รถไฟทางคู่ "เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ" เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้

17 พ.ค. 2561 | 12:19 น.
 

2685485414 จัดเป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่กระทรวงคมนาคมเพียงรอหนังสือตอบจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตติ (สศช.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการโดยเร็วภายในปีนี้หลังจากที่มูลค่าปรับเพิ่มจาก 7.6 หมื่นล้านบาทเป็น 8.5 หมื่นล้านบาทในช่วงความล่าช้ากว่า 10 ปีที่ผ่านมา

รถไฟทางคู่เส้นทางนี้แนวระยะทางรวมประมาณ 323 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด คือ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย จำนวน 27 สถานี คือ สถานีสูงเม่น แพร่ แม่คำมี หนองเสี่ยว สอง แม่ตีบ งาว ปงเตา มหาวิทยาลัยพะเยา บ้านโทกหวาก พะเยา  ดงเจน บ้านร้อง  บ้านใหม่ ป่าแดดป่าแงะ บ้านโป่งเกลือ สันป่าเหียง เชียงราย  ทุ่งก่อ เวียงเชียงรุ้ง ชุมทางสถานีบ้านป่าซาง บ้านเกี๋ยง ศรีดอนชัย เชียงของ โชคชัย และสถานีเชียงแสน

โดยมีทั้งสถานีขนาดใหญ่ จำนวน 4 สถานี คือ เด่นชัย แพร่  พะเยา และเชียงราย สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถไฟจำนวน 13 สถานี มีทั้งอาคารสถานียกระดับสูงกว่าถนนทางเข้า ระดับเดียวกับถนนทางเข้า  โดยย่านสถานีเชียงของนั้นจะเป็นลานจอดขบวนรถไฟ อีกทั้งยังมีจุดก่อสร้างอุโมงค์อีกจำนวน 3 แห่ง รูปแบบอุโมงค์คู่ คือ จุดแรก ตั้งอยู่ที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มี 2 ช่วงคือช่วงแรกความยาวประมาณ 1.1 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 ยาวประมาณ 6.4 กิโลเมตร อุโมงค์จุดที่ 2 ตั้งอยู่อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ความยาวประมาณ 2.8 กิโลเมตร และอุโมงค์จุดที่ 3 ตั้งอยู่อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ความยาวประมาณ 3.6 กิโลเมตร
2662612 นอกจากนี้แนวเส้นทางยังเชื่อมเข้ากับพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดเชียงราย ที่ครอบคลุมพื้นที่ 21 ตำบลใน 3 อำเภอ คือ อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และอำเภอแม่สาย อีกทั้งยังเชื่อมกับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของซึ่งอยู่ใกล้กับสะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งที่ 4(เชียงของ-ห้วยทราย) โดยแนวเขตทางจะกว้าง 50-60 เมตรผ่านทั้งพื้นที่เนินเขาและพื้นที่ราบ

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาจะพบว่าจากงานวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์และการลงทุนที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(EIRR) 12.05% มีผลการวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนด้านการเงิน(FIRR) -4.81% คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการในปีแรกที่เปิดให้บริการกว่า 2 ล้านคนต่อปี มีปริมาณการขนส่งสินค้า 1.5 ล้านตันต่อปี การวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ มูลค่าโครงการนี้ประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นราคาค่าก่อสร้าง(ไม่รวมค่าที่ปรึกษา 3,500 ล้านบาท) 7.2 หมื่นล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง(จำนวน 7,035 แปลง รวม 9,661 ไร่) ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

คงต้องมีลุ้นกันว่ากระทรวงคมนาคมจะเร่งนำเสนอครม.อนุมัติให้เปิดประมูลได้เมื่อไหร่ และร.ฟ.ท.จะเปิดการประกวดราคาได้เดือนไหน แบ่งออกเป็นกี่สัญญาบ้าง และผู้รับเหมารายไหนจะได้งานไปดำเนินการปลายปีนี้น่าจะได้เห็นภาพชัดเจนก่อนที่จะไปลุ้นก่อสร้างในปีหน้า อีก 4 ปีค่อยมารอใช้บริการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งปัจจุบันช่วงลพบุรี-ปากนํ้าโพอยู่ระหว่างการเร่งก่อสร้าง ก่อนที่ระยะที่ 2 จะเปิดประมูลช่วงปากนํ้าโพ-เด่นชัยให้การเดินรถได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย

โดยรถไฟทางคู่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของจะใช้งบลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินและงบประมาณตามแผนบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อเข้าสู่กระบวนการดำเนินการจัดประกวดราคาจะสามารถจัดหาจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินควบคู่กันไปได้ คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ประมาณช่วงกลางปี 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ในปี 2562 ได้ตั้งงบประมาณเพื่อว่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืนที่ดินวงเงิน 72.50 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 72.50 ล้านบาท จากนั้นจึงจะเริ่มจ่ายค่าเวนคืนวงเงิน 6,048 ล้านบาท และปี 2564 อีกจำนวน 4,032 ล้านบาท
.....................
คอลัมน์ : เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ | หน้า 12  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ| ฉบับ 3365 ระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค.2561|
e-book-1-503x62-7