โลจิสติกส์รุ่ง!! 'บิ๊กเนม' รุมชิงเค้ก 3 หมื่นล้าน

15 พ.ค. 2561 | 15:01 น.
63+6265 ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จนมูลค่าใกล้แตะ 3 หมื่นล้านบาท อีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับโอกาสอย่างมหาศาลและมีการเติบโตต่อเนื่องตามมาก็คือธุรกิจโลจิสติกส์ในรูปแบบธุรกิจไปรษณียภัณฑ์และรับส่งสินค้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานมูลค่าธุรกิจในปี 2560 อยู่ที่ 28,800-29,400 ล้านบาท ขยายตัว 5.8-8.1% จากปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่า 27,200 ล้านบาท และจากการขยายตัวอย่างโดดเด่นของธุรกิจ E-Commerce คาดว่าธุรกิจไปรษณียภัณฑ์และรับส่งสินค้า น่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้อีกแน่นอน
ภาพประกอบ-5-3 บิ๊กโลจิสติกส์ เร่งขยายการลงทุน
การเติบโตด้วยตัวเลขมหาศาลขนาดนี้ ทำให้ผู้เล่นเก่าและใหม่ ทั้งบริษัทไทย และบริษัทร่วมทุนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์การแข่งขันธุรกิจขนส่งพัสดุในไทยรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขา เพิ่มจุดให้บริการ การจับมือกับเชนร้านค้าสะดวกซื้อ เร่งสร้างความแข็งแกร่งทางเน็ตเวิร์ค รวมถึงการทำโปรโมชั่นค่าบริการ และการสื่อสารการตลาด

แต่หากดูกันจริงๆ ในสนามการแข่งขันนี้ จะมีผู้เล่นรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่เพียงไม่ถึง 10 ราย อาทิ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท), บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, ลาล่ามูฟ ประเทศไทย, LINE Man ที่หันมาให้บริการส่งสินค้าทั้งแบบด่วน และแบบ same day delivery
ภาพประกอบข่าว (2) “ไปรษณีย์ไทย” ในฐานะพี่ใหญ่ ยังครองตำแหน่งผู้นำในตลาดขนส่ง E-Commerce ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 55% และถ้าแบ่งสัดส่วนเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด ไปรษณีย์ไทยมีส่วนแบ่งการมากถึง 70% ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑล มีส่วนแบ่งการตลาด 40% ผลประกอบการล่าสุด ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 4,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2559 ที่ทำได้ 3,500 ล้านบาท ส่วนปีนี้ ตั้งเป้ากำไรสุทธิ 4,400 – 4,500 ล้านบาท ขณะที่ตั้งเป้ารายได้เติบโต 18% จากเครือข่ายให้บริการที่ทำการไปรษณีย์ไทย ที่ไปรษณีย์ไทยดำเนินการเองมีกว่า 1,600 แห่ง และที่ทำการไปรษณีย์เอกชนอนุญาตอีกกว่า 3,000 แห่ง รวมแล้วกว่า 5,000 แห่งที่กระจายทั่วประเทศ
ภาพประกอบ (3) ล่าสุด ไปรษณีย์ไทย ทุ่ม160 ล้านบาท เพิ่มรถนำจ่าย ลดปริมาณสิ่งของเสียหายระหว่างนำส่งลูกค้า โดยนางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย กล่าวว่า ปีนี้ไปรษณีย์ไทยเพิ่มจำนวนรถยนต์ในการนำจ่ายจำนวนกว่า 200 คันทั่วประเทศ มูลค่ากว่า 160 ล้านบาท เพื่อรองรับกับปริมาณงานการนำส่งมากกว่า 8 ล้านชิ้นต่อวัน และช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถนำจ่ายสิ่งของขนาดใหญ่ได้รวดเร็วตามมาตรฐาน พร้อมป้องกันสิ่งของเสียหายจากการวางทับซ้อน และภายในปีนี้จะเพิ่มรถนำจ่ายอีกกว่า 600 คัน คันละ 8 แสนบาทเพื่อกระจายการรับส่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งขยายเวลาให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยตั้งเป้าเริ่มต้น 10 สาขา อาทิ สาขาตลาด 4 มุมเมือง ซึ่งขณะนี้จุดบริการไปรษณีย์ สาขาเดอะสตรีทเปิดบริการถึงเวลา 24.00น.และศูนย์ไปรษณีย์ EMS ของไปรษณีย์ไทย ถนนแจ้งวัฒนะ เปิดให้บริการถึง 23.00 น.
S__6471690 Kerry ทุ่มงบ1.8พันล้านขยายธุรกิจ
"อเล็กซ์ อึ้ง" ผู้อำนวยการบริหารสายงานธุรกิจรับ-ส่งพัสดุ บริษัทเคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือ เคอรี่ โลจิสติกส์ เน็ทเวิร์ค เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เคอรี่เติบโตเป็น 2 เท่ามาตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่มีพนักงานเพียง 200 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า 7,000 คน และปีนี้ยังมีแผนรับคนเพิ่มอีก 7,000 คน S__6471693 ส่วนในแง่ของการลงทุน เคอรี่ เอ็กเพรส ขยายการลงทุนในไทยต่อเนื่องปีละมากกว่า 1 พันล้านบาท และล่าสุดในปีนี้ ใช้งบลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท โดยมีแผนเพิ่มจำนวนยานพาหนะที่ให้บริการ แบงคอก เซมเดย์ หรือบริการจัดส่งพัสดุเร่งด่วนภายใน 1 วัน ขึ้นเป็นสองเท่า และ ขยายจุดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 5,500 สาขาในปัจจุบัน เพื่อให้บริการที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ให้มากขึ้น โดยปัจจุบันเคอรี่ ครองส่วนแบ่งตลาดการจัดส่งพัสดุมากกว่า 40%
S__6471691 ปัจจุบัน เคอรี่ เอ็กซ์เพรส มีจศูนย์กระจายสินค้ากว่า 600 แห่ง ทั่วทุกจังหวัด ล่าสุด เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ได้สร้างศูนย์คัดแยกสินค้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง รวมไปถึงการขยายเฟสสองของศูนย์คัดแยกสินค้าบางนา กม.19 ที่ตั้งอยู่บนถนน บางนาตราด ซึ่งจะทำให้พื้นที่ใช้สอยรวมมีขนาดมากกว่า 36,000 ตารางเมตร โดยพื้นที่ในส่วนนี้ยังสามารถขยายเพิ่มเติมได้อีกกว่า 40,000 ตารางเมตร

เอสซีจีเอ็กซ์เพรส ร่วมชิงตลาด
ผู้เล่นรายใหญ่อีกรายหนึ่ง คือ เอสซีจี นายนิธิ ภัทรโชค ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-ตลาดในประเทศ บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) ได้ให้ข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีแผนผลักดันบริการโลจิสติกส์ ทั้งแบบวัน สต๊อปเซอร์วิส การสร้างเครือข่ายขนส่งสืนค้าคลังสินค้า ทั้งทางบกและทางน้ำ รวมถึงการขยายพื้นที่ให้บริการให้ครบคลุมทั่วประเทศ และมีแผนขยายธุรกิจไปยัง เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และจีน
S__6471688 โดยจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นติดตามสถานะสินค้าได้แบบเรียลไทม์ ที่ผ่านมาเอสซีจี ซีเมนต์ ยังได้จับมือกับบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดจุดให้บริการที่ FIT Auto ทำให้ศูนย์บริการเอสซีจี เอ็กซ์เพรสเดิม 30 สาขา มาจุดกระจายพัสดุและจุดบริการตัวแทนรับพัสดุเอสซีจีเอ็กซ์เพรส อีกกว่า 500 แห่ง ครอบคลุม 40 จังหวัด

ผู้บริหาร เอสซีจี ซีเมนต์ มั่นใจว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับเอสซีจีในอนาคต เพราะเอสซีจีมีบริการขนส่งที่ครอบคลุม โดย เอสซีจี โลจิสติกส์ให้บริการโลจิสติกส์แบบ B2B ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการมาอย่างยาวนาน และ เอสซีจี เอ็กซ์เพรส ให้บริการโลจิสติกส์แบบ B2C และ C2C ที่ร่วมมือกับ Yamato Asia หรือขนส่งแมวดำ ธุรกิจใหม่ที่เปิดให้บริการไปเมื่อต้นปี 2560
S__6471689 สำหรับ Sea (ประเทศไทย) ผู้บริหารธุรกิจเกมออนไลน์ Garena ธุรกิจเพย์เมนต์ ในนามของ Airpay และ ร้านค้าออนไลน์ Shopee เป็นอีกค่ายหนึ่งที่ให้ความสนใจธุรกิจโลจิสติกส์ และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ เพราะตลาดมีทั้งผู้เล่นรายเล็กและรายใหญ่แข่งขันกันอย่างดุเดือด

ผู้นำตลาดในธุรกิจโลจิสติกส์ส่วนใหญ่มองว่า แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ยังขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่ตลาดอีคอมเมิร์ซกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการหน้าใหม่ โดยเฉพาะเหล่าสตาร์ทอัพให้ความสนใจในธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันที่ดี ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนา เสริมให้ประสิทธิภาพการจัดส่งรวดเร็วและสะดวกสบายยิ่งขึ้น

.........................
รายงานโลจิสติกส์รุ่ง 'บิ๊กเนม' รุมชิงเค้ก 3 หมื่นล้าน | โดย...พัฐกานต์ เชียงน้อย |หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ |
e-book-1-503x62