา เกิด คลาน เดิน วิ่ง ก่อนที่จะมาคุมกําเนิด (กำกับ) เรา!? Please let us ‘StartUp’ first before you try to ‘Shut Us’ down”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,367 วันที่ 20-23 พ.ค. 2561

e-book-1-503x62-7