บูมซีบีดี‘มักกะสัน-สุขุมวิท’ปรับมาตรการจูงใจด้านผังเมืองปลุกศูนย์เศรษฐกิจ

19 พ.ค. 2561 | 03:14 น.
 บูมซีบีดี‘มักกะสัน-สุขุมวิท’ปรับมาตรการจูงใจด้านผังเมืองปลุกศูนย์เศรษฐกิจ

พ.ร.บ.อีอีซีเปิดทางโล่งนักวิชาการจุฬาฯ  จี้รัฐเร่งบูมศูนย์เศรษฐกิจมักกะสันเชื่อมสุขุมวิท รัชดาฯ-พระราม9 ก่อนเชื่อมเป็นผืนใหญ่กับราชประสงค์-ประตูนํ้า ด้วยระบบขนส่งมวลชนและสกายวอล์กช็อปปิ้งสตรีต หนุนรัฐเร่งสร้างมาตรการจูงใจด้านผังเมืองเพื่อกระตุ้นเอกชนพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

Manop

รศ.มานพ พงศทัต ศาสตราภิชาน ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตามที่ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาของพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Coorridor :อีอีซี) ไปแล้วนั้นคาดว่าจะเป็นผลบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงควรเร่งพัฒนามักกะสันให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจเชื่อมโยงกับศูนย์เศรษฐกิจสุขุมวิทและรัชดาฯ-พระราม 9 ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนที่จะเชื่อมเป็นผืนใหญ่กับราชประสงค์  ราชปรารภ ประตูนํ้าที่อยู่ในโซนไม่ไกลกันมากนักด้วยระบบขนส่งมวลชนที่ปัจจุบันมีทั้งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ท่าเรือคลองแสนแสบ  รถไฟฟ้า  MRTและบีทีเอสก่อนที่ในอีก 3-4 ปีนี้จะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของกรุงเทพฯและประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

“เปิดทางโล่งแล้วต่อการประกาศพ.ร.บ.อีอีซี ประการสำคัญจุดอโศก-เพชรบุรี  ค่ายอสังหาริมทรัพย์อย่างสิงห์เอสเตทไปบูมพื้นที่รอไว้แล้ว เช่นเดียวกับจุดแยกพระราม9 ของโครงการกลุ่มแกรนด์คาแนล แล้วยังมีอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปบูมพื้นที่ถนนรัชดาภิเษก  อีกทั้งยังจะมีสำนักงานใหญ่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ย้ายไปอยู่ใกล้ๆมักกะสันจึงน่าจะช่วยบูมศูนย์เศรษฐกิจโซนนี้ได้อย่างรวดเร็ว”

นอกจากนั้นตามที่จะเกิด 8 ศูนย์เศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล  ตามที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดรัฐบาลควรเร่งออกกฎเกณฑ์ชี้นำการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกำหนดมาตรการจูงใจทางผังเมืองเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพประกอบกับเมื่อมีโครงการรถไฟฟ้าเกิดขึ้นจึงเกิดเป็นจุดตัดมากกว่า 50 แห่ง นับเป็นโลเกชันที่เกิดขึ้นใหม่เชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยรถไฟฟ้า ประการสำคัญยังมีอีก 3 ศูนย์เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งผลักดัน คือ ศูนย์มักกะสัน ศูนย์บางซื่อ และศูนย์สถานีแม่นํ้าย่านคลองเตย TP12-3366-A

รศ.มานพกล่าวอีกว่า  สำหรับการพัฒนาพื้นที่เมืองชั้นในปัจจุบันจะเพิ่มโบนัสซิสเต็มให้อีก 20-30 เท่าจึงเป็นการเปิดให้เมืองเป็นชุมชนหนาแน่นแนวสูงมากขึ้น มีอาคารสูง 20-30 ชั้นเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ที่เป็นจุดตัดรถไฟฟ้ารูปแบบมิกซ์ยูส มีทั้งที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย การพักผ่อนและช็อปปิ้งกระจายไปสู่พื้นที่ใหม่รอบๆสถานีรถไฟฟ้า ขณะนี้บางพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่ที่จะเห็นต่อไปคือ  มีพื้นที่ที่จะได้รับโบนัสซิสเต็มอีกกว่า 40 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลเมื่อรถไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการครบ 10 สาย

“ในอีก5-6ปีข้างหน้าทำให้เกิดชุมชนใหม่ตามมา เห็นว่าถ้าจะเกิดขึ้นจริงได้จะต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ภาครัฐจะต้องออกกฎเกณฑ์ชี้นำผังเมืองอีก 1 ปีจะเข้าไปปรับปรุงศูนย์เศรษฐกิจเหล่านั้นให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองจะต้องสามารถส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วยกฎหมาย อาทิ จุดไหนมีจุดตัดก็ให้ก่อสร้างได้สูงมากขึ้น นั่นคือ การออกมาตรการจูงใจด้านผังเมืองหรือโบนัสซิสเต็มตามที่จะมีการปรับปรุงผังเมืองใหม่ในปีหน้า”

นอกจากนั้นตามที่ได้นำเสนอให้มีการย้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) จากย่านปทุมวันไปอยู่ที่สโมสรตำรวจถนนวิภาวดีฯซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ส่วนราชการ  เพื่อให้นำพื้นที่ดังกล่าวไปพัฒนาเชิงพาณิชย์กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับการพัฒนาย่านเศรษฐกิจโซนใจกลางเมืองนั้น  แนวทางหนึ่งคือรัฐบาลควรเร่งผลักดันการเปิดพื้นที่ดังกล่าวด้วยรูปแบบวอล์กกิ้งสตรีต ดังเช่นออร์ชาร์ดแหล่งช็อปปิ้งสตรีตชื่อดังของสิงคโปร์และอีกหลายพื้นที่ในเมืองปักกิ่งของจีน

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“จะต้องทำแผนรูปแบบ Plan Unit Development : PUD แล้วรวมเข้าไว้ในผังเมืองรวมเพื่อปรับเปลี่ยนสีผังเมืองและอัตราส่วนของพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน(Floor Area Ratio : FAR) อีกทั้งยังต้องทำมาสเตอร์แพลนการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนี้  พร้อมกับเร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนอย่างโมโนเรลที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีแผนไว้แล้วเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ทั้งหมดให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆได้รวดเร็ว  ง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังสนับสนุนให้ก่อสร้างสกายวอล์กเชื่อมโยงแหล่งช็อปปิ้งสตรีตครอบคลุมพื้นที่บรรทัดทอง ปทุมวัน ราชประสงค์ ชิดลม เพลินจิต  นานา ไปจนถึงพระโขนง และอีกเส้นทางหนึ่งเริ่มจากดินแดง ราชปรารภไปบรรจบสีลม พระราม 4 เพราะนอกจากจะแยกคนออกจากรถชัดเจนแล้วยังเป็นการเปิดพื้นที่การค้าชั้น 2 ชั้น 3 ให้แต่ละอาคารได้อีกรูปแบบหนึ่งด้วย”

e-book-1-503x62