"ไทยฮั้ว" เล็งเป้า 3 หมื่นล้าน ควบรวม ‘ก๋วงเขิ่น’ อีก 5 โรงงานหวังผงาดเบอร์ 1

26 พ.ค. 2561 | 13:42 น.
ไทยฮั้วยางพารา โชว์แผนหลังควบรวมกิจการไทยก๋วงเขิ่น เร่งตั้งโรงงานยางแท่งอีก 8 แห่งรวดในไทยและลาว ดันเพิ่มกำลังผลิตเป็น 1.5 ล้านตัน ผงาดเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางอันดับ 1 ของประเทศใน 3 ปี ขณะตั้งเป้าปีนี้ยอดขายเพิ่มไม่ตํ่ากว่า 50% ยอดพุ่ง 3 หมื่นล้าน

หลังจากที่บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกยางพาราใน 3 อันดับแรกของประเทศได้ดึงกลุ่มก๋วงเขิ่น รับเบอร์ รัฐวิสาหกิจด้านยางพารารายใหญ่สุดของจีนมาถือหุ้นในบริษัท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ โดยมีพิธีประกาศและฉลองการร่วมทุนไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 นั้น TP8-3367-A นายหลักชัย กิตติพล ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุด ทางก๋วงเขิ่น  ในนามไทยก๋วงเขิ่น รับเบอร์ได้เพิ่มการถือหุ้นในไทยฮั้วจากเดิม 59% เป็น 61% และอีก 39% ถือโดยไทยฮั้ว  ณ ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารโดยมีฝ่ายจีนเป็นประธานคณะผู้บริหาร ขณะเดียวกันไทยฮั้ว อยู่ระหว่างการควบรวมกิจการกับไทยก๋วงเขิ่น  จากปัจจุบันไทยฮั้ว มี 17 โรงงาน (ยางแท่ง ยางแผ่น นํ้ายางข้น)  จะรวม 5 โรงงานของไทยก๋วงเขิ่น ที่มีผลประกอบการที่ดีเข้ามาอยู่ในเครือด้วย รวมเป็น 22 โรงงาน และจะส่งผลให้ไทยฮั้ว มีกำลังผลิตยางพาราเพิ่มจาก 7 แสนตันเป็น 9 แสนตัน (รวมของไทยก๋วงเขิ่น อีก 2 แสนตัน)

ไทยฮั้ว ยังได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ในการผลิตยางแท่ง (STR) อีก 6 โรงงาน กำลังผลิต 5 หมื่นตัน/โรง และเงินลงทุน 300 ล้านบาท /โรง โดยจะตั้งที่จังหวัดเชียงราย ยโสธร ศรีสะเกษ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี ซึ่งจะทยอยลงทุนก่อสร้างให้ครบทั้ง 6 แห่ง ภายใน 2-3 ปี อีกด้านหนึ่งบริษัทได้ไปลงทุนปลูกยางพาราในลาวใน 4 พื้นที่ได้แก่ เวียงจันทน์ บอลิคำไซ คำม่วน สะหวันเขต รวมพื้นที่ราว 5 หมื่นไร่ ซึ่งได้ทยอยเปิดกรีดแล้ว บริษัทมีแผนตั้งโรงงานผลิตยางแท่งในลาว 2 โรง โดยปีนี้จะสร้างก่อน 1 โรงที่เวียงจันทน์ กำลังผลิต 2 หมื่นตัน เงินลงทุน 150 ล้านบาท
TP-113232-a “6 โรงงานในไทยจะสร้าง 1 โรงงานเป็นอย่างตํ่าในปีนี้ ส่วนในลาวจะตั้ง 1 โรงก่อนที่เวียงจันทน์ และอีก 1 โรงที่สะหวันนะเขตจะตามมาในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งการลงทุนตั้งโรงงานยางแท่งเพิ่มทั้งในไทยและในลาวจะทำให้ใน 3 ปีจากนี้ไทยฮั้ว จะมีโรงงานเพิ่มเป็น 30 โรง และเป็นผู้มีกำลังผลิตยางพาราสูงสุดของประเทศที่ 1.5 ล้านตัน ซึ่งจะช่วยให้เรามีมูลค่าการส่งออกยางเป็นอันดับ 1 ของประเทศได้”

นายหลักชัย กล่าวถึงรายได้ของบริษัทในปี 2560 อยู่ที่กว่า 2 หมื่นล้านบาท (เป็นรายได้ที่ยังไม่ได้ควบรวมกิจการกับไทยก๋วงเขิ่น) จากปี 2559 ที่มีรายได้อยู่ที่ 8,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 150% โดยรายได้ส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเป็นรายได้จากการจำหน่ายยางแท่ง ยางแผ่น ให้กับผู้ผลิตยางล้อรถยนต์รายใหญ่จากต่างประเทศที่มีฐานผลิตในไทย การจำหน่ายนํ้ายางข้นให้กับผู้ผลิตถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ รวมถึงการส่งออกยางพาราไปต่างประเทศมีตลาดใหญ่ที่จีน

ส่วนในปี 2561 นี้บริษัทคาดรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 50% บนพื้นฐานราคาส่งออกซีไอเอฟ (รวมค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ถึงประเทศปลายทาง) ที่บริษัทส่งออกแบบซีไอเอฟเป็นส่วนใหญ่ราคายางไม่ตํ่ากว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม และจะมีรายได้เพิ่มจาก 5 โรงงานของไทยก๋วงเขิ่นที่จะควบรวมเข้ามา

ทั้งนี้คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกยางในประเทศและราคายางส่งออกของไทยในครึ่งหลังของปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นกว่าในครึ่งปีแรก มีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้ยางของประเทศคู่ค้ายังขยายตัว ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จะช่วยให้ยางธรรมชาติปรับตัวขึ้นได้ตามยางสังเคราะห์ที่ได้จากนํ้ามัน เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ทำให้การเจรจาต่อรองราคาสินค้าง่ายขึ้น ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญคือสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่อาจกระทบกับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของจีน และกระทบกับไทยทางอ้อม

.............

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38ฉบับที่ 3,367วันที่ 20-23 พ.ค. 2561