กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.70-32.10 บ.ต่อดอลลาร์ จับตาท่าที กนง.

14 พ.ค. 2561 | 09:57 น.
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.70-32.10 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.86 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 4.6 พันล้านบาท และ 3.9 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่องเทียบกับเงินยูโรและเยนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ยังปรับตัวสูงขึ้น แม้ความวิตกเกี่ยวกับความปั่นป่วนทางการเมืองในอิตาลีได้กดดันค่าเงินยูโรเช่นกัน อย่างไรก็ดี ข้อมูลเงินเฟ้อเดือนเมษายนของสหรัฐฯ ที่ต่ำกว่าคาด กระตุ้นให้มีแรงเทขายดอลลาร์เพื่อทำกำไรในช่วงท้ายสัปดาห์ ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50%
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ปัจจัยชี้นำหลักจะมาจากรายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก หลังสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างประเทศกับอิหร่านและจะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่กับอิหร่าน นักลงทุนจะเฝ้าจับตาปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในระยะต่อไป ส่วนกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยเริ่มมีสัญญาณชะลอลงบ้าง ค่าเงินดอลลาร์จึงมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะพักฐานหลังจากปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างเร็ว ขณะที่ค่าเงินริงกิตมาเลเซียเปิดตลาดร่วงลงเกือบ 1% หลังปิดทำการสองวันเนื่องในวันหยุดพิเศษ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านที่นำโดยนายมหาธีร์ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างพลิกความคาดหมาย โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระบุว่ากำลังเฝ้าติดตามความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมาตรการเชิงนโยบายหลายส่วนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของสถานะทางการคลังของมาเลเซีย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 16 พฤษภาคม ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มฟื้นตัวแต่การเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัว ขณะที่ตลาดจะให้ความสนใจกับการประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงิน รวมถึงรายละเอียดการตัดสินใจของผู้ดำเนินนโยบาย หลังการประชุมรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม กนง.ลงมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ด้วยเสียง 6-1 โดยมีกรรมการหนึ่งรายเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การสื่อสารกับตลาดในครั้งนี้จึงเป็นที่จับตามองเป็นพิเศษ โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6