เป้าลงทุนEEC3.5แสนล.ลุยโรดโชว์ต่างประเทศ ‘ประยุทธ์’ นำทัพบุกฝรั่งเศส

24 พ.ค. 2561 | 04:43 น.
“คณิศ” ตั้งเป้ายอดส่งเสริมการลงทุนอีอีซีปีนี้พุ่ง  3.5 แสนล้านบาท หลังพ.ร.บ.อีอีซีมีผลบังคับใช้ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน พร้อมเดินหน้าลุยโรดโชว์ต่างประเทศ ยันการทำงานไม่สะดุด คณะกรรมการนโยบายฯยังทำงานได้ต่อเนื่อง มิ.ย.นี้ “ประยุทธ์” เดินทางเยือนฝรั่งเศสลงนามร่วมทุนแอร์บัส-ทีจี

หลังจากที่พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อเป็นกฎหมายรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ได้ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น โดยทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในปีนี้ว่าจะมีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีราว 3.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2.9 แสนล้านบาท

โดยเป้าหมายดังกล่าวทางสกพอ.มีแผนที่จะออกไปชักจูงนักลงทุน(โรดโชว์)ในประเทศเป้าหมายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็นต้น

TP11-3367-A

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้มีความลังเลในการตัดสินใจ จึงทำให้ตั้งเป้าหมายไว้ในปีนี้ว่า จะมีผู้มายื่นขอส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไออยู่ที่3.5แสนล้านบาท จากเป้าหมายโดยรวมของบีโอไอที่ตั้งไว้ที่ 7.2แสนล้านบาท ดังนั้นเป้าหมายดังกล่าวจึงไม่น่าจะเกินความสามารถในการดำเนินงาน เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกมีนักลงทุนมายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอใน10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว 1.84 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่อยู่ในอีอีซีถึง 1.66 แสนล้านบาท

ดังนั้น จากระยะที่เหลือนี้ทางสกพอ.จะเร่งจัดทำแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกไปเชิญชวนนักลงทุน(โรดโชว์) ในประเทศเป้าหมายเช่น ญี่ปุ่น เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาจะเป็นนักลงทุนกลุ่มใหญ่ที่ลงทุนอยู่แล้วก็ตามอีกทั้งการไปตอกยํ้านักลงทุนของจีน จากที่ก่อนหน้านี้ได้ไปชักจูงการลงทุนมารอบหนึ่งแล้วที่เมืองหังโจวและเซี่ยงไฮ้ รวมถึงนักลงทุนจากเกาหลีใต้ แม้จะมาดูทางและโอกาสการลงทุนในช่วงวันที่ 16-17 พฤษภาคม ที่ผ่านมาก็ตาม แต่จะต้องไปเชิญชวนนักลงทุนให้ถึงตัวมากขึ้น รวมถึงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจ

อีกทั้ง ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการที่จะเดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อเป็นสักขีพยาน ในการลงนามร่วมทุนระหว่างบริษัทแอร์บัสฯและบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ในโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา(MRO) มูลค่าการลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท จะเป็นอีกเวทีหนึ่งที่จะเชิญชวนนักลงทุนต่างๆ และเลยไปชักจูงนักลงทุนที่ประเทศอังกฤษด้วย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ส่วนการดำเนินงานหลังจากพ.ร.บ.อีอีซี มีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายฯขึ้นมาใหม่ภายใน 60 วัน โดยมีการเพิ่มเติมตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงจาก 6 กระทรวง เป็น 14 กระทรวง จากกรรมการทั้งหมด 28 คน รวมทั้งต้องแต่งตั้งเลขาธิการขึ้นมาภายใน 90 วัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน เนื่องจากระหว่างนี้ในกฎหมาย ตามมาตรา 69  กำหนดให้คณะกรรมการและเลขาธิการเดิม สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องได้ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่

โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 จะมีวาระต่างๆ รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของอีอีซีให้ที่ประชุมรับทราบ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาคอุตสาหกรรม การศึกษา โดยเฉพาะความคืบหน้าในการจัดทำทีโออาร์ สำหรับการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่คาดว่าจะประกาศได้ไม่เกินกลางเดือนมิถุนายนนี้ เป็นอย่างช้ารวมถึงความคืบหน้าโครงการ MRO ระหว่างแอร์บัสและการบินไทย ที่จะมีการลงนามเอ็มโอยู ระหว่างกองทัพเรือ และกรมธนารักษ์ ว่าด้วยการให้สิทธิการบินไทยเช่าพื้นที่จำนวน 250 ไร่ เพื่อประกอบกิจการบนพื้นที่อากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาซึ่งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

                   หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,367 วันที่ 20-23 พ.ค. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว