ขาดกำลังคนดิจิตอล ทีดีอาร์ไอ จี้รัฐ!! รื้อหลักสูตรรับอุตฯเป้าหมาย

20 พ.ค. 2561 | 09:36 น.
มีผลใช้บังคับแล้วสำหรับพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะมารองรับในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศหรือไทยแลนด์ 4.0 โดยมุ่งพัฒนาใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วยการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

ขาดกำลังคนด้านดิจิตอล

โดยปัจจัยหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว หนีไม่พ้นเรื่องของการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะกำลังคนด้านดิจิตอล ที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่อีอีซี จะมีเพียงพอหรือไม่ ซึ่งจากผลการศึกษาแนวทางการสร้างกำลังคนด้านดิจิตอลของไทย: จากปริมาณสู่คุณภาพ ของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ก็พบว่ายังขาดแคลนอีกเป็นจำนวนมาก TP11-3367-B

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวา นิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) สะท้อนให้เห็นว่า แม้นโยบายการพัฒนาพื้นที่อีอีซี จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับไทยแลนด์ 4.0 แต่ยังมีข้อจำกัดในการพัฒนากำลังคนทักษะสูงที่มีคุณภาพจำนวนมาก ซึ่งจากการคาดการณ์ความต้องการคนทำงานด้านดิจิตอลในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีมีถึง  2.68 แสนคน
ทำงานไม่ตรงตามสาขา

โดยผลศึกษาชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้กำลังคนด้านดิจิตอลของไทย จะผลิตออกมาในปริมาณมาก แต่กำลังคนที่มีคุณภาพสูงที่สามารถทำงานได้จริงมีปริมาณน้อย ทำให้ดูเหมือนประเทศไทยขาดกำลังคนด้านดิจิตอล โดยในปี 2560 มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเฉพาะสาขาคอมพิวเตอร์ เกือบ 20,000 คน (ไม่รวมผู้จบการศึกษาในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมโทรคมนาคม) แต่มีผู้ว่างงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์เกือบ 7,000 คน

ขณะที่ความต้องการกำลังคนด้านดิจิตอลในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000คน และภาคธุรกิจมักสะท้อนปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิตอลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง โดยเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาด้านดิจิตอลระดับอาชีวะและทำงานตรงสาขามีจำนวนน้อยมาก และยังมีแนวโน้มลดลงตามโครงสร้างประชากร ในขณะที่ความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนกำลังคนในระดับอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง

หลักสูตรไม่ทันเทคโนโลยี

สาเหตุหนึ่งของสถานการณ์ดังกล่าวคือหลักสูตรสาขาคอมพิวเตอร์ที่สอนอยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่ง ยังไม่ได้ปรับให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งบางหลักสูตรไม่ได้บรรจุวิชาหลักที่จำเป็นต่อการเป็นนักวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอซีที) อีกทั้ง หลักสูตรที่มีอยู่ในปัจจุบันบางส่วน ยังไม่มีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการร่างและการพัฒนาหลักสูตรมากพอ เช่น ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม อย่างแท้จริง ไม่สามารถทำให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับแนวเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่สำคัญการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรีตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดต้องปรับปรุงทุก 5 ปี อาจล่าช้าเกินไป ทำให้หลักสูตรไม่ทันสมัย เป็นต้น

จี้รัฐปรับหลักสูตรใหม่

ดังนั้น หากต้องการเพิ่มกำลังคนด้านดิจิตอลเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซีได้จริง จำเป็นต้องปรับคุณภาพของกำลังคนด้านดิจิตอลอย่างเร่งด่วน โดยจะต้องเริ่มจากภาครัฐผลักดัน ตามแนวทางดำเนินการในระยะสั้น ได้แก่ การร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี จัดโปรแกรมหรือหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นด้านเทคโนโลยีดิจิตอลที่เกิดขึ้นใหม่ เช่นปัญญาประดิษฐ์ (AI)และอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และภาครัฐควรส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี  เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรด้านดิจิตอลที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้จริงและภาครัฐควรอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาทำงานของนักวิชาชีพดิจิตอลที่มีทักษะสูงให้มากขึ้น เช่น มาตรการสมาร์ทวีซ่าของไทยในปัจจุบัน กำหนดให้นักวิชาชีพทักษะสูงที่มีเงินเดือนอย่างน้อย 2แสนบาทจะได้วีซ่านาน 4 ปี ภาครัฐอาจพิจารณาปรับเงื่อนไขให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยกำหนดให้ผู้มีเงินเดือนอย่างน้อย1แสนบาทแต่ไม่ถึง2แสนบาทจะได้วีซ่านาน2ปี เป็นต้น

รายงาน:โต๊ะข่าวอีอีซี |หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,367 วันที่ 20-23 พ.ค. 2561

e-book-1-503x62-7