เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ | ความมั่นคงในมนุษย์ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย (ตอนจบ)

16 พ.ค. 2561 | 07:47 น.
160561-1433 07-3366

ความเดิมตอนที่แล้ว :
เศรษฐเสวนา ... จุฬาฯ ทัศนะ | ความมั่นคงในมนุษย์ ... ภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย (ตอน 1)

■ ■ ■ ■

จากฉบับที่แล้วได้พูดถึงความมั่นคงของมนุษย์ในแนวทางที่เน้นที่แนวทางแรก คือ ความมั่นคงของมนุษย์ด้านการมีงานทำและรายได้ ซึ่งมีประเด็นต่อเนื่องในฉบับนี้ ในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังนี้ คือ จากการศึกษาพบประเด็นที่ท้าทายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คือ คุณภาพและทัศนคติของคนรุ่นใหม่ในกำลังแรงงาน ที่มีความเห็นตรงกันว่า คนรุ่นใหม่มักต้องการแสวงหางานที่ให้ค่าตอบแทนสูง แต่ทำงานน้อย ๆ และไม่ได้สนใจมุมอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ความมั่นคงของงาน หรือ การพัฒนาทักษะของตนเอง แรงงานรุ่นใหม่บางส่วนมีความรับผิดชอบค่อนข้างต่ำและไม่ทนต่อการทำงานหนัก ทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนรุ่นเก่า ส่งผลให้การดำเนินงานไม่ราบรื่น

นอกจากนั้น ประเด็นด้านแรงงานที่เห็นพ้องกันทั้ง 4 ภาค คือ ต้องการนโยบายแรงงานที่มุ่งต่อปัญหาท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานในระดับปฏิบัติการ เนื่องจากคนไทยรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำ แต่การจ้างแรงงานต่างด้าวมีความซับซ้อนและใช้เวลามาก บางบริษัทก็เผชิญปัญหาที่แรงงานที่มีทักษะไม่เพียงพอ ทำให้ต้องจัดการรณรงค์เพื่อไปรับแรงงานที่โรงเรียนหรือวิทยาลัยวิชาชีพโดยตรงทั่วประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ประเด็นสำคัญลำดับถัดมา คือ แรงงานแบบรายวันไม่มีการออมที่เพียงพอ สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงในอนาคตของแรงงานกลุ่มดังกล่าว หากไม่มีนโยบายความมั่นคงทางสังคมภาครัฐ สาเหตุที่สำคัญ คือ (1) ความล้มเหลวของค่าจ้างที่ไม่สามารถตามการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพได้ทัน และ (2) การขาดทักษะการจัดการทางการเงินในหมู่แรงงาน การขาดวินัยการออม


tp13-3280-a

ความมั่นคงด้านสุขภาพ
ในฉบับนี้ จะมาพูดคุยถึง ความมั่นคงของมนุษย์ด้านสุขภาพอนามัย ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าก่อน เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขและต่อการเข้ารับบริการสุขภาพของประชาชน

ประเด็นที่ท้าทายต่อโครงการประกันสังคม คือ (1) คุณภาพบริการ เช่น ทัศนคติของผู้ให้บริการที่มีต่อแรงงาน (2) ระยะเวลาที่ต้องรอนานในการเข้ารับการรักษา (3) ผู้รับบริการมีความรู้สึกว่าการรักษาและยาที่ได้รับมีคุณภาพค่อนข้างต่ำ แรงงานหลายคนเห็นว่า การประกันสังคมไม่มีประโยชน์และหากไม่ผิดกฎหมายก็ไม่อยากจ่ายเบี้ยประกันสังคม เนื่องจากมองเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพ โดยไม่ได้ตระหนักถึงผลประโยชน์อื่นในระยะยาวที่ประกันสังคมเป็นรูปแบบการบังคับออมแบบหนึ่ง ในขณะที่ แรงงานในวัยกลางคนและแรงงานอาวุโส ล้วนเห็นว่า ประกันสุขภาพเอกชนแบบกลุ่มเป็นสวัสดิการที่สำคัญของบริษัท มีความเห็นว่า การตั้งเพดาน 15,000 บาท เพื่อการคำนวณเงินบำนาญนั้นไม่เพียงพอ อีกทั้งส่วนใหญ่คิดว่า อยากอมมเงินด้วยตัวเองมากกว่า เนื่องจากคิดว่าการบริหารเงินกองทุนโดยประกันสังคมอาจไม่ได้เป็นการบริหารเพื่อประโยชน์ของสมาชิกเพียงเท่านั้นนั่นเอง


app46805151_m

นอกจากนั้น จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของระบบประกันสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพ การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ พบว่า จากการศึกษาและเปรียบเทียบระบบประกันสังคมในประเทศไทยและของ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยให้ความสำคัญในประเด็นของความคุ้มครองแรงงานที่จะเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตของแรงงาน ตั้งแต่เริ่มทำงานจวบจนเกษียณอายุ เป็นหลัก และควรส่งเสริมให้เกิดความคุ้มครองแก่แรงงานที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยเมื่อเปรียบเทียบสวัสดิการที่แรงงานได้รับจากการเข้าร่วมอยู่ในระบบประกันสังคมตามกฎหมายแรงงานในแต่ละประเทศแล้วนั้น

ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการวางระบบความคุ้มครองที่ค่อนข้างครอบคลุมตลอดช่วงอายุของแรงงานตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณ เป็นรองก็แต่เพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น แต่แม้ว่าความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมจะมีความครบถ้วน ในส่วนของการปฏิบัติจริงนั้น ยังคงมีปัญหาในรายละเอียดอยู่อีกมาก อีกทั้งด้วยลักษณะของตลาดแรงงานที่มีความต้องการแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค และความแตกต่างของระบบรองรับการใช้สิทธิ์ประกันสังคมในแต่ละภูมิภาคเหล่านี้ ส่งผลให้แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศยังคงไม่เห็นความสำคัญของการมีอยู่ของระบบประกันสังคมในประเทศไทย จึงสามารถกล่าวได้ว่า นอกจากการวางระบบเบื้องต้นที่ดีแล้ว กฎหมายประกันสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบรองรับการใช้สิทธิ์ของผู้ประกันตนที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อเอื้อให้ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองตามเป้าประสงค์ของหน่วยงานประกันสังคมอย่างแท้จริง


07-3364

สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ที่อาศัยแหล่งเงินสำหรับระบบจากงบประมาณของภาครัฐ ที่ต้องมั่นคงและเพียงพอที่จะรองรับค่ารักษาพยาบาลที่มีต้นทุนที่สูงขึ้นทุกปี การเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุของประเทศ ย่อมเป็นประเด็นสำคัญต่อความคงอยู่ของระบบต่อความมั่นคงของมนุษย์นั่นเอง หากไม่มีการปฏิรูประบบการเงินและการคลังของระบบบริการสุขภาพแล้ว ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อความคงอยู่ของระบบบริการ ทั้งด้านคุณภาพและด้านปริมาณการบริการ และไม่ว่าจะเป็นด้านการดูและรับผิดชอบตนเองก่อนพึ่งพาระบบภาครัฐ การเข้าใจความรอบรู้ทางสุขภาพของประชาชน ระบบการจ่ายเงินประสิทธิภาพของระบบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เป็นต้น

สำหรับปัญหาสังคมผู้สูงอายุหรือสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว ทั้งรูปแบบเป็นทางการและรูปแบบการดูแลที่บ้าน พบว่า ครอบครัวยึดรูปแบบการดูแลที่บ้านเป็นหลัก แต่ด้วยภาวะทางเศรษฐกิจ รูปแบบครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลง ทำให้มีการแสวงหารูปแบบการดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในระยะยาวโดยชุมชน พบว่า การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพานั้น ยังมีข้อจำกัดมาก ทั้งบริการสุขภาพและสังคม บทบาทการดูแลหลักยังเป็นครอบครัว แม้ปัจจุบัน จะมีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการดูแลทั่วไปและขาดหน่วยงานสนับสนุนอาสาสมัคร การบริการยังอยู่ลักษณะแยกส่วน ขาดการบูรณาการระหว่างเครือข่าย การดูแลผู้สูงอายุและผู้ดูแลที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การดูแลผู้สูงวัยที่บ้านควรได้รับการสนับสนุนบริการจากชุมชนในรูปแบบที่ครอบคลุมและสามารถจ่ายได้ หน่วยบริการต้องมีคุณภาพที่เพียงพอ มีประเด็นมากมายที่ไม่สามารถระบุได้ทั้งหมด


app32329977_s-1

เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ผลจากการพึ่งพาระบบภาครัฐมากเกินไปอันเกิดจากระบบอุปภัมภ์ โดยรัฐนั้นจะทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนอ่อนแอ หากไม่มีการจัดการที่ดีนั่นเอง ดังนั้น เราต้องเริ่มรักษาวินัยการออมตั้งแต่เด็ก การพัฒนาตนเอง ความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และส่วนรวมม เพื่อความมั่นคงในมนุษย์ระยะยาว


……………….
คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย ศ.ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ ศาสตราภิชาน เงินทุนคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำบางเวลาของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,366 วันที่ 17-19 พ.ค. 2561 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เศรษฐเสวนา ... จุฬาฯ ทัศนะ | ความมั่นคงในมนุษย์ ... ภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย (ตอน 1)
เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ | เศรษฐศาสตร์ใน 'ร้านกาแฟ'


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว