“สมเกียรติ” ชี้ เมืองไทยวางเเผนด้านเทคโนฯไม่ชัด “กังวลทำให้ประเทศล้าหลัง กระทบเศรษฐกิจวงกว้าง”

14 พ.ค. 2561 | 11:09 น.
- 14 พ.ค. 61 - นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2561 โดยทีดีอาร์ไอ เรื่อง “ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” ว่า ขณะนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยถือว่ายังเติบโตต่ำ และไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะส่งผลให้การเติบโตในอนาคตยิ่งต่ำลงอีก อีกทั้งทั่วโลกกำลังถูกเทคโนโลยีดิจิทัลป่วน โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ ( A.I.) และออโตเมชั่นที่กำลังพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด จนมีความสามารถทัดเทียมหรือเกินกว่ามนุษย์ในหลายด้าน

นายสมเกียรติกล่าวว่า “ธุรกิจและประเทศที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้จึงมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง รัฐบาลประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ได้กำหนดยุทธศาสตร์และลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี A.I. ในขณะที่ไทยยังไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล หากไทยยังไม่มีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จะส่งผลให้การลงทุนต่างๆ ที่เคยมีฐานการผลิตอยู่ในไทย อาจถูกย้ายไปยังที่อื่นที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีมากกว่า” kapook_world-773890

นายสมเกียรติกล่าวว่า ภาคธุรกิจขณะนี้เริ่มมีการปรับตัวแล้วสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอาจจะยังปรับตัวน้อยอยู่ ภาครัฐจึงต้องเข้ามาช่วยกำกับดูแล ทีดีอาร์ไอมองว่า นโยบายภาครัฐโดยเฉพาะไทยแลนด์ 4.0 นั้น มีการกำหนดเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาประเทศก็จริง แต่ยังมีหลายเรื่องที่ยังคิดไม่รอบด้านพอ เช่น นำเอา A.I. และหุ่นยนต์มาใช้ในวงกว้าง และการวางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ที่ถูดทดแทนด้วยหุ่นยนต์ได้ยาก คือเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์มากขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยผลักดันความสามารถของคนไทยไปอีกขั้น เพื่อป้องกันการตกงานของแรงงานในอนาคต

“อีกส่วนคือการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ไม่เป็นตัวกั้นขวางการเติบโตของเทคโนโลยีด้วย ซึ่งหากไทยปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้ก็จะก้าวทันโลกและเติบโตได้ในอนาคต แต่ถ้าหากยังไม่ปรับตัวจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจล้าหลังมากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่วางนโยบายชัดเจน” นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนผลงานของรัฐบาลและคสช. ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีทั้งด้านดีและด้านที่ควรจะปรับปรุง ด้านดี คือ รัฐบาล เเละคสช. สามารถแก้ไขปัญหาเก่าๆ ที่ค้างคาให้ดีขึ้นได้ เช่น จ่ายเงินโครงการจำนำข้าว การปลดล็อคไอเคโอ เป็นต้น แต่ด้านที่อาจจะได้ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้า คือ นโยบายด้านเศรษฐกิจ    ไทยแลนด์ 4.0 และพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งช่วงแรกกลับไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่เกิดผลในวงกว้าง จนสุดท้ายรัฐบาลนำ 2 โครงการนี้มาผสมกันเป็นการผลักดัน 10 อุตสาหกรรม S-curve ในพื้นที่ EEC จึงทำให้พอจะเห็นแนวทางเด่นชัดขึ้น แต่อาจจะยังไวไปที่จะประเมินว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ PNECO610106001000301_06012018_080729

“ซึ่งขณะนี้พอจะเห็นผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศ เช่น อาลีบาบา และโบอิ้ง สนใจมาลงทุนบ้างแล้ว แต่ไทยกลับตักตวงผลประโยชน์จากการลงทุนเหล่านี้ได้น้อย เนื่องจากทักษะแรงงานไทยยังไม่พร้อม จึงต้องมีการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้กลายเป็นแรงงานฝีมือสูงพร้อมรองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต และนอกจากโครงการอุตสาหกรรม S-curve แล้ว รัฐบาลควรจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น เพื่อมาสร้างแรงขับเคลื่อนให้กลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ในการนำพาเศรษฐกิจของไทยไปสู่ประเทศรายได้สูงตามเป้า” นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวว่า แม้ส่วนตัวจะมองว่าอาจช้าไป หากรัฐบาลจะมากระตุ้นและปรับแก้แผนพัฒนาเศรษฐกิจด้านดิจิทัลให้มีความชัดเจนขึ้นในตอนนี้ แต่ช้าก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะถ้าหากยังคงใช้แผนที่มีนโยบายไม่ชัดเจนต่อไป จะส่งผลให้ไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ แม้แต่ในภูมิภาคเดียวกันก็ตาม