อายัด “คริปโต”ได้หรือไม่กรมบังคับคดีลุยศึกษา“ดีอี”แนะกม.ยังไม่เอื้อ

16 พ.ค. 2561 | 12:30 น.
อายัด “คริปโต”ได้หรือไม่กรมบังคับคดีลุยศึกษา“ดีอี”แนะกม.ยังไม่เอื้อ

วันนี้(16พ.ค.) ที่โรงแรมเอสดีอเวนิว เขตบางพลัด กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จัดสัมนาโครงการ “การให้ความรู้รูปแบบของธุรกรรมเงินดิจิทัล” เพื่อให้ความรู้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมบังคับคดี ในเรื่องเกี่ยวกับเงินและทรัพย์ดิจิทัล

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงเหตุผลในการจัดโครงการนี้ว่า หลังจากมีความชัดเจนในแง่ของกฎหมายชัดเจนแล้ว คือเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่19 ) พ.ศ. 2561 รวมทั้งมีการแก้ไขประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยภาคบังคับคดี ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 5 กันยายน 2560 ที่บัญญัติทรัพย์ที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ซึ่งกรมบังคับคดีคิดต่อว่าเงินดิจิทัลหรือทรัพย์ดิจิทัล จะนำมาบังคับคดีได้หรือไม่

kad1

ซึ่งเมื่อวันที่ 1-4 พ.ค. ที่ผ่านมา กรมบังคับคดีเป็นเจ้าภาพประชุมสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ จาก 50 ประเทศทั่วโลกจำนวน 400 คนมาประชุม หนึ่งในหัวข้อนั้นคือเรื่องการพัฒนาทรัพย์ดิจิทัลกับการบังคับคดี พบว่าเจ้าพนักงานระหว่างประเทศยังไม่มีกรณีบังคับคดีเงินดิจิทัลและทรัพย์ดิจิทัล ยังไม่มีประเทศไหนทำการอายัด แต่สิ่งที่ร่วมกันคือต้องศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ดังนั้นกรมฯจึงได้ตั้งคณะทำงานมีบุคคลจากหลากหลายอาชีพ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในกรมอยู่ในคณะทำงาน มีหน้าที่ตั้งโจทย์ศึกษาวิจัย มีการออกร่างขอบเขตของงาน(ทีโออาร์)หาผู้ทำวิจัย มาทำงานวิจัยว่าเงินและทรัพย์ดิจิทัลสามารถบังคับคดีได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยภาคบังคับคดีหรือไม่ คาดว่าจะเห็นผลการศึกษาหรืองานวิจัยภายในกันยายนนี้ สาเหตุที่ต้องรีบทำเพราะธุรกรรมเปลี่ยนรูปแบบอย่างรวดเร็ว

“หากลูกหนี้มีการลงทุนในบิตคอยน์ หรือ คริปโตเคอเรนซี่ แล้วเจ้าหนี้ฟ้องบังคับคดีให้ทำการยึดหรืออายัด ดังนั้นเจ้าพนักงานเราต้องมีความเข้าใจ ถ้าเราบอกว่าอายัดหรือยึดไม่ได้ เราจะมีความเสี่ยงในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เราจึงต้องรู้ว่ายึดหรืออายัดอะไร ทรัพย์หรือเงินดิจิทัล จะตรงตามกฎหมายได้หรือไม่ ต้องตอบให้ได้ว่าเป็นสิ่งที่อายัดได้”นางสาวรื่นวดี กล่าว

kad2

ด้าน นายยรรยง เต็งอำนวย กรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วิทยากรในการสัมมนา กล่าวถึงที่มาของเงินดิจิทัลสกุลเงิน ระบบการทำงาน และการใช้งานเงินดิจิทัลที่นำไปซื้อขายสิ่งของ เก็งกำไร และใช้เป็นเบี้ย(Token) ส่วนเงินและทรัพย์ดิจิทัลสามารถยึดอายัดได้หรือไม่ นายบรรยง กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการดูกฎหมายใหม่ที่ออกมา ระบุว่าเงินดิจิทัลเป็นทรัพย์ ดังนั้นสามารถยึดได้

แต่หากนำไปเทียบเคียงกับวิธีการยึดทรัพย์ที่มีรูปร่าง ยังถือว่ามีปัญหาที่ต้องถกเถียงและยังมีปัญหาในข้อกฎหมาย อย่างเช่น หากเป็นหนี้ 3 แสนบาท แล้วเราก็ไปยึดเขามา 3 บิตคอยน์ หรือตอนนั้นประเมินราคาได้ 3 แสนบาท แต่หากวันหนึ่งมูลค่าบิตคอยน์ขยับเป็น 3 บิตคอยน์ 9 แสนบาท ก็จะเกินมูลหนี้ อาจจะถูกท้วงว่ายึดหรืออายัดทรัพย์เกินมูลหนี้ ก็ต้องมีการจ่ายคืนในส่วนที่ยึดเกิน ดังนั้นเจ้าหนี้ก็มีความเสี่ยงกับความผันผวนของราคาบิตคอยน์

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ส่วนการขายทอดตลาดก็คือการนำไปขึ้นเงินได้หรือไม่ นายบรรยง กล่าวว่า ก็ต้องย้อนถามว่าพระราชกำหนดฯเปิดช่องให้นำเงินดิจิทัลไปขึ้นเงินได้หรือไม่ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็ออกประกาศว่าเงินดิจิทัลไม่ใช่สกุลเงินที่ธปท.ยอมรับ ดังนั้นหากจะขายทอดตลาดแล้วนำไปขึ้นเงินก็ต้องไปทำกันด้วยวิธีนอกระบบ หรือ โอนบิตคอยน์ไปให้เจ้าหนี้ดำเนินการ ให้เขาไปเล่นหรือให้แลกเอาเอง เพราะหากกรมบังคับคดีไปดำเนินการเองก็ต้องไปดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งถามว่ามีระเบียบหรือกฎหมายอะไรรองรับหรือไม่

“ผมคิดว่าบ้านเรายังไม่พร้อมเรื่องการขายทอดตลาด เพราะพระราชกำหนดที่ออกมาเป็นเรื่องการเก็บภาษีอย่างเดียว แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับร้านแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ หากจะทำต้องทำนอกระบบการเงินที่ยังไม่มีการจดทะเบียน ดังนั้นกรมบังคับคดีเราเป็นหน่วยงานราชการ การที่จะโอนบิตคอยน์แล้วไปรับเป็นเงินบาทกลับมายังทำไม่ได้ เพราะราชการมีระเบียบบังคับอยู่”นายบรรยง กล่าว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว