10 กลุ่ม ชิง 'มาบตาพุด 3' ... ไทย-จีน-ญี่ปุ่น ลงขันร่วมลงทุนกว่า 7 หมื่นล้าน

15 พ.ค. 2561 | 08:54 น.
150561-1543 201509041211131927108978

ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 เดินหน้าออกทีโออาร์ ส.ค. นี้ รับฟังความเห็นเจาะกลุ่มนักลงทุนอีกครั้ง มิ.ย. ให้เลือกรูปแบบการลงทุน มีทั้งแบบร่วมทุนกับ กนอ. หรือ เอกชนลงทุนเองทั้งหมด เบื้องต้น มี 10 กลุ่มทุน ทั้งไทย จีน และญี่ปุ่น จับมือลุยประมูลโครงการกว่า 7 หมื่นล้านบาท

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วน ที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พยายามที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยล่าสุด ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2561 ได้มีการจัดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนและผู้มีส่วนร่วม หรือ มาร์เก็ตซาวดิ้ง เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการตามแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบการบริหารธุรกิจ หรือ พีพีพี ไปแล้ว โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนกว่า 70 บริษัท ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มธุรกิจท่าเรือของเหลว สถาบันการเงิน กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง เป็นต้น


1426

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน มิ.ย. นี้ ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเน้นไปที่แต่ละกลุ่มอีกครั้ง ซึ่งจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา พบว่า มีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาประมูลไม่ต่ำกว่า 10 ราย โดยส่วนใหญ่มาในรูปแบบจับมือร่วมกันระหว่างนักลงทุนไทยจับมือกับนักลงทุนต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เป็นเพียงการชี้แจงในรายละเอียดของโครงการ โดยนักลงทุนมีความสนใจเข้าร่วมลงทุน ทั้งในรูปแบบที่ 1 กนอ. เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชนลงทุนการก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเล กับรูปแบบที่ 2 เอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเลทั้งหมด


GP-3365_180515_0010

นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จะนำข้อมูลจากการรับฟังความเห็นนี้ไปปรับปรุง เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการออกทีโออาร์ประมูล ที่คาดว่าจะประกาศได้ในเดือน ส.ค. โดยรูปแบบการร่วมทุนนั้น ต้องเป็นรูปแบบที่มีผลตอบแทนทางการเงินที่เหมาะสม ทั้ง กนอ. และภาคเอกชน ไม่เกิดภาระทางการคลัง หรือ เกินความสามารถในการลงทุนของภาคเอกชน และมีผลตอบแทนทางการเงินที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะใช้รูปแบบใด ต้องรอให้การรับฟังความเห็นจากนักลงทุนเสร็จสิ้นก่อน กนอ. ถึงจะนำมาพิจารณา และจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องและสามารถตอบสนองแรงจูงใจของภาคเอกชนในการลงทุน และจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานนั้น มีแนวทางที่จะให้เอกชนรับผิดชอบการก่อสร้างและโอนทรัพย์สินให้แก่รัฐทันที เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ และรับสิทธิการบริหารโครงการ (BTO)


k3

สำหรับเงินลงทุนของโครงการบนพื้นที่การพัฒนา 1 พันไร่ ที่ประเมินไว้เบื้องต้น จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขื่อนหินกันทราย ความยาว 5,410 เมตร, เขื่อนกันคลื่น ความยาว 1,627 เมตร, พื้นที่หลังท่าเป็นบ่อเก็บตะกอนดินจากการขุดลอก และพื้นที่พัฒนาเป็นท่าเรือ จำนวน 550 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวม 2,229 เมตร จะมีมูลค่ารวมประมาณ 1.29 หมื่นล้านบาท ขณะที่ การก่อสร้างท่าเรือบนพื้นที่ถมทะเลประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลว มีขนาดพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร จำนวน 2 ท่า ท่าเทียบเรือก๊าซ ขนาดพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร มีจำนวน 3 ท่า และพัฒนาพื้นที่ให้เช่า 150 ไร่ ในการทำคลังสินค้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติมี เพื่อรองรับสินค้ากลุ่มน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลว รวมเม็ดเงินทั้งโครงการไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,365 วันที่ 13-16 พ.ค. 2561 หน้า 01+11

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทุนใหญ่ลง‘มาบตาพุด3’ กลุ่มปตท.เครือกัลฟ์นำทัพ ผุดท่าเรือและคลังแอลเอ็นจี
ชิง‘มาบตาพุด เฟส3’เดือด นักลงทุนต่างชาติ 130 รายเล็งเข้าร่วมประมูลพีพีพี


e-book-1-503x62