เวิลด์แบงก์แนะไทย ‘วิ่งมาราธอน’ยกระดับขีดแข่งขัน

23 พ.ค. 2561 | 04:50 น.
นับถอยหลังอีก 5 เดือนจากนี้เตรียมลุ้นระทึกกับ “อันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจ” หรือ Doing Business 2019 โดยธนาคารโลก (World Bank) ว่าอันดับของประเทศไทยจะขยับขึ้นหรือลง จากอันดับ 26 ของโลกในปีที่แล้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมาเวิลด์แบงก์ส่งทีมนักวิจัยมาปักหลักที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการหรือ ก.พ.ร. เก็บข้อมูลของหน่วยงานราชการ นำไปประกอบกับข้อมูลของผู้นำรัฐบาล และสอบถามการใช้บริการจริงจากภาคเอกชน เพื่อนำกลับไปจัดทำรายงานและจัดอันดับโลก ซึ่งจะเผยแพร่วันที่ 31  ตุลาคมนี้ ภายใต้เกณฑ์ให้คะแนน 10 ด้าน ได้แก่

1. ด้านเริ่มต้นธุรกิจ 2.  ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง 3.  ด้านการขอใช้ไฟฟ้า 4. ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน 5. ด้านการได้รับสินเชื่อ 6. การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย 7. การชำระภาษี 8. ด้านการค้าระหว่างประ เทศ 9. ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และ 10. ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย

Bank_world

แม้ว่าปีที่แล้ว ประเทศไทยจะพัฒนาแบบก้าวกระโดดจากอันดับ 46 พุ่งขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 26 ของโลก แต่ในผลการประเมิน 10 ด้าน ยังมี 3 ด้านหลัก ที่เป็น “จุดอ่อน” ฉุดคะแนน และ 3 จุดนี้เอง เป็นสิ่งที่รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่

1. “ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน” ปีที่แล้วคะแนนนิ่งคงที่อันดับเดิม คือ 68 ของโลก แม้ว่าคะแนนจะเพิ่มขึ้น 0.41 คะแนน แต่ก็ไม่เพียงพอ 2. ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย อันดับลดลง 3 อันดับ จาก 23 ร่วงมาที่ 26 ด้วยคะแนนที่ลดลง 1.44 คะแนน และลดลง 1.07 คะแนน และ 3. ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง อันดับร่วงลงมา 1 อันดับ จาก 42 มาอยู่ 43 ของโลก

คำถามคือ 3 ด้านที่ฉุดคะแนน ปีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไขปัญหาหรือ “อัพเกรด” ตัวเองอย่างไร

“ในการแก้ไขปัญหาการล้มละลายปีที่แล้วคะแนนเต็ม 16 เราได้มา 12.5 คะแนน และที่ 1 ของโลกได้ 14 คะแนน แต่เราได้คะแนนด้านนี้เป็นที่ 1 ของอาเซียน ปีที่แล้วถูกตัดคะแนนจากคำถาม 3 ข้อ ที่กรมได้อุทธรณ์คะแนนของธนาคารโลกไปแล้วเมื่อปลายปี 2560 เพราะเรามั่นใจว่าเราจะได้ 13.5 หายไป 1 แต้มได้อย่างไร”

รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เล่าให้ฟังด้วยความข้องใจกับการคิดคะแนนของเวิลด์แบงก์ พร้อมเผยถึงการสู้กับตัวชี้วัดที่ 10 ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย ปีที่แล้วประเมินว่าเราใช้เวลาในกระบวนการแก้ปัญหาล้มละลาย 100 วัน วันนี้มั่นใจว่าใช้เวลา 75 วันเท่านั้น ปีนี้ยังมีการแก้ไขพ.ร.บ.ล้มละลาย มีผลใช้บังคับเมื่อต้นปี 2561 ทำให้ระยะเวลาลดลง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถส่งเอกสารคำสั่งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เวลาลดลงไม่น้อยกว่า 20 วัน

รวมถึงมีการแก้ไข “ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยภาคบังคับคดี” บังคับใช้เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก การปิดรับแบบสอบถามของปีที่แล้ว นี่ยังไม่นับรวมถึงการทำเอ็มโอยูหน่วยงานนายทะเบียนข้อมูลที่รวบรวมทรัพย์สินอีก 16 แห่ง เพื่อให้ตรวจสอบในระบบออนไลน์ได้ทันที หากมีประกาศพิทักษ์ทรัพย์ออกมา ทั้งรถยนต์ ที่ดิน เรือ เครื่องบิน เครื่องจักร ทรัพย์สินทางปัญญา ตราสารทางการเงิน หุ้น ทำให้มีประสิทธิภาพในการรวบรวมทรัพย์สินคืนมา TP7-3367-A

“เราทำดีที่สุดแล้วตามความต้องการให้ลดเวลาและขั้นตอนในการอนุญาต ในส่วนของ กทม.”

คำตอบของ “ณัฏฐ์ ศรีสุคนธนันท์” ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ที่บอกกับผู้สื่อข่าวหลังชี้แจงเวิลด์แบงก์ว่า มีการปรับปรุงใน 2 หัวข้อคือ การตรวจสอบระยะเวลาในการก่อสร้างอาคาร เดิมมี 7 ครั้ง ขณะนี้ลดเหลือ 3 ครั้งคือ 1. ช่วงอาคารก่อสร้างที่กำลังตอกเสาเข็ม เพื่อตรวจสอบระยะถอยร่นถูกตามกฎหมายหรือไม่ 2. ระหว่างการก่อสร้างเช่นเรื่องความปลอดภัย โครงสร้างมีการก่อสร้างตามการออกแบบไว้หรือไม่ 3. อาคารก่อสร้างเสร็จแล้ว เช่น ระบบความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัยจากนั้นผู้ประกอบการหรือเจ้าของอาคารจะมาขอใบรับรองอาคาร หรือใบ อ.6

“เดิมการออกใบ อ.6 ใช้เวลา 30 วัน เราก็ปรับให้เหลือ 15 วัน คิดว่า ตรงนี้จะเป็นประเด็นสำคัญด้านการขออนุญาตก่อสร้างที่จะทำให้อันดับของเราสูงขึ้น ส่วนความเสี่ยงของอาคารนั้นได้มีการพิจารณาแล้วในช่วงของการออกแบบอาคาร”

ด้านรักษาการวิศวกร กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย “เสถียร เจริญเหรียญ” เล่าชี้แจงเวิลด์แบงก์ว่า ต้อง ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำคู่มือในเรื่องของการอนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยเรื่องสำคัญคือ ระยะเวลาในการดำเนินการ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารสูง ที่ใช้เวลาการขออนุญาตไม่เกิน 45 วัน ส่วนขนาดเล็กอยู่ที่ 10 วัน ทั้งนี้เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขออนุญาต

ส่วนด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน ที่มีกรมที่ดินเป็นโต้โผหลัก “วราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง” ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจ กรมที่ดิน บอกอย่างมั่นใจว่า ปีนี้คะแนนจะดีขึ้นอย่างแน่นอนจากการดำเนินการ 3 ส่วนคือ 1.ยกเลิกการใช้สำเนาเอกสารในการติดต่อราชการกับกรมที่ดิน 2.การใช้ระบบออนไลน์-อิเล็กทรอนิกส์ มากขึ้นทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลดขั้นตอน ระยะเวลา ค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ประกอบการทางธุรกิจ

สำหรับการตรวจสอบหลักทรัพย์สามารถให้บริการต่างสํานักงานที่ดิน  ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า LandsFax และการพัฒนาโปรแกรม “LandsMaps” สามารถค้นหาตําแหน่งรูปแปลงที่ดิน ทางอินเตอร์เน็ตด้วยการคลิกเมาส์บนจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น ข้อมูลรูปแปลงที่ดิน ราคาประเมินที่ดิน ค่าใช้จ่ายในการรังวัด ค่าธรรมเนียม ภาษีอากร เบอร์โทรศัพท์ และที่ตั้งของสํานักงานที่ดิน จะปรากฏขึ้นมาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

แต่ถ้าจะเพิ่มแต้มด้านการจดทะเบียนทรัพย์สินได้ชัวร์ วราพงษ์ เสนอว่าการช่วยลดค่าธรรมเนียมการโอนต่างๆ จะช่วยลดต้นทุนของนักธุรกิจได้ทางหนึ่ง  เพราะธนาคารโลกอาจจะมองว่าทำไมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ยังสูงในการทำธุรกรรม แต่รัฐบาลอาจจะมองว่าทำให้รายได้ของประเทศหาย  ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลเป็นผู้กำหนด

ขณะที่ เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า การจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ ธนาคาร โลกจะดูว่าการทำธุรกิจมีขั้นตอนเยอะหรือไม่ ยื่นใบเอกสารกี่ใบ ไปกี่หน่วยงานกี่ครั้ง จะมีการนับครั้ง นับชั่วโมง และดูเกณฑ์กฎหมายว่าเอื้อหรือไม่ และภาคเอกชนรับรู้นำไปใช้จริงได้หรือไม่ จากนั้นก็นำมาจัดอันดับและจะมีการประกาศผลประมาณเดือนตุลาคม

“ส่วนแนวโน้มคะแนนในปีนี้ไทยจะคะแนนดีขึ้นกว่าอันดับ 26 ของโลกหรือไม่ เป็นเรื่องที่พูด ยากเพราะการจัดอันดับเป็นการเปรียบเทียบกับหลายประเทศ และหลายประเทศที่อันดับตํ่ากว่าก็มองไทยเป็นตัวอย่างในการพัฒนา ก็อยากจะอันดับดีขึ้น สิ่งที่ประเทศ ไทยต้องทำคือนำระบบอิเล็กทรอ นิกส์มาใช้ให้มากขึ้น ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยปีนี้ แต่ประเทศอื่นเขาปรับปรุงเหมือนกับการวิ่งแข่งมารา ธอนก็จะถูกแซงไปเรื่อยๆ”

                     หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3367 ระหว่างวันที่ 20-23 พ.ค. 2561

e-book-1-503x62-7