'ลาซาด้า' เขี่ยทิ้ง! ร้านผิดกฎหมาย

14 พ.ค. 2561 | 10:35 น.
140561-1643 560000008155703

'เอ็ตด้า' เผย ปริมาณสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ดิจิตอลพุ่ง ขณะที่ สถิติเรื่องร้องเรียน 4 เดือนแรก มีแค่ 9 กรณี ด้าน 'ลาซาด้า' ยัน! ผิดกฎหมายตัดออกจากระบบทันที

ออนไลน์ถือเป็นช่องทางขายสินค้าปลอมและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียมีการค้าขายกันอย่างโจ่งแจ้ง สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจ ทั้งเจ้าของแบรนด์ และไม่มีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย

 

[caption id="attachment_280949" align="aligncenter" width="354"] สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า สุรางคณา วายุภาพ
ผู้อำนวยการ สำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า[/caption]

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การละเมิดลิขสิทธิ์สินค้ายังมีมากขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากมีกลุ่มผู้ซื้อ อย่างไรก็ตาม ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณสินค้าปลอมและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ มองว่าแนวทางการป้องกันที่ดี คือ การสร้างกลไกกำกับดูแลกันเองและการสร้างดัชนีสินค้าต่าง ๆ ขึ้นมา อาทิ สินค้าที่ได้รับการรับรอง อย. หรือ สินค้าลิขสิทธิ์

ส่วนการละเมิดสิทธิ์ดิจิตอลนั้น มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามรูปแบบโมเดลการสร้างรายได้ของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่เปลี่ยนไป โดยเจ้าของลิขสิทธิ์เปิดให้มีคนก๊อบปี้ไปเผยแพร่และให้คนติดตามมากที่สุด เพื่อสร้างรายได้จากการขายโฆษณา

 

[caption id="attachment_280950" align="aligncenter" width="503"] ©ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC ©ข้อมูลข่าวสาร 1212 OCC[/caption]

อนึ่งข้อมูลสถิติศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ระบุว่า ระหว่างเดือน ม.ค. - เม.ย. 61 มีการร้องเรียนปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามา 9 กรณี ขณะที่ ระหว่างเดือน ม.ค. - ธ.ค. 60 มีตัวเลขการร้องเรียนปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามา 50 กรณี

แหล่งข่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ ว่า ในปีที่ผ่านมา จับได้กว่า 100 คดี ส่วนช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.) จับได้ 17 คดี ส่วนใหญ่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ดูฟุตบอล ดูภาพยนตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้ละเมิดมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในประเทศ เจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์สามารถติดตามสืบค้นได้ ซึ่งหากสืบพบว่า มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ที่ใดสามารถขอหมายศาลรื้อค้นได้ แต่ยอมรับว่า ได้ของกลางน้อยและจับยาก แต่หากผู้ละเมิดมีเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ สามารถติดตามและจับกุมได้ยาก


Lazada-Logo

ด้าน น.ส.ธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า จำกัด กล่าวว่า ลาซาด้าเป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมดิจิตอล โดยเปิดโอกาสให้ผู้ค้าชาวไทยที่ประกอบธุรกิจทุกขนาดมีพื้นที่ในการขายสินค้าได้อย่างถูกต้องและง่ายสะดวกรวดเร็ว โดยสามารถลงทะเบียนออนไลน์เพื่อเปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มของลาซาด้า พร้อมยื่นเอกสารรองรับการจดทะเบียนบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายก็สามารถเปิดร้านค้าได้แล้ว

ทั้งนี้ ลาซาด้ามีนโยบายที่จะสนับสนุนการจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์เท่านั้น หากพบร้านค้าที่ขายสินค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทางลาซาด้าจะดำเนินการตามนโยบายและนำผู้ค้านั้นออกจากระบบทันที


e-commerce-concept_23-2147513189

"สินค้าปลอมหรือลอกเลียนแบบ จะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ที่เป็นพรีเมียม แมส มากกว่า เพราะผู้บริโภคในระดับแมสก็อยากใช้สินค้าแบรนด์เนม แต่เมื่อไม่มีกำลังซื้อก็เลือกใช้ของเลียนแบบ แต่หากเป็นสินค้าลักชัวรีจะได้รับผลกระทบจากสินค้าหิ้วมากกว่าสินค้าเลียนแบบ เพราะผู้ที่นิยมสินค้าหิ้ว ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง"

อย่างไรก็ดี แนวทางแก้ไข คือ ภาครัฐควรส่งเสริมและจัดให้มีการดำเนินธุรกิจบนเว็บไซต์อย่างถูกวิธี และหากภาครัฐยังไม่มีความพร้อม ก็สามารถให้คนกลางที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ เช่น อาลีบาบา ที่ใช้ระบบการชำระเงินผ่านอาลีเพย์ ทำให้สามารถตรวจสอบการจัดส่ง การรับสินค้าและการชำระเงินได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสินค้าปลอมได้


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,365 วันที่ 13-16 พ.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ลาซาด้าเปิดตัว‘วอลเล็ต’ รับกระแสช็อปปิ้งผ่านโมบาย-เพิ่มความสะดวกปลอดภัย
ฟาสต์ฟิตบุกออนไลน์ ปตท.-MMS เปิดแพ็กเกจบริการผ่านลาซาด้า


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว