อดีตบิ๊ก 'ทอท.' ลงขัน! ตั้งบริษัทกราวด์เซอร์วิส

17 พ.ค. 2561 | 08:36 น.
170561-1513 1500621806661

เปิดโมเดลบริษัทร่วมทุนกราวด์เซอร์วิส ทอท. มูลค่าพันล้าน! เผยได้ 'เอสเอแอล' ถือหุ้น 30% พบไส้ในเจอขาใหญ่และอดีตบิ๊กการท่าฯ ถือหุ้น ส่วนโลว์คอสต์แอร์ไลน์เมิน เกรงค่าบริการแพง คาดนำร่องที่สนามบินดอนเมือง

หลังจากบอร์ด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2560 ให้ ทอท. จัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น (กราวด์ เซอร์วิส) สนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยการตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง ทอท. กับสายการบินที่ให้บริการอุปกรณ์ภาคพื้นที่มีอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 1 ราย และผู้ให้บริการอิสระไม่น้อยกว่า 1 ราย

 

[caption id="attachment_281906" align="aligncenter" width="503"] ©iii-logistics.com ©iii-logistics.com[/caption]

ล่าสุด ได้ข้อสรุปว่า แผนการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว ทอท. จะถือหุ้นในสัดส่วน 49% ที่เหลือจะเป็นภาคเอกชน โดยมี บริษัท เอสเอแอล กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในลานจอดอากาศยาน ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 30%, สายการบิน ถือหุ้น 15% ส่วนที่เหลือเป็นกองทุนต่าง ๆ ของภาครัฐ ใช้งบลงทุนในหลักพันล้านบาท

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการธุรกิจลานจอดอากาศยาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทดังกล่าวจะเริ่มที่สนามบินดอนเมืองเป็นแห่งแรก ซึ่งขณะนี้ สัดส่วนการถือหุ้นระหว่าง ทอท. และเอสเอแอล กรุ๊ป ได้ข้อสรุปแล้ว แต่ปัญหา คือ การดึงสายการบินเข้ามาร่วมถือหุ้น หลังจาก ทอท. ได้สอบถามไปยังสายการบินโลว์คอสต์ที่ให้บริการที่ดอนเมือง อาทิ ไทยแอร์เอเชียและไทยไลอ้อนแอร์ได้ปฏิเสธ เหลือเพียงนกแอร์ที่ยังไม่ตอบรับ ซึ่ง ทอท. ยังรอคำตอบอยู่ แม้มีแนวโน้มว่านกแอร์จะปฏิเสธข้อเสนอเช่นกัน

 

[caption id="attachment_281907" align="aligncenter" width="503"] ©parttimejobth.com ©parttimejobth.com[/caption]

ทั้งนี้ การที่สายการบินต่าง ๆ ไม่ร่วมทุนกับ ทอท. เป็นเพราะ 1.มองว่าจะทำให้สายการบินมีแนวโน้มต้องจ่ายค่าบริการในราคาที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับที่ทุกวันนี้สายการบินมีสิทธิให้บริการภาคพื้นของตัวเอง ซึ่งใช้วิธีจ้างเอาต์ซอร์ซมาดำเนินการแทน และ 2.มองว่าไม่ได้เป็นธุรกิจที่เชี่ยวชาญและไม่คุ้มที่จะต้องเข้ามาลงทุน เช่นเดียวกับหุ้นในส่วนของกองทุนต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ กองทุนประกันสังคมและกองทุนวายุภักษ์ ที่อยู่ระหว่างการเจรจาดึงเข้ามาถือหุ้น โดยคาดหวังว่าจะจัดตั้งบริษัทได้ภายในเดือน ต.ค. นี้ เพื่อนำเสนอ ครม. พิจารณาและอนุมัติงบลงทุนต่อไป

ด้าน นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ฯ เผยว่า นกแอร์ได้รับการทาบทามจาก ทอท. ถึงการร่วมทุนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่า แนวทางดังกล่าวจะเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของสายการบินนกแอร์หรือไม่

 

[caption id="attachment_281911" align="aligncenter" width="335"] ปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ฯ ปิยะ ยอดมณี
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ฯ[/caption]

อย่างไรก็ดี การเปิดให้เอกชนร่วมทุนกับ ทอท. ในส่วนของ บริษัท เอสเอแอล กรุ๊ปฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการหรือเช่าอุปกรณ์ภาคพื้นดิน แก่บริษัทและสายการบินต่าง ๆ ในสนามบินดอนเมือง โดยพบว่า บริษัทนี้เพิ่งมีการจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2560 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท มีนายลือชา การณ์เมือง อดีตเลขาส่วนตัว นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ และผู้คร่ำหวอดในแวดวงนี้ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และมีบริษัท สยามเทค แอนด์ ซัพพลาย จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ทั้งยังพบว่า เอสเอแอล กรุ๊ป ยังเกิดจากการรวมตัวกันของหลายบริษัทที่ผูกขาดการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขนถ่ายสัมภาระ, ลำเลียงกระเป๋าผู้โดยสาร และขนส่งสินค้าทางอากาศอยู่แล้วในสนามบิน อาทิ บริษัท แพนไทย คาร์โก้ เอ็กซ์เพรส จำกัด และบริษัท แอร์เซิร์ฟ จำกัด รวมทั้งยังมีอดีตผู้บริหาร ทอท. เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในนามบุคคลธรรมดาและร่วมเป็นกรรมการบริษัทด้วย ไม่ว่าจะเป็น นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ถือหุ้น 3,330 หุ้น และนายประดิษฐ์ มงคลอภิบาล อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทอท.

 

[caption id="attachment_281912" align="aligncenter" width="503"] ©panthaiair.com ©panthaiair.com[/caption]

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในอดีต ทอท. เคยร่วมลงทุนกับบริษัท ไทยแอร์พอร์ตส์กราวด์ เซอร์วิสเซสฯ หรือ TAGS ให้บริการที่สนามบินก่อนที่จะย้ายไปสุวรรณภูมิ สาเหตุที่รื้อฟื้นตั้งบริษัทร่วมทุนทำกราวด์เซอร์วิสขึ้นมาอีกครั้ง เป็นเพราะต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมระบบการรักษาความปลอดภัยในสนามบิน เนื่องจากหลังย้ายสายการบินต้นทุนต่ำมาให้บริการที่สนามบินดอนเมือง และให้สายการบินทำกราวด์เซอร์วิสของตัวเอง เพื่อจูงใจให้ย้ายกลับมา แต่ในทางปฏิบัติสายการบินใช้วิธีจ้างเอาต์ซอร์ซ ทำให้บางครั้งมีการละเลยขั้นตอนในกระบวนการที่สำคัญบางเรื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เที่ยวบินมีปัญหาล่าช้า

ขณะเดียวกัน ทอท. ยังมองถึงระยะยาวที่จะทำให้ ทอท. สามารถลดความซ้ำซ้อนของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้โดยสารและสร้างโอกาสในการลงทุนให้กับ ทอท. ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในระยะยาว โดยบริษัทร่วมทุนนี้จะนำร่องการให้บริการที่สนามบินดอนเมืองก่อน และจะขยายการให้บริการไปยังสนามบินของ ทอท. ในต่างจังหวัดเป็นอันดับต่อไป


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทอท.ชี้แจงมาตรการตรวจค้นผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบิน
ทอท. ชงบอร์ดไฟเขียว! 7 หมื่นล้าน 2 สนามบินใหม่


e-book-1-503x62-7