"วัชรพล" ชี้ คดีเงินทอนวัดคืบ บางรายจำคุกถึง 200 ปี

18 พ.ค. 2561 | 09:58 น.
“วัชรพล” ยัน คดีเงินทอนวัดคืบ คาด ชัดเจนได้ภายในปีงบประมาณนี้ เผย โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 50 ปี ชี้ บางรายอาจมีโทษจำคุกทุกกระทงรวมกันสูงถึง 200 ปี

- 18 พ.ค. 61 - พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีเงินทอนวัด ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปทั้งหมด 13 สำนวน จำนวน 13 วัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐในการทุจริตเงินในวัดต่างๆ ซึ่ง ป.ป.ช.สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระบวนการในเชิงบริหารจัดการนั้น ป.ป.ช.มีข้อมูลหมดแล้วซึ่งจะได้นำมาไต่สวนใช้พยานหลักฐานร่วมกันได้ และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสำนวนยืนยันแล้วว่า จะสามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วเพื่อสรุปสำนวนเสนอให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณา

ทั้งนี้ ทั้ง 13 สำนวนนั้นต่างกรรมต่างวาระกันต้องแล้วแต่การแยกสำนวนและบริหารจัดการคดี อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติแล้วว่า พยานหลักฐานใดที่ใช้ร่วมได้ให้นำมาใช้ได้ในสำนวนอื่นๆ เช่นกัน ดังนั้น จะทำให้ประหยัดเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานได้

ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่สามารถตรวจจับผู้ต้องสงสัยที่มียศร้อยโทได้เพิ่ม และต้นสังกัดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริงแล้ว ทาง ป.ป.ช.จะเอาเรื่องดังกล่าวมาร่วมพิจารณาได้หรือไม่นั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า จากที่ปรากฏเป็นข่าวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องเข้าไปดูว่า เมื่อมีหน่วยงานดำเนินการตรวจสอบ ถ้าอยู่ในอำนาจกฎหมายของ ป.ป.ช. ต้องให้หน่วยงานนั้นส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช.พิจารณา ดังนั้น  เมื่อขณะนี้หน่วยงานเขาทำอยู่ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ต้องไปติดตามแต่จะไม่ลงไปแล้วทำให้เกิดความซ้ำซ้อนซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบชัดเจน

นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ในเมื่อทุกหน่วยงานช่วยกันสอดส่อง ช่วยกันตรวจสอบเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่า คดีเงินทอนวัดจะพิจารณาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ล่าช้า ถึงแม้ว่ากรรมการ ป.ป.ช.จะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในบางสำนวนแต่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าภายในปีงบประมาณนี้เรื่องนี้จะมีความชัดเจนขึ้น

พล.ต.อ.วัชรพล ให้ข้อสังเกตว่า ใน 13 สำนวนนั้นมีชื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ซ้ำกันอยู่บ้างโดยเฉพาะในตำแหน่งข้าราชการระดับสูง เช่น อดีต ผอ.พศ. และรอง ผอ.พศ. แต่ในการพิจารณาจะพิจารณาต่างกรรมต่างวาระ ดำเนินการแต่ละสำนวนไป ในขณะที่ศาลพิจารณาลงโทษจะพิจารณาเป็นรายกระทงเช่นกันซึ่งมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 50 ปีในแต่ละคดี หากนำแต่ละสำนวนมารวมกันโทษอาจจะสูงสุดถึง 200 ปีได้ ดังนั้น ถ้าบางคนถูกลงโทษแต่ละสำนวนจะถูกนำมารวมๆกัน เหมือนในคดีอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะมีหลายคดีในการพิจารณาไปพร้อมกันเช่นนี้แต่เมื่อพิจารณาคดีหลักได้ก่อนแล้วคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะง่าย ระยะเวลาในการพิจารณาจะลดลงเพราะไม่เสียเวลาในการสอบพยาน หาข้อมูลหลักฐาน พล.ต.อ.วัชรพล ระบุ  และว่า ในบางสำนวน ป.ป.ช.ยังสามารถพิจารณาในกรณีร่ำรวยผิดปกติได้ด้วยเพื่อพิจารณาว่า ทำอย่างไรจะได้ทรัพย์สินของรัฐคืนเพื่อให้เขารู้ว่าโกงวัดไปไม่ได้เงินและจะยึดทรัพย์ตามมูลค่า ถ้าโกงไป 10 ล้านบาท ในคำพิพากษาจะให้ติดตามทรัพย์สินอื่นในมูลค่าเดียวกันกลับมาชดใช้ต่อรัฐ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปต่างประเทศ ตามกฎหมายใหม่สามารถพิจารณาสอบสวนพยานลับหลังได้ ดังนั้น ก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต