ร่วมวงหนุน! "ลดอาวุธนิวเคลียร์" สนช. เห็นชอบสนธิสัญญา CTBT

21 พ.ค. 2561 | 07:28 น.
สนช. มีมติเห็นชอบสนธิสัญญา CTBT และรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ ไว้พิจารณา ร่วมเป็นภาคีสนับสนุนกระบวนการลดอาวุธนิวเคลียร์ในทุกรูปแบบ

วันที่ 18 พ.ค. 2561 - ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT) ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 179 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง จากนั้นมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอไว้พิจารณา ด้วยคะแนน 179 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 18 คน กำหนดระยะเวลาแปรปัญญัติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน


org_2325106854

โดย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อภิปรายชี้แจงว่า สนธิสัญญาดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายหลัก ห้ามรัฐภาคีทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ในทุกรูปแบบ ปัจจุบัน มีประเทศที่ลงนามแล้ว 183 ประเทศ และให้สัตยาบันแล้ว 166 ประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นอีก 9 ประเทศ

สนธิสัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศที่ร่วมเจรจาจัดทำสนธิสัญญาฯ และมีศักยภาพทางนิวเคลียร์ 44 ประเทศ หรือ กลุ่มประเทศ Annex 2 ทุกประเทศ ให้สัตยาบัน ซึ่งปัจจุบันยังเหลืออีก 8 ประเทศ ประกอบด้วย จีน, อียิปต์, อิหร่าน, อิสราเอล, อินเดีย, เกาหลีเหนือ, ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงยังไม่มีองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ แต่ได้มีการตั้งกรรมาธิการฯ ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่กำกับนโยบายและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องไปก่อน มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังไม่ให้สัตยาบัน เนื่องจากต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่สนธิสัญญาฯ กำหนดไว้ 2 ประการ คือ

1.การมีกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับการห้ามทดลองอาวุธ หรือ ระเบิดนิวเคลียร์ ไม่ว่าในพื้นที่ใด ๆ ของประเทศ
2.การมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ ในประการแรก ขณะนี้ไทยได้ดำเนินการแล้ว คือ การมี พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ส่วนประการที่ 2 อยู่ระหว่างการดำเนินการให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาฯ ดังกล่าว เมื่อปี 2539 ซึ่งสนธิสัญญาและพิธีสารแนบท้ายสนธิสัญญาได้กำหนดให้องค์การสนธิสัญญาฯ และผู้ปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับองค์การได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่จำเป็น เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินงานขององค์การในอาณาเขต หรือ การควบคุมของรัฐภาคี

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับเมื่อเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ คือ จะช่วยเสริมสร้างบทบาทประเทศระดับสากลในเรื่องของการลดและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้ไทยสามารถต่อยอดและยกระดับบทบาทในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น และสร้างแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการส่งเสริมความเป็นสากล และส่งเสริมการบังคับใช้ CTBT ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีกับมิตรประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โสมแดงขู่ล้มโต๊ะ! หาก 'สหรัฐฯ' ไม่เลิกกดดัน 'นิวเคลียร์' และซ้อมรบร่วมโสมขาว
ราคาน้ำมันดิบลด หลังประเทศพันธมิตรจะสนับสนุนข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านต่อไป


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว